ส่องกระแสในสหรัฐฯ แม้จะกลับมาทำงานออนไซต์กันได้แล้ว แต่กลุ่มธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” เปลี่ยนระบบมาทำงานระยะไกลแบบถาวรมากขึ้น ทำให้เลือกไม่ต่อสัญญาเช่าออฟฟิศ แต่ใช้วิธีเช่าบ้านหรือห้องพัก Airbnb ขนาดใหญ่ไว้ประชุมงานเป็นครั้งๆ ไป
Kruze Consulting บริษัทบัญชีที่เก็บข้อมูลวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของสตาร์ทอัพ 400 แห่งในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2019 พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายด้าน “การเดินทาง” พุ่งสูงมาตั้งแต่หลังเดือนเมษายน 2021 ขณะที่มีสตาร์ทอัพเพียง 60% เท่านั้นที่ยังจ่ายค่าเช่าออฟฟิศ เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2019 มีสตาร์ทอัพ 85% ที่เช่าออฟฟิศ นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มใหญ่ที่เตรียมยกเลิกสัญญาเช่าหรือลดขนาดออฟฟิศทันทีที่สัญญาเช่าหมดลง
“พวกเขากำลังลดการใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะจะยังคงการทำงานแบบระยะไกล หรือแบบผสมผสานออนไซต์กับออนไลน์ต่อไป” Kruze Consulting ระบุ
แม้แต่รายที่ยังจ่ายค่าเช่าอยู่ ก็มีค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายการเช่าลดลง จากเมื่อไตรมาส 4 ปี 2019 จ่ายเฉลี่ย 32,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ขณะนี้จ่ายเพียง 21,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน
สถานการณ์นี้เหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อโคเวิร์กกิ้งสเปซ แต่กลับไม่ใช่! เห็นได้ว่า เงินค่าใช้จ่ายที่ไปพุ่งสูงในหมวด “การเดินทาง” เกิดจากสตาร์ทอัพเลือกที่จะเช่าบ้าน Airbnb แทนออฟฟิศหรือโคเวิร์กกิ้ง
“บริษัทที่เราพูดคุยด้วยกำลังเช่า Airbnb สำหรับใช้ประชุมงานหรือทำงานแบบเจอหน้า ไม่ว่าจะเจอกันทั้งบริษัท หรือจัดประชุมเป็นกลุ่มย่อย เช่น คุยกันเฉพาะกลุ่มพัฒนาสินค้าหรือกลุ่มวิศวกร” Kruze ระบุ
- ‘Airbnb’ ประกาศ ให้ที่พักแก่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน 20,000 คน ฟรี
- ราคาเช่า “ออฟฟิศ” กรุงเทพฯ “ลดลง” จากโตทุกปีมาตลอดทศวรรษ Q1/2564 หดตัว -0.7%
กระแสนี้เกิดจากแรงผลักดันของ Airbnb เองด้วย โดยบริษัทพยายามดึงแขกเข้าพักเชิงธุรกิจมาแล้วหลายปี จนกระทั่งไม่กี่เดือนมานี้เองที่เริ่มเห็นผลสำเร็จ โดยทาง Airbnb มีฟีเจอร์ที่สะท้อนการเอื้อต่อธุรกิจ เช่น ให้แขกที่สนใจเช็กความเร็ว Wi-Fi ก่อนจองได้ หรือการออกแคมเปญเฉพาะสำหรับกลุ่มดิจิทัลโนแมด
นอกจากนี้ กลุ่มการจองรายเดือน คือจองยาว 28 วันขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มลูกค้าที่โตไวที่สุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาด้วย ทำให้ “ไบรอัน เชสกี้” ซีอีโอ Airbnb เชื่อว่า เทรนด์การทำงานระยะไกลจะยังคงอยู่ต่อไป แม้การระบาดคลี่คลายแล้วก็ตาม