ททท. ผนึก “ขายหัวเราะ” ฟื้นฟูท่องเที่ยวมิติใหม่โดยใช้การ์ตูน พร้อมเปิดเกาะขายหัวเราะ จ.ตราด อย่างเป็นทางการ หลังมีเกาะที่รูปร่างหน้าตาคล้ายกับเกาะขายหัวเราะในการ์ตูน หวังใช้เป็นแลนด์มาร์กกระตุ้นการท่องเที่ยวในอนาคต
เกาะขายหัวเราะมีอยู่จริง!
ใครที่เป็นแฟนของหนังสือการ์ตูนในตำนานอย่าง “ขายหัวเราะ” ต้องคุ้นเคยกับ “แก๊กติดเกาะ” ที่จะได้เห็นขึ้นปกอยู่เป็นประจำ จนเรียกกันติดปากว่า “เกาะขายหัวเราะ” แก๊กติดเกาะนี้ได้มีมาช้านานหลายปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังได้เห็นแก๊กนี้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นแก๊กขึ้นหิ้งไปแล้ว
แต่ใครจะรู้ว่า เกาะขายหัวเราะนี้ดันมีอยู่จริงในประเทศไทย! ก่อนหน้านี้ได้มีแฟนการ์ตูน และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดตราดได้พบกับเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะนกนอก เชื่อมมาจากเกาะนกใน และเกาะกระดาด เกาะนี้จะมีจังหวะที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาในช่วงน้ำลด ซึ่งทำให้เห็นพื้นที่เกาะเล็กน้อย และมีต้นตะบันขึ้นอยู่เพียงโดดๆ เพียงต้นเดียว ทำให้มีลักษณะเหมือนแก๊กติดเกาะของการ์ตูนขายหัวเราะ นักท่องเที่ยวพากันเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะขายหัวเราะ”
ผนึกททท.สร้างแลนด์มาร์ก จ.ตราด
เมื่อเกาะขายหัวเราะกลายเป็นแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวหลายๆ คนอยากสัมผัสด้วยตนเอง ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด จึงไม่รอช้า รีบผนึกกับขายหัวเราะ หวังเป็นไอเดียในการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้
อิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด กล่าวถึงที่มาของการร่วมมือกันกับขายหัวเราะในครั้งนี้ว่า เกิดจากความเข้ากันพอดีของสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดตราด กับภาพจำของหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ทำให้เกาะมีลักษณะเหมือนแก๊กติดเกาะของการ์ตูนขายหัวเราะ จนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดตราดในที่สุด
ทางททท.สำนักงานตราด จึงเชิญขายหัวเราะมาร่วมส่งเสริมโปรโมตเกาะแห่งนี้ในนาม “เกาะขายหัวเราะ” อย่างเป็นทางการโดยมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันตั้งรับ ฟื้นฟู และส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์โรค COVID-19 คลี่คลาย ซึ่งหลายภาคส่วนทั้งการท่องเที่ยวระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นต้องการการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมาก
ใช้การ์ตูนสื่อสาร ความสำเร็จจากญี่ปุ่น
การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวร่วมกับหนังสือการตูนขายหัวเราะที่มีผู้อ่านทุกช่วงอายุ ทุกกลุ่มอาชีพ ในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่นำภาพของการ์ตูนมาคู่กับแหล่งท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวในบริเวณนี้เป็นที่รู้จักได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งช่วยสร้างบุคลิก และบรรยากาศให้การท่องเที่ยวเต็มไปด้วยความสนุกสนาน อารมณ์ดี และมีความสุขเมื่อได้มาเยือน
รวมถึงเป็นการตอกย้ำว่าเกาะขายหัวเราะนั้นมีอยู่จริงที่จังหวัดตราด ถือเป็นการเชื่อมโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกของการ์ตูนที่คนไทยคุ้นเคยกันมายาวนาน ซึ่งนอกจากเกาะขายหัวเราะแล้ว เชื่อว่ายังสามารถช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปตามเกาะอื่นๆ อาทิ เกาะหมาก เกาะกระดาด เชื่อมโยงให้เกิดเส้นทางสร้างรายได้ลงสู่พื้นที่นั้นอย่างทั่วถึง
ทางด้าน พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ป บอกว่า การ์ตูนสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ทั้งในโลกจริง และโลกเสมือน การผูกเรื่องราว และภาพลักษณ์ของคาแร็กเตอร์กับการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ สามารถทำได้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม การมุ่งสร้างองค์ความรู้เพื่อนักท่องเที่ยวทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่ม การเล่าด้วยการ์ตูนก็ทำได้อย่างไม่ยัดเยียด ประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับคาแร็กเตอร์ เรื่องเล่าวัยเยาว์ ล้วนทำให้เกิดมิตรภาพ และความประทับใจ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วจากแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำทั่วโลกว่า การ์ตูนและคาแร็กเตอร์ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีและเข้าถึงกับผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย
ต้องบอกว่า “ประเทศญี่ปุ่น” เป็นต้นแบบแห่งการใช้การ์ตูน และคาแร็กเตอร์มาโปรโมตสารพัดสิ่ง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นของญี่ปุ่น ก็ยังมีการต่อยอดรูปแบบใหม่ๆ ออกไปอยู่เรื่อยๆ
ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือมาสคอต “คุมะมง” เจ้าหมีสีดำ กลายเป็นมาสคอตประจำจังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เปรียบเสมือนทูต ตัวโปรโมตประจำจังหวัด ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และทำให้คนทั่วโลกรู้จักจังหวัดนี้อย่างดี
สำหรับประเทศไทยนั้น ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยวไทยในการใช้พลังการ์ตูน และ soft power มาสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และแปลกใหม่ เรียกได้ว่าแคมเปญเกาะขายหัวเราะ เป็นก้าวแรกที่สำคัญทั้งกับขายหัวเราะและโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ซึ่งในอนาคต อาจจะมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ รูปแบบ storytelling ที่ต่างไปจากเดิม หรือการทำแคมเปญ ที่ไม่จำกัดรูปแบบ ซึ่งน่าจะเหมาะกับเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต ที่นักท่องเที่ยวต้องการมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบ และเชิงลึกมากขึ้นด้วย
ขายหัวเราะเข้าใจจริตคนไทย
พิมพ์พิชา อุตสาหจิต บอกว่า ขายหัวเราะในฐานะ ‘สำนักการ์ตูนไทย’ นั้นมี DNA จุดเด่นเฉพาะตัว คือ ความถนัดในการใช้สื่อการ์ตูนเล่าเรื่องได้ทุกเรื่อง และความเข้าใจ insight รสนิยมความบันเทิงสนุกสนานและ culture แบบไทยๆ อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อีกหลากหลายแนวทาง
ซึ่งขายหัวเราะต้องการใช้ความถนัดของเราในด้านการ์ตูน คาแร็กเตอร์ อารมณ์ขัน และ storytelling มาเป็นสื่อ และสร้างกิมมิกในการพัฒนา Content และออกแบบ Content Marketing รูปแบบแคมเปญที่สนับสนุนต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้ ว่าเกาะขายหัวเราะที่ทุกคนคุ้นเคยจากแก๊กการ์ตูน และปกขายหัวเราะนั้นมีอยู่จริงๆ เป็นการเชื่อมโยงจินตนาการและความสนุกด้วยประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร
Related