เป็นไปตามคาดหมาย หลังจาก “โปเกมอน โก” เปิดให้คนไทยได้เล่นเกม ตามล่าหาโปเกมอน ได้สร้างกระแสฮอตฮิตไปทั่วเมืองกระจายทั้งเหล่าคนดัง ดารา นักแสดง เน็ตไอดอล คราวนี้เราลองย้อนกลับมาดูที่มาของเกมที่สามารถสร้าง “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ได้ถึงเพียงนี้ เขามีวิธีคิดและการต่อยอดกันอย่างไร
ตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในบางประเทศเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา Pokémon Go ยังคงเป็นกระแสที่ใครๆ ทั้งในโลกออนไลน์ และสังคมทั่ว ๆ ไปพูดถึงกันอย่างไม่ขาดปาก
แน่นอนว่า Pokémon Go ไม่ใช่เกมโทรศัพท์มือถือเกมแรกที่สร้างกระแสระดับ “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” แบบนี้ แต่หลายคนก็เชื่อว่ามีอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากเกมอื่น และ Pokémon Go อาจจะไม่ใช่เกมประเภท “มาแล้วก็ไป” ธรรมดาๆ
Pokémon Go “เมษาหน้าโง่” ที่กลายเป็นความจริง
จุดเริ่มต้นของ Pokémon Go เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจ เพราะเดิมที่นี่คือโปรเจกต์ประจำเทศกาล “เมษาหน้าโง่” หรือ April Fools ในปี 2014 ที่มาจากไอเดียของ ซะโตะรุ อิวะตะ อดีตประธาน และ CEO ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง Nintendo และ สึเนะคะสุ อิชิฮะระ จาก The Pokémon Company ที่ร่วมมือกับ Google สร้างเกมปลอมๆ ที่ชื่อ Pokémon Challenge ขึ้นมา ด้วยไอเดียน่าสนใจกับการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นเกมสามารถค้นหา Pokémon ได้ตามสถานที่จริงด้วยการเชื่อมข้อมูลกับ Google Map จนแทบจะจำลองประสบการณ์เดียวกับการเล่นเกม Pokémon เอามาไว้ในโลกแห่งความเป็นจริง เรียกว่าเป็นไอเดียดูน่าตื่นเต้นมาก
แน่นอนว่าตอนนั้น Pokémon Challenge เป็นเพียงแค่ “เรื่องล้อกันเล่น” ถึงขั้นที่เว็บไซต์ Cnet.com ยังยอมรับว่าน่าเสียดายมาก เพราะมัน “เจ๋งเกินกว่าจะเป็นไปได้จริง” ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเพียง 2 ปี ให้หลังโปรเจกต์ Pokémon Challenge ได้กลายเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ภายใต้ชื่อ Pokémon Go
โดย Pokémon Go เป็นผลงานของ Niantic, Inc. บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ในซานฟรานซิสโก ที่โด่งดังมาจากการสร้างเกมแนวโลกเสมอจริง Ingress ที่ตัวของ ซะโตะรุ อิวะตะ เองประทับมากกับแนวคิดการผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับเกม และมีจุดที่คล้ายกับ Pokémon Go อยู่หลายจุด โดยเฉพาะการอ้างอิงแผนที่โลกจริงๆ (ซึ่งนำมาจาก Google Maps)
แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่มีเนื้อหาเป็นเกมแนวไซไฟแบบผู้ใหญ่ก็ทำให้ Ingress ไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายนัก แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ Pokémon Go ที่ไม่ใช่แค่เป็นเกม และการ์ตูนขวัญใจเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังเติบโตขึ้นมาพร้อมกับผู้คนตั้งแต่ยุค Generation X แล้ว
สุดยอดเทคโนโลยีกับอารมณ์ “Nostalgia” เล่นกันตั้งแต่เด็กเล็ก จนเด็กหนวด
Pokémon Go เป็นเกมที่อ้างเรื่องราวของ Pokémon ที่ผูกพันกับเด็กๆ ของยุคนี้จนไปถึงคนรุ่น “90s” ที่เติบโตมากับ Pokémon ฉบับขาวดำของเครื่องเกมมือถือ Game Boy ที่อายุครบ 20 ปีในปีนี้พอดี ส่วนการเล่นอ้างอิงทั้ง ตำแหน่ง GPS จากโทรศัพท์มือถือ เวลาตามนาฬิกา ข้อมูลของสถานที่จริง จนกลายเป็นประสบการณ์ที่นักเล่นเกมส่วนใหญ่ยอมรับว่า “ไม่เคยเจอมาก่อน”
ปรากฏการณ์ Pokémon Go ยังลุกลามไปถึงโลกแห่งความเป็นจริง และสร้างผลกระทบในแบบที่ไม่มีใครคาดเดามาก่อนเลยขึ้นมากมาย โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางธุรกิจของร้านค้า และบริการในบริเวณใกล้เคียงกับ PokéStops จนทำให้มีผู้ยินดีจ่ายเงินเพื่อให้สถานที่ของตัวเองได้ร่วมเป็น PokéStops เพื่อดึงดูดลูกค้ากันเลยทีเดียว
ซึ่งแน่นอนว่าในเวลาเดียวกัน Pokémon Go ก็สร้างความน่ารำคาญให้กับสังคม และมีข่าวด้านลบออกมาเช่นเดียวกัน ว่ากันว่า Pokémon Go ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้นหลายกรณี มีการร้องเรียนว่ามีผู้เล่นเกมเข้าไปหา Pokémon กันในสถานที่อันไม่สมควร ไม่ว่าจะเป็นสุสาน หรือโบราณสถาน บางครั้งก็อาจจะเป็นสถานที่ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งตัวผู้เล่นเกมและคนอื่นได้ หรือกระทั่งในคอนเสิร์ตที่นักร้องหลายคนได้ออกมาแสดงความ “รำคาญ” ต่อเหล่าผู้เล่น Pokémon Go กันเลยทีเดียว
กลายเป็นเรื่องขึ้นมาทันที ศิลปินดังอย่าง รีฮันนา ถึงกับพูดตำหนิแฟนเพลงที่เอาแต่เล่นมือถือ และเกม Pokémon Go ส่วนสมาชิกวง Slipknot ถึงกับออกมาปรามาสว่าสุดท้ายแล้วแม้จะ Pokémon Go จะสร้างความรำคาญให้กับเขามาก แต่เกมสุดฮิตเกมนี้ก็คงมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างจากเกมที่สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ในอดีตที่ “มาเร็วไปเร็ว และไม่นานหลังจากนี้ก็จะเงียบหายไปในที่สุด”
ส่งเสริม “โซเชียล” ในโลกแห่งความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม คนในวงการเกมกลับเชื่อลึกๆ ว่า Pokémon Go มีอะไรแตกต่างจากกระแสเกมฮิตที่ผ่านมา
ขณะที่ Angry Birds มีจุดขายสำคัญอยู่ที่ “วิธีการเล่น” และมีทางเลือกในการเล่นเกมให้ประสบความสำเร็จหรือ “ชนะ” ไม่มากแนวทางนัก แต่ Pokémon Go กลับนำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป มีคนวิเคราะห์ว่าเกมมีความใกล้เคียงกับโซเชียลมีเดียประเภท Snapchat มากกว่าเกมโทรศัพท์มือถือด้วยกันอย่าง Angry Birds ด้วยซ้ำไป เพราะเกมไม่ได้ขาย “ตัวเกม” เป็นหลักเท่านั้น แต่ยังขาย “ความสัมพันธ์” ระหว่างผู้เล่น แบบเดียวกับที่ Youtube และ Instagram ไม่ได้ประสบความสำเร็จด้วยภาพ หรือวิดีโอคลิปเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างกระแสขึ้นมาได้ด้วยการสร้างสังคมของผู้ใช้ขึ้นมาในนั้น
จากข้อมูลเบื้องต้น Pokémon GO เผาผลาญเวลาของผู้ใช้ไปถึง 43 นาทีต่อวัน ซึ่งนั่นมากกว่าเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Whatsapp, Instagram หรือ Snapchat ซะอีก และน่าจะเป็นการอาศัยเทคโนโลยี AR ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
ซึ่งสิ่งที่ Pokémon Go ทำ และแตกต่างจากบริการทางออนไลน์แทบทั้งหมดก็คือเกมเลือกที่จะส่งเสริม “การปฏิสัมพันธ์” นอกจอภาพ ผู้คนมากมายได้พบปะ และกันเพราะถึงตอนนี้ Pokémon Go ก็ยังไม่ได้ฟีเจอร์สำหรับการ สนทนา ส่งต่อข้อความ หรือแบ่งปันใดๆ ระหว่างผู้เล่นเลย แน่นอนว่าในอนาคตผู้สร้างก็น่าจะใส่ฟีเจอร์ดังกล่าวเข้ามาด้วย ซึ่งก็น่าจะช่วยขยายการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นให้กว้างขึ้นไปกวานี้อีกหลายเท่า
หาก Pokémon Go จะเป็นแค่ “Angry Bird” อีกเกมจริง
แน่นอนสุดท้ายว่ามีความเป็นไปได้สูงเช่นเดียวกันที่ Pokémon Go จะมีชะตากรรมแบบ Angry Bird หรือแอป และเกมในยุคโทรศัพท์มือถือครองเมือง ที่เกมสามารถสร้างกระแสแบบถล่มทลายในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน พร้อมหายเงียบไปเร็วกว่าที่ผู้ใช้จะรู้ตัว และมี “ของเล่นใหม่” มาให้ทดลองกันอีก ถึงตอนนี้ก็เริ่มมีข่าวว่ายอดผู้เล่นได้ตกลงไปมากแล้ว แม้ทางผู้ผลิตจะเชื่อว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของเซิร์ฟเวอร์มากกว่าก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงจากผู้เล่นในสังคมออนไลน์ Reddit ของสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่ากระแสของ Pokémon Go อาจจะไปเร็วกว่าที่คิด “ผู้เล่นประเภทเล่นเกมแบบขำๆ เริ่มเบื่อ เพราะรู้สึกว่าเกมกินแบทตารีเยอะเกินไป คนเริ่มหน่ายกับการล่า Pokémon แล้ว” ส่วนผู้เล่นอีกคนก็บอกว่าหลังผ่านมาได้แค่ไม่ถึงเดือน แอเรียที่เขาเล่นอยู่ก็แทบจะ “เงียบสนิท” ไม่มีใครมาสนใจจะปกป้องยิมอะไรอีกแล้ว
Pokémon Go อาจจะมีตัวเลขผู้เล่นถึงหลักร้อยล้านคน แต่ก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่แค่เปิด “ลอง” ไม่กี่วินาทีแล้วก็ไม่ได้แตะต้องเกมนี้อีก
Pokémon Go ยังทำหุ้นของ Nintendo พุ่งกระฉูด ก่อนที่สุดท้ายจะมีข้อเท็จจริงเปิดเผยว่าบริษัทเกมจากญี่ปุ่นจะได้รับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยจากเกมเท่านั้น เพราะแม้จะเป็นเจ้าของชื่อ Pokémon โดยตรง และรับส่วนแบ่งเพียงส่วนน้ำเท่านั้น แต่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายตัวจริงของ Pokémon Go ก็คือ Niantic นั่นเอง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ทำให้หุ้นของ Nintendo ที่พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว ตกกลับมาสู่ความเป็นจริงทันที
แต่ไม่ว่าความสำเร็จของ Pokémon Go จะยั่งยืนหรือไม่ “ปรากฏการณ์” Pokémon Go ก็น่าจะบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ในอนาคตได้ในหลายๆ มิติ ทั้งในส่วนของแนวทางในอนาคตของอุตสาหกรรมเกมเอง และการตลาดในยุค “ออนไลน์” ที่ทุกอย่างไปเร็วมาเร็วเหลือเกิน