ขึ้นชื่อว่าธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ในขณะที่โลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลแล้วนั้น ย่อมมีการปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อการอยู่รอดในวงการต่อไป “บรรลือสาส์น” เป็นอีกสื่อหนึ่งที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดีสำหรับหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” ที่ตอนนี้บรรลือสาส์นจะอายุครบ 60 ปีแล้ว ก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ รวมถึงขายหัวเราะเองก็อายุ 43 ปีแล้วเหมือนกัน
บรรลือสาส์นเองก็คล้ายๆ กับธุรกิจสื่ออื่นๆ ที่มีการแตกแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเสริมธุรกิจในยามที่สื่อแบบกระดาษมีความนิยมน้อยลง ทำให้บรรลือสาส์นไม่ได้มีเพียงแค่สำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ กับการ์ตูนขายหัวเราะอีกต่อไป โดยเริ่มต้นจากการแตกไลน์ธุรกิจไปยังธุรกิจแอนิเมชั่นเพื่อตอบรับความต้องการของตลาด ได้เปิดบริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ในปี 2544 ตอนแรกได้ทำแอนิเมชั่นแค่การ์ตูนในเครืออย่างปังปอนด์ และไอ้ตัวเล็ก หลังจากนั้นก็เริ่มรับจ้างผลิตหารายได้เพิ่ม และผลิตสติ๊กเกอร์ไลน์ด้วย
จากนั้นก็เริ่มแตกไลน์คอนเทนต์ที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ได้เปิดสำนักพิมพ์แซลมอลในปี 2554 เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กส์ ก่อนจะขยายตัวไปสู่สำนักพิมพ์บัน (Bunbooks) เป็นหนังสือแนวไลฟ์สไตล์จับกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นส่วนใหญ่ และนิตยสารยีราฟ (Giraffe Magazine) นิตยสารแจกฟรีราย 15
และเพื่อต้องการทำตลาดได้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้เปิดแซลมอนเฮ้าส์ (Salmon House) โปรดักชั่นเฮ้าส์ที่ผลิตคอนเทนต์วิดีโอ ในช่วงแรกเป็นการทำคอนเทนต์เพื่อทำการตลาดให้กับหนังสือในเครือก่อน เป็นที่รู้จักกันกับผลงาน New York 1st Time หรือคุณลุงเนลสัน จากนั้นก็เริ่มรับจ้างผลิตผลงานอื่นๆ เช่นกัน
สุดท้ายกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้เริ่มเปิดเว็บไซต์มินิมอร์ (Minimore) ร้านหนังสือออนไลน์ และสำนักข่าวออนไลน์อย่างเว็บไซต์ The Matter และธุรกิจล่าสุดในชื่อดิจิไวท์ เป็นการทำการตลาดให้กับบริษัทในเครือ
ทำให้ปัจจุบันบรรลือสาส์นมีธุรกิจ 5 กลุ่มด้วยกัน 1.บันลือบุ๊คส์ เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กส์ สำนักพิมพ์แซลมอล, บัน, บรรลือสาส์น และยีราฟ 2.วิธิตา แอนิเมชั่น 3.แซลมอน เฮ้าส์ 4.ออนไลน์ คอนเทนต์ และ 5.ดิจิไวท์ ทำการตลาด
รวมถึงการส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารแจนใหม่ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” หรือ นิว ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ลูกสาวคนโตของ “วิธิต อุตสาหจิต” หรือ บ.ก. วิติ๊ด เพื่อให้การทำงานทันสมัยขึ้น
วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการหนังสือเครือบรรลือสาส์น กล่าวว่า “ถึงเวลาที่ต้องส่งใม้ต่อให้กับทางคนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารบ้าง เพื่อให้ทันสมัย ตอนนี้ถือว่าอยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ต ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา สื่อกระดาษมีปัญหามากๆ ยิ่งต้องแข่งกับสื่อออนไลน์ แต่ทางบันลือกรุ๊ปเองก็ได้เตรียมตัวมานาน ต้องเท่าทันเทคโนโลยี และมองว่าความฮาไม่ได้ผูกที่ความตลกอย่างเดียว หรือหนังสือการ์ตูนอย่างเดียว แต่ไปได้ทุกแพลตฟอร์ม และต้องต่อยอดคอนเทนต์ในการทำอะไรใหม่ๆ”
ต้องเปิดช่องทางใหม่ ต่อยอดคอนเทนต์
อย่างไรก็ตาม ขายหัวเราะยังคงเป็นลูกรักเบอร์หนึ่งของบรรลือสาส์นอยู่ แม้ว่าจะอายุ 43 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีแฟนๆ คอยติดตามอยู่ตลอด นอกจากในเรื่องการพัฒนาคอนเทนต์เพื่อให้ทันกับกระแสสังคมอยู่ตลอด และมีทีมครีเอทีฟสำหรับการคิดมุกใหม่ๆ โดยเฉพาะ
แต่การเปิดช่องทาง หรือแพลตฟอร์มใหม่ๆ เป็นกลยุทธ์สำคัญที่บรรลือสาส์นเลือกใช้กับขายหัวเราะ เพื่อให้แบรนด์ยังคงเป็นอมตะตลอดเวลา และสร้างการรับรู้ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างการทำสติกเกอร์ไลน์ของคาแร็กเตอร์ต่างๆ ทั้งขายหัวเราะ หนูหิ่น และล่าสุดกับการจัดนิทรรศการ “อุตสา ฮา กรรม : ผลิตขำ ทำเงิน” ที่ร่วมกับ TDCD ถือว่าเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่สุด ปกติจะมีเพียงแค่งานสัปดาห์หนังสือ
ความสำคัญของการจัดนิทรรศการ หรืออีเวนต์ในครั้งนี้ก็คือการให้ผู้อ่าน หรือแฟนๆ ได้มีส่วนร่วม มีประสบการณ์กับแบรนด์มากขึ้น และเพื่อให้เห็นกระบวนการทำงาน เพื่อให้ได้กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หนังสือเครือบรรลือสาส์น กล่าวว่า “การปรับตัวของบรรลือสาส์นก็คือต้องต่อยอดคอนเทนต์เสมอ ต้งอมีอะไรใหม่ๆ เพราะคนสมัยนี้เบื่อง่าย การจัดอีเวนต์ของเราก็เพื่อให้ครบกวงจรมากขึ้น และต้องการให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นด้วยเช่นกัน”
พิมพ์พิชาได้พูดถึงความเสี่ยงในธุรกิจนี้ก็คือเรื่องช่องทาง และเทคโนโลยี ที่ต้องทำให้เข้าถึงมุมมองของผู้คน ต้องเปิดกว้างตลอดเวลา และต้องจับความสนใจของกระแสได้ไว สำหรับโอกาสทางธุรกิจก็คือคนไทยชอบอารมร์ขันอยู่แล้ว ทำให้ยังชื่นชอบ และคอนเทนต์ประเภทนี้ยังได้ผลอยู่