เรื่องโดย ดร.กุลเดช สินธวณรงค์
สถาปนิกสมัยก่อนใช้เวลานานกว่าจะมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักครับ เหตุผลที่นอกเหนือจากเรื่องของฝีมือแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ตัวผลงานซึ่งจะบอกตัวตนหรือบทพิสูจน์ของสถาปนิกเท่านั้น ทีนี้กว่าที่ตึกหรืออาคารแต่ละหลังจะเสร็จได้ใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี แถมดีไซน์ของเราตอนออกแบบครั้งแรกจนเมื่อสร้างเสร็จกลับมาดูอีกทีอาจจะไม่เหมือนกันเลย แบรนด์ของสถาปนิกหรือดีไซเนอร์จึงเป็นแบรนด์ที่ผูกติดกับผลงานที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและตัวแปรสารพัด นอกจากนั้น แบรนด์ของสถาปนิกหรือดีไซเนอร์ไม่ต่างจากการทำ startup สมัยนี้ คือต้นทุนทางการตลาดไม่มาก (พูดง่ายๆ คือไม่มีตังค์) แต่กลับมีต้นทุนทางสังคมสูง เราจึงเห็นการใช้ตัวดีไซเนอร์ที่เป็นเจ้าของมาเป็นแบรนด์ลงมาเป็นแอมบาสเดอร์ซะเอง ใช้ชื่อเสียงของตัวเองนำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักโดยการใช้สื่อทางตรงหรือทางอ้อม ก็ไม่ผิดครับ แต่หลายแบรนด์ดังเขาก็คิดแบบนั้น แล้วเราจะเดินตามเขาทำไม?
ตั้งแต่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในโลกเมื่อหลายปีก่อน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ความเร็วในความคิด ความเร็วในการตัดสินใจสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตอนนี้สถาปนิกรุ่นใหม่จบออกมาผมว่าเกินครึ่งที่ไม่ได้ทำงานตรงสาย แล้วถึงจะทำงานตรงสาย แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีก็จะออกไปทำงานอย่างอื่นที่ตัวเองสามารถเป็นเจ้าของกิจการเองได้ เป็นฟรีแลนซ์อิสระ สร้าง startup เล็กๆ ของตัวเอง (ประมาณว่าเป็นหัวสุนัขดีกว่าเป็นหางราชสีห์) ส่วนดีไซเนอร์ซึ่งใครๆ ก็เป็นได้ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าแฟชั่นดีไซเนอร์ โพรดักต์ หรือกราฟิกดีไซเนอร์ ลองมองในมุมนักการตลาด เรียกว่าคู่แข่งเต็มเมือง ทีนี้เราจะทำให้อย่างไรให้งานของเรา ตัวของเรา แบรนด์ของเราโดดเด่นขึ้นมาเหนือกว่าคนอื่น
ก่อนอื่นคงต้องทำตัวเองก่อน อยากเป็นฟรีแลนซ์เพราะมันแลดูอินดี้ดี หรือมีลูกค้ารองรับอยู่ในมืออยู่แล้ว แบรนด์เล็กแบบ startup ทำแบรนด์ต่อไม่เป็นก็หมดแล้วหมดเลยนะครับ ศึกษาแบรนด์เราให้ดี มันคือตัวตนของเราทั้งนั้น เราต้องการเป็นแบรนด์ดีไซน์แบบไหน กำหนดให้ชัดเจนแล้วเดินให้ตรงตามนั้น เวลาเราน้อยลงเรื่อยๆ ถ้ามัวแต่คิดแต่ไม่ได้ลงมือทำ การสร้างแบรนด์ของ Freelance หรือ Startup ในวงการดีไซน์ ยุคนี้ทำได้ไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน เพราะลูกค้าเป็นคนศึกษาหาข้อมูลของแบรนด์เราเอง
แต่คำถามคือ เราเตรียมพร้อมข้อมูลเสนอตัวเราเองแบบพร้อมรบจัดจบเพื่อให้เขามาศึกษาหรือไม่ ?
สถาปัตยกรรมเป็นวิชาชีพที่เหมือน Bosporus Bridge ในตุรกี คือเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตก ความเป็นวิทยาศาสตร์และความเป็นศิลปะ แบรนด์ดีไซน์ของเราจะเลือกแบบไหนก็ได้ครับ แต่ขอให้เลือกเอาสักอย่าง ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะการสื่อสารก็ยากแตกต่างกันไปคนละแบบ คนจะรักแบรนด์ได้ เลือกอยากเสพ content แบบไหนที่เราสื่อสารเราก็จะได้ลูกค้าแบบนั้น ‘ความเหมือนกัน’ ทั้งสองอย่างคือภาษา ‘ความแตกต่าง’ คือความต้องการของแบรนด์เองที่จะเชื่อมต่อกับคนกลุ่มเดิม หรือสร้างฐานคนกลุ่มใหม่ให้เข้ามารักแบรนด์ เรื่องต่อมาคงต้องศึกษาตลาดให้ดี ตอนนี้ใครๆ ก็สนใจ CLMV อินเดียหรือจีน ด้วยความเชื่อที่ว่าประเทศเหล่านี้เหมือน blue ocean คนมันเยอะยังไงก็คงมีงาน เอาอะไรไปขายก็รวย มันก็ไม่ถูกทั้งหมดนะครับ จริงอยู่ว่างานออกแบบทำที่ไหนก็ได้ในโลก แต่คนที่ประสบความสำเร็จในตลาดใหญ่ (และหิน) เหล่านั้นเขาไม่ได้เอะอะก็จะทำตลาดออนไลน์กันอย่างเดียว เอาเข้าจริงลูกค้าภาคบริการเกือบทุกรายอยากให้เราไปเปิดสำนักงานตัวแทน หรือมีพาร์ตเนอร์กับเขาในประเทศกันทั้งนั้น ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นข้อดีกับเรา โดยเฉพาะกับเรื่องวิธีการชำระเงิน บัญชี ภาษี ซึ่งแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ขนาดในประเทศทำงานยังเก็บเงินยังไม่ค่อยได้เลย (ฮา)
ผมเชื่อว่ากลุ่ม Freelance ยุคนี้ส่วนใหญ่โตมากับเทคโนโลยีการสื่อสารอยู่แล้ว แต่การสื่อสารของเราสามารถใช้กับธุรกิจได้หรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่อง นั่งโพสต์รูป วิดีโออย่างเดียวใช่ว่าคนจะมองเห็น เรื่องเทคนิคและวิธีการหาได้เยอะแยะตามเว็บไซต์ทั่วไป ทั้งเจาะลึกและเฉพาะทางครับ ผมยังเชื่อว่า Startup ส่วนใหญ่รู้จักช่องทางการโปรโมตสินค้าหรือบริการของตัวเองเป็นอย่างดี แต่ทำได้ตรงเป้าหมายได้ยอดขายหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง วิธีการน่าจะลองปรึกษาผู้รู้จริง เอเยนซี่ที่รับประกันผลงาน เราจะได้มีเวลาโฟกัสกับงานของเราเองครับ
โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเราเปลี่ยนไป เอื้ออำนวยให้เราทำงานเอง มีธุรกิจของตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแบรนด์ของเราจะเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น (และขายของได้) เมื่อผู้บริโภคหรือลูกค้ามีตัวเลือกเยอะขึ้น คำถามคือ ทำไมเขาต้องมาเลือกแบรนด์เรา?
ไม่ว่าแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็ก การทำตลาดแบบปากต่อปากสมัยนี้ต้องต่อเนื่องกับสื่อออนไลน์ เหมือนสะพานเชื่อมต่อโลกเก่ากับโลกใหม่ครับ เพราะ ณ เวลานี้ คนแทบทุกวัย แบรนด์ทุกแบรนด์เข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ทุกประเภท คนกลุ่มนี้ทำการบ้านเรื่องผู้บริโภค คู่แข่ง แบรนด์ สินค้าและบริการมาเป็นอย่างดีทั้งนั้น ถ้าลูกค้าเราไม่ใช่นักอักษรศาสตร์ อย่าคิดและสื่อสารแบบปราชญ์รัตนโกสินทร์ครับ
Profile
กุลเดช สินธวณรงค์
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด
ด้วยประสบการณ์ทำงานในการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทดีไซน์มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านความรู้ของบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดและองค์ความรู้เพื่อทำให้บริษัทเติบโตและก้าวไปข้างหน้า การเป็นวิศวกร, นักออกแบบ, ครีเอทีฟ และเจ้าของกิจการจากการสั่งสมการทำงานที่มีความแตกต่างกันทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง