คนไทยใช้สมาร์ทโฟน 4 ชั่วโมง/วัน
นีลเส็น ประเทศไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน–มิถุนายน) พบว่าคนไทยใช้เวลาในการใช้สมาร์ทโฟนเฉลี่ย 234 นาที หรือเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน
ใช้พีคสุด 2-3 ทุ่ม
ช่วงที่คนไทยตื่นตัวกับการใช้สมาร์ทโฟนคือช่วง 8 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม เฉลี่ย 12 นาทีต่อชั่วโมง แต่ช่วงเวลาที่ผู้ใช้มากสุด จะอยู่ในช่วง 2 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม เฉลี่ยการใช้ 13.1 นาทีต่อชั่วโมง
ใช้แชตโทรผ่านไลน์มากสุด 66 นาที/วัน
เมื่อลงลึกถึงกิจกรรมที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยใช้เวลามากที่สุดพบว่า
อันดับ 1 คือ การสื่อสาร (communications) โดยใช้เวลาทั้งหมด 78 นาที/วัน ซึ่งในจำนวนการใช้งาน 78 นาทีนี้ จะใช้ Chat และ VOIP เช่น การแชตผ่านไลน์ บีทอล์ก เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ และโทรศัพท์ผ่านไลน์ มากที่สุด โดยจะใช้เวลาในกิจกรรมเหล่านี้ถึง 66 นาที/วัน ใช้เพื่อโทรแค่ 8 นาทีต่อวัน ใช้ส่งอีเมล 2 นาที และส่งข้อความ 2 นาที
อันดับ 2 ใช้แอปพลิเคชั่น ใช้เวลา 66 นาทีต่อวัน เช่น ยูทิลิตี้ต่างๆ 63 นาที/วัน
อันดับ 3 ใช้เพื่อความบันเทิง ใช้เวลา 42 นาทีต่อวัน ไปกับการเล่นเกม 20 นาที/วัน มัลติมีเดีย 22 นาที/วัน
อันดับ 4 การจัดการเกี่ยวกับตัวเครื่อง Device Management ใช้เวลา 27 นาที/วัน ใช้เกี่ยวกับ Phone Navigation (พิกัดมือถือ) 6นาที/วัน ระบบรักษาความปลอดภัย (กดรหัสล็อกเครื่อง) 21 นาที
อันดับ 5 การค้นหาข้อมูล 21 นาที/วัน
ใช้เพื่อสื่อสาร และจัดการตัวเครื่องพุ่ง
เมื่อนำมาเปรียบเทียบการใช้งานระหว่างไตรมาส 1 ปี 2559 (มกราคม-มีนาคม) และไตรมาส 2 ปี 2559 (เมษายน-มิถุนายน) พบว่า การใช้งานเพื่อการสื่อสาร หรือการใช้แชตและโทรผ่าน VOIP เพิ่มสูงขึ้น จาก 65 นาที ในไตรมาสแรก เป็น 78 นาทีในไตรมาสที่สอง และการใช้ Device Management เพิ่มจาก 14 นาที เป็น 27 นาที
ในขณะที่การใช้เพื่อความบันเทิงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการใช้แอปพลิเคชั่น และเพื่อค้นหาข้อมูลมีการใช้งานลดลงเล็กลง
คนไทยแชต/โซเชียลเน็ตเวิร์คสนั่นสุด เที่ยงและ 6 โมง – 3 ทุ่ม
เมื่อดูพฤติกรรมในการใช้แชต (ไลน์, บีทอล์ก, เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์) จะกินเวลา 66 นาที/วัน และโซเชียลเน็ตเวิร์ค (เฟซบุ๊ก) จะอยู่ที่ 40 นาที/วัน
เมื่อแยกช่วงเวลาในการใช้แชตและ VOIP หนักที่สุดในช่วงเวลา 9-11 โมง และมาพีคอีกทีในช่วงกลางคืน ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม ในขณะที่การโซเชียลเน็ตเวิร์คจะถูกใช้เยอะที่สุดในช่วงเที่ยง และ 2-3 ทุ่ม
ใช้ดาต้า 689 เมก/วัน/คน
สำหรับการใช้ “ดาต้า” ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 500 MB/วัน/คน ในไตรมาส 3 ของปี 2015 ไตรมาส 4 ปี 2559 ใช้ 544 MB/วัน/คน
ปี 2016 ไตรมาสแรก ใช้ 574 MB/วัน/คน เพิ่มขึ้นมาเป็น 689 MB/วัน/คน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2516
โดยแบ่งเป็นการใช้ผ่าน wifi (ในที่ทำงานบ้าน สถานที่ต่างๆ ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า) ถึง 76% ในขณะที่ใช้ผ่านเซลลูลาร์ (แพ็กเกจดาต้าที่ผู้ให้บริการมือถือให้มา) 23%
เปิดตัวเลขคนไทยใช้ดาต้าพุ่งกระฉูด 689 เมก/วัน/คน
นีลเส็น ประเทศไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน–มิถุนายน) พบว่า คนไทยใช้ “ดาต้า” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2015 จนมาถึงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2016
ไตรมาส 3 ของปี 2015 การใช้ดาต้า 500 MB/วัน/คน พอมาไตรมาส 4 ปี 2559 ขยับขึ้นเป็น 544 MB/วัน/คน
ไตรมาส 1 ของปี 2016 การใช้ดาต้าขยับเพิ่มเป็น 574 MB/วัน/คน และเพิ่มเป็น 689 MB/วัน/คน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2516
ผลสำรวจยังพบว่าในการใช้ดาต้านี้มีการใช้ผ่าน wifi (ในที่ทำงานบ้าน สถานที่ต่างๆ ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า) ถึง 76% ในขณะที่ใช้ผ่านเซลลูลาร์ (แพ็กเกจดาต้าที่ผู้ให้บริการมือถือให้มา) 23%
นีลเส็น ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยนั้นจะใช้งานสมาร์ทโฟนผ่าน wifi เป็นหลัก แต่ก็จะเห็นการเติบโตของการใช้งานทั้งในส่วนของ cellular และ wifi และเมื่อรวมการใช้งานทั้งสองเข้าด้วยกัน อัตราการใช้งานทั้งหมดเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบระหว่างไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปี 2559
“ผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นซึ่งเห็นได้จากปริมาณดาต้าที่มีการใช้เพิ่มขึ้น เหตุผลหลักน่าจะมาจากการใช้งานผ่าน format ที่เป็นรูปแบบของวิดีโอมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดหรือการดูวิดีโอสตรีมมิ่งผ่านมือถือ หรือแม้แต่การใช้ chat app ที่เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนนั้นมีความต้องการใช้ดาต้า ในขณะเดียวกันก็หาวิธีในการประหยัดดาต้าให้มากที่สุดเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ในส่วนที่ต้องการจริงๆ” ยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทนีลเส็น ประเทศไทย
จับตาโมบายแบงกิ้ง/เอ็มคอมเมิร์ซมาแรง
ผลสำรวจของนีลเส็น ยังได้พบพัฒนาการที่น่าสนใจของ “การใช้งานด้านการเงินบนสมาร์ทโฟน” ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงของเอ็ม-คอมเมิร์ซในอนาคต
ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าการชำระเงินผ่านมือถือ หรือ mobile payment (ทรูมันนี่, SCB UP TO ME, M-PAY,เพย์พาล, อาลีเพย์,ไลน์เพย์) นั้นมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบระหว่างไตรมาสแรกของปี 2015 และ 2016 การช้อปออนไลน์ผ่านมือถือ (ตลาดดอทคอม, ขายดี, ลาซาด้า, ไลน์ช้อป, วีเลิฟช้อปปิ้ง, อาลีบาบา รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกที่เปิดแอปขายผ่านออนไลน์ เช่น เทสโก้ โลตัส) มีการเติบโต 57% และการใช้งานในส่วนของ banking, financial services และ insurance (โมบายแบงกิ้ง) นั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นที่ 39%
“การเติบโตนี้ชี้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงในไลฟ์สไตล์ของคนไทย ซึ่งมีการใช้งานสมาร์ทโฟนด้านการเงินการธนาคาร และชำระเงินผ่านมือถือ รวมถึงช้อปปิ้งผ่านมือถือมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับเอ็ม-คอมเมิร์ซมากขึ้น ทำให้เห็นถึงโอกาสสำหรับตลาดการซื้อขายบนโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย และเป็นโอกาสขององค์กรต่างๆ ในการดึงผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มนี้ ด้วยการทำให้แพลตฟอร์มนี้รองรับการให้บริการของตนมากขึ้นรวมถึงใช้ช่องทางนี้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า” ยุวดี กล่าว
“วิธีการที่ดีที่สุดที่จะดึงให้ผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วมก็ยังคงเหมือนเดิม นั้นคือการทำความเข้าใจแรงผลักดัน และแรงจูงใจของพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ จากนั้นพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดซึ่งสามารถเข้าถึงแรงผลักดันและแรงจูงใจนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการประสบความสำเร็จ
เผย 10 อันดับ แอปยอดนิยมของคนไทย
สำหรับ 10 แอปพลิเคชั่นที่คนไทยนิยมใช้มากสุด ไลน์มาเป็นอันดับ 1 ใช้ถึง 60 นาทีต่อวัน รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก ใช้ 37 นาที/วัน ตามาด้วย กูเกิลโครม 12 นาที/วัน ยูทิวบ์ 11 นาทีต่อวัน โดยพบว่าการเปลี่ยนแปลงมีน้อยมาก คนส่วนใหญ่ยังนิยมใช้แอปเดิมๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015
ที่มาของการวิจัย
นีลเส็นสำรวจจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อายุ 15 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 705 คน ผ่านระบบการเก็บข้อมูลที่เรียกว่า Informate Mobile Insight ที่ผู้ถูกสำรวจดาวน์โหลตัววัดข้อมูลไว้ในเครื่องเพื่อทำการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์และส่งข้อมูลกลับมาที่เซิร์ฟเวอร์ทุกชั่วโมง