เผยกลยุทธ์การตลาดพิชิตลูกค้า CLMV

บนเวทีสัมมนา “กลยุทธ์การตลาดพิชิตผู้บริโภค CLMV ให้ตรงจุด” ในงาน SCB SME Expo Spring Up Thailand สันติพงศ์ พิมลแสงสุริยา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทฮาวาสริเวอร์ออคิด ที่ปรึกษาและผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารการตลาดในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจในกลุ่ม CLMV โดยมองว่า กลุ่มผู้บริโภค CLMV เป็นตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทย 

  • มีประชากรรวมราว 160 ล้านคน หรือมากกว่าประชากรในประเทศไทยกว่า 2 เท่าตัว
  • ประชากรมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าไทยมาก คือประมาณ 20 – 25 ปี ขณะที่ไทยเฉลี่ย 34 ปี
  • มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 6-8% ต่อปี

โอกาสของไทยอยู่ตรงไหน

เมื่อมองด้านการพัฒนา ประเทศไทยนำหน้ากลุ่ม CLMV ในหลายด้าน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งเพิ่งเปิดประเทศจริงได้ไม่นาน ส่วนเวียดนามนั้นเปิดประเทศก่อนแล้วเกือบ 20 ปี หากโฟกัสที่ CLM ถือว่าประเทศไทยได้เปรียบประเทศในกลุ่ม AEC อื่น ๆ อยู่มาก

  • เนื่องจากมีชายแดนติดกัน และมีความคล้ายคลึงกันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่นสิงคโปร์หรือบรูไน
  • ต้นทุนทางการขนส่งหรือโลจิสติกส์ก็ต่ำกว่าเพราะอยู่ใกล้กัน
  • จากการสำรวจความนิยมในสินค้าและบริการจากไทยยังพบว่าได้รับการยอมรับสูงกว่าจากฝั่งอเมริกา ยุโรป หรือประเทศในเอเชียอื่น ๆ อีกด้วย

5  ข้อต้องทำในการลงทุน CLMV

สำหรับข้อเสนอแนะในการเปิดตลาด CLMV

  1. ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับความแตกต่างจากการทำธุรกิจในไทย
  2. ต้องมี Passion หรือความอยากที่จะทำอย่างจริงจัง มองปัญหาให้เป็นความท้าทาย
  3. ต้องรีบลงมือดำเนินการ
  4. เรื่องเงินอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะต้นทุนในการทำตลาด CLMV ยังไม่สูงมาก
  5. ต้องรู้เขารู้เรา ต้องมีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึก เพราะในความเหมือนก็มีความแตกต่าง

เปิดพฤติกรรมใช้โซเชียลมีเดียต่างกัน

ยกตัวอย่างในเรื่องของการใช้สื่อออนไลน์ ประเทศไทยเราเองส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่ LINE และ Facebook ส่วนที่ลาวนั้นใช้ WeChat เป็นส่วนใหญ่ เพราะได้รับอิทธิพลจากจีนที่เข้ามาทำโครงการรถไฟความเร็วสูง

ส่วนพม่าจะใช้ Viber เป็นหลัก เป็นประเทศที่ทาง Viber เองให้ความสำคัญอย่างสูงเพราะมีผู้ใช้เป็นอันดับสองของโลก อีกทั้งยังใช้ Smartphone มากกว่า Feature Phone

สำหรับกัมพูชา Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นแทบทุกอย่าง รวมถึงเป็นแหล่งค้นหาข้อมูล ซึ่งผู้ประกอบการอาจไม่มีการเปิดเว็บไซต์ แต่ต้องมี Facebook Fan Page

ส่วนที่เวียดนาม ใช้หลายแพลตฟอร์ม ทั้ง Facebook, Facebook Messenger รวมถึง Zalo ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นแชตของเวียดนามเอง

3 ธุรกิจน่าทำกัมพูชา-ลาว-พม่า

ส่วน 3 ธุรกิจที่มีโอกาสสูงและเป็นที่ต้องการอย่างมากใน CLMV โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และพม่า ได้แก่

อันดับ 1 ธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น การออกแบบ วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างอาคาร หรือ Community Mall เนื่องจากมีความต้องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับการเปิดประเทศ

อันดับ 2 ได้แก่ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะเมื่อเปิดประเทศแล้วคนของเขาก็อยากเห็นโลกภายนอก ธุรกิจที่มีโอกาสอย่างมากก็เช่นบริษัทที่ให้บริการด้านท่องเที่ยวในและต่างประเทศ รับจองตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ

อันดับ 3 คือธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods) หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า เพราะแม้จะมีฐานการผลิตในประเทศแต่ส่วนใหญ่เน้นผลิตเพื่อส่งออก

3 ธุรกิจน่าทำในเวียดนาม

สำหรับประเทศ เวียดนาม ธุรกิจที่ต้องการมาก

อันดับ 1 คือสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์ สินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ

อันดับ 2 คือสินค้าด้านสุขภาพ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ฟิตเนส

อันดับ 3 คือธุรกิจด้านการศึกษา เช่น โรงเรียนสอนภาษา ศิลปะ ดนตรี หรือทริปการศึกษาต่างประเทศ

นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรทราบเรื่องของระบบการเงินและการซื้อขายของแต่ละประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป เช่นที่พม่ามีข้อจำกัดเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ และใช้สกุลเงินของพม่าเองเป็นหลัก หรือเวียดนามที่ใช้เงินดองเท่านั้น เป็นต้น