พิชิตการตลาดผ่านปรากฏการณ์ “โปเกมอน โก” ฟีเวอร์

กำลังเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ร้อนแรงเพียงชั่วข้ามคืน สำหรับกระแสเกม Pokemon Go ที่กำลังสร้างกระแสความนิยมไปทั่วโลก ทุบสถิติเกมและแอปพลิเคชันไปแบบถล่มทลาย แนะแบรนด์ดึงลูกค้าเข้าร้านผ่านโปเกมอน เกม

1_pokemon

Pokemon Go เป็นเกมบนมือถือในรูปแบบของเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ผสมกับ Location Based เกิดขึ้นโดย 3 ผู้สร้างด้วยกัน ได้แก่ The Pokémon Company เจ้าของลิขสิทธิ์โปเกมอน, Nintendo บริษัทวิดีโอเกม และ Niantic ผู้พัฒนาเกมที่มี Google เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนหน้านี้เคยโด่งดังกับเกม Ingress ที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน

วิธีการเล่นก็คือ ผู้เล่นจะเป็นเหมือนเทรนเนอร์ในการตามล่าหาโปเกมอน จะต้องเดินตามหาในสถานที่ต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะมีโปเกมอนซ่อนอยู่ และจะมีตามสถานที่สำคัญๆ ด้วย

3_pokemon

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสร้อนแรงได้ดีที่สุดก็คือ Pokémon Go ได้ทุบสถิติแอปพลิเคชันต่างๆ ด้วยยอดการดาวน์โหลดกว่า 10 ล้านครั้ง ภายในหนึ่งสัปดาห์ที่เปิดตัว และตัวเลขนี้ยังแซงหน้าผู้ใช้งานที่เป็นแอ็กทีฟยูสเซอร์ของทวิตเตอร์อีกด้วยซ้ำ และยังใช้เวลาเฉลี่ยมากกว่าโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก สแนปแชท อินสตาแกรม และวอตส์แอป

และในวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา Pokemon Go ได้กลายเป็นเกมมือถือที่ใช้งานแอ็กทีฟมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ใช้งาน 21 ล้านคน แซงหน้าเกม Candy Crush Saga ที่มีผู้ใช้สูงสุดอยู่ที่ 20 ล้านคน

ในเบื้องต้นเกมนี้ได้เปิดให้บริการในประเทศสหรัฐอเมริกา, นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยกระแสความนิยมของเกมที่เกิดขึ้นภายในข้ามคืน ทำให้มีผู้เล่นจำนวนมาก จากนั้นก็ได้ขยายในประเทศอื่นๆ ต่อมาอย่างที่ประเทศอังกฤษในวันที่ 14 กรกฎาคม ประเทศอิตาลี สเปน โปรตุเกส ในวันที่ 15 กรกฎาคม และอีก 26 ประเทศ ในวันที่ 16  กรกฎาคม

ส่วนประเทศไทยยังไม่ติดโผในการเปิดให้บริการ แต่คนไทยก็สามารถหาวิธีในการเล่นเจ้าเกมนี้ได้ก่อนใครเพื่อนอยู่ดี เพื่อไม่ให้เป็นการตกเทรนด์ โดยสามารถทำผ่านระบบปฏิบัติการบนมือถือทั้ง 2 ระบบ แอนดรอยด์ และไอโอเอส สำหรับแอนดรอยด์ต้องดาวน์โหลด และติดตั้งแบบระบบ APK ที่ต้องติดตั้งไฟล์เสียก่อน ส่วนระบบไอโอเอสต้องสมัคร Apple ID ใหม่ ให้อยู่ในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จากนั้นจึงสามารถดาวน์โหลด และใช้งานได้ตามปกติ

graphic_pokemon

เบื้องหลังความฮอตฮิต

ความพิเศษที่ทำให้เกมนี้โด่งดังเป็นพลุแตกขึ้นมาได้ อย่างแรก ตัวเกมที่มีความแปลกใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ พร้อมกับโลเกชันที่ได้อานิสงส์จาก Google Maps  เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับเกมให้คนเล่นเกมไม่ได้อยู่เพียงแค่ในจออย่างเดียว แต่เป็นการออกไปเจอโลกที่อยู่จริงๆ เหมือนเป็นการท่องเที่ยวไปในตัว

ความคลาสสิกของโปเกมอนที่ทำให้ใครหลายคนยังคงชื่นชอบ และหลงรักการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ หลายคนติดตามตั้งแต่ยังเป็นในรูปแบบของเกมบอย ทำให้เกมนี้เหมือนเป็นการเติมเต็มความทรงจำในวัยเด็ก และอาจจะเป็นความฝันของใครหลายๆ คนที่ได้ตามจับโปเกมอนเป็นแน่เหมือนกัน

2_pokemon

นอกจากนี้ เกมยังมีความเป็นโซเชียล ทำให้ถูกจริตตามแบบฉบับของคนยุคนี้ ที่สามารถแชร์รูปภาพเวลาที่จับโปเกมอนตัวไหนได้ ทำให้ผู้เล่นแต่ละคนมีส่วนร่วมในเกมและมีเอ็นเกจเมนต์อย่างมาก

ถ้ามาดูปัจจัยความสำเร็จลึกๆ อีกอย่างหนึ่งแล้ว จริงๆ แล้วเกมนี้ก็เริ่มมีการโปรโมตมาหลายปีแล้ว แต่เป็นการโปรโมตทางอ้อม เริ่มจากแนวคิดโปรเจกต์ Pokémon Challenge ที่ทาง Nintendo ได้ร่วมกับ The Pokemon Company ในวัน April Fools’ Day เมื่อปี 2014  เวลานั้นได้กลายเป็นกระแสไวรัลที่ฮือฮามากๆ เช่นกัน จากนั้นจึงเริ่มพัฒนามากเป็นเกมนี้

หลังจากที่นินเทนโดได้ปล่อยเกมนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ ก็ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของ Nintendo  พุ่งสูงขึ้น 12 ล้านล้านเหรียญฯ หรือราว 30% และเกมนี้ก็สามารถทำเงินได้ถึงวันละ 2 ล้านเหรียญฯ ในการใช้จ่ายผ่านแอป

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำให้เกิดกระแสหลายๆ อย่างตามมาเช่นกัน อย่างเช่นเรื่องการเกิดอาชีพรับจ้างขับรถเพื่อพาจับโปเกมอน หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ที่เกมนี้ฮิตติดลมบนจนทำให้บรรดานักเล่นเกมแห่ไปเซ็นทรัลปาร์ค เพื่อตามล่าโปเกมอนจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

แต่สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปก็คือ เริ่มมีการทำการตลาดที่ผูกติดกับเกมมากขึ้น ถึงแม้ว่าจุดประสงค์หลักของเกมนี้จะไม่ใช่การหารายได้ด้วยวิธีนี้ เป็นการซื้อไอเท็มในเกมเสียมากกว่า แต่ด้วยความที่เกมเป็นที่นยม เป็นธรรมดาที่แบรนด์ต่างๆ จะวิ่งเข้าหาเพื่อทำการตลาดร่วมกัน

การตลาดที่ว่านั้นอาจจะเป็นในรูปแบบของ Sponsored-Locations หรือโฆษณาตามสถานที่ต่างๆ ห้างค้าปลีก หรือร้านค้าต่างๆ สามารถซื้อโฆษณาเพื่อเป็นการดึงดูด และเพิ่มโอกาสการเข้าร้านจากการที่มีคนเข้ามาจับโปเกมอน และอาจจะมีรายได้มากขึ้นจากโอกาสการเข้าร้านที่สูงขึ้นด้วยนั่นเอง

โดยที่รูปแบบเก็บค่าบริการของ Sponsored Locations น่าจะเป็นโมเดล cost-per-visit pricing model ซึ่งจะคิดราคาโฆษณาตามจริงจากจำนวนการเข้าสู่ร้านค้าผู้เล่น

timeline_pokemon

แนะแบรนด์ดึงลูกค้าเข้าร้านผ่านเกม

ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่า กระแสของเกมโปเกมอน เป็นการนำเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR  มาใช้งาน ซึ่งในไทย คนทั่วไปอาจยังไม่คุ้นเคยมากนัก แต่เมื่อเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย จึงทำให้ผู้บริโภครู้จักเทคโนโลยีนี้มากขึ้น

ส่วนการที่เกมโปเกมอนกลายเป็นกระแสขึ้นมา เนื่องจากเป็นการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับชีวิตจริง หรือการนำโลกดิจิตอลและโลกจริงมาผสมและเชื่อมต่อเข้าหากัน

เป็นการใช้เทคโนโลยีมาเล่นกับชีวิตจริงของคนเราและเล่นขณะนั้นเดี๋ยวนั้น (Real time) จัดว่าเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้โลกดิจิตอลไม่ได้อยู่ในหน้าจออย่างเดียวแต่ต้องเล่นกับสถานที่จริง และเป็นการใช้โอกาสจากการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับเวลา สถานที่ อุปกรณ์บอกพิกัดหรือ GPS แผนที่มาผสมเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน เดิน วิ่ง ออกกำลัง ปั่นจักรยานอย่างมีเป้าหมายคือล่าโปเกมอน

4_pokemon

นอกจากนี้ทำให้ “โปเกมอน” มาอยู่ในโลกดิจิตอลเพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับผู้คนมากขึ้น แถมยังเป็นการตอกย้ำเรื่องของการผจญภัย การต่อสู้ การตามล่าในชีวิตจริง

สำหรับในเมืองไทย กระแสของโปเกมอนเวลานี้ก็เล่นกันระบบล่มและบล็อกกันไปแล้ว ในแง่มุมของนักการตลาด คงต้องดูว่ากลุ่มที่ให้ความสนใจเกมนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์หรือธุรกิจของเราหรือไม่ ถ้าใช่ก็เป็นกระแสหนึ่งที่ธุรกิจไม่ควรตกเทรนด์นี้ ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน หากมีการปลดล็อกหรือสามารถเล่นเกมนี้ได้ เพราะโปเกมอนอยู่ได้ทุกที่ในโลกจริงก็เป็นโอกาสที่ธุรกิจนั้นจะไปเชื่อมโยงกับกระแสดังกล่าว

นอกจากนี้ กุศโลบายที่ดีของเกมนี้ คือทำให้ผู้คนออกนอกบ้านไปเล่น ไปใช้ชีวิตมากกว่าการอยู่กับหน้าจอในบ้านเพียงอย่างเดียวหรือเก็บตัวอยู่บ้าน อาจทำให้ธุรกิจใช้โอกาสนี้ในการดึงลูกค้าเข้าร้านทำให้เกิด Traffic แต่ก็ต้องมีกลยุทธ์ที่ดีในการทำให้เกิดการจับจ่ายด้วย คงไม่ใช่ตามล่าโปเกมอนเพียงอย่างเดียว ต้องตามล่าด้วยการซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของเราด้วย สิ่งที่ต้องเตือนให้ระมัดระวังกันอีกอย่างหนึ่งก็คืออย่าก้มหน้าก้มตาเล่นอยู่บนหน้าจอมากเกินไป ควรเงยหน้าดูสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สบายตาด้วย