ดร. ดอน นาครทรรพ อยู่แบงก์ชาติก็ทำงานที่บ้านได้

ใครว่างานราชการ “สบาย ๆ” เสมอไป หลายงานก็ต้องทำงานดึกดื่นล่วงเวลายิ่งเสียกว่าภาคเอกชน อย่างกรณีของ “ดร.ดอน นาครทรรพ” เศรษฐกรและนักวิจัยอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องหมดเวลาไปกับการวิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ขึ้นในองค์กร ซึ่งงานเหล่านี้กลับราบรื่นง่ายดายลื่นไหลเวลา “ทำงานที่บ้าน” เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทำงาน

“เมืองนอกมี Mass Transit ใช้เวลาแป๊บเดียว แต่ในเมืองไทยกลับเสียเวลาเดินทางเยอะ แทนที่เอาเวลามาทำงานได้อย่างเต็มที่” ดร.ดอนในชุดเสื้อเชิ้ตทับด้วยสูทสีดำผูกเนกไทเรียบแปร้เป็นทางการสไตล์นักวิชาการการเงิน เล่าถึงที่มาของ “คุณภาพชีวิต” เมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอกอยู่ในเมืองนอก ทำให้เขาไม่ลังเลใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Teleworking (ทำงานนอกสถานที่) ทันที หลังจากที่แบงก์ชาติมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านได้

หน่วยงานเอกชนอาจจะยืดหยุ่นให้พนักงานทำงานที่บ้านได้นานแล้ว แต่สำหรับภาครัฐเพิ่งจะมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าแรกๆ โดยไม่ได้เริ่มต้นจากปัญหาวิกฤตพลังงานที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงพรวดๆ อย่างทุกวันนี้ หากเป็นเพราะนโยบาย “เพิ่มประสิทธิภาพ”

และ “คุณภาพชีวิต” ของหม่อมอุ๋ย ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2549 กลายมาเป็นส่วนหนึ่งแผนกลยุทธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2550 – 2554 ก่อเกิดโครงการนำร่อง Teleworking เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2550) แบ่งเป็นรุ่นลักษณะการทำงานปกติใช้เวลาทดลอง 6 เดือน และรุ่นเฉพาะกิจการประชุมใหญ่ประจำปี BOT Symposium ซึ่งดร.ดอนก็เข้าร่วมมาแล้วทั้ง 2 รุ่น

พนักงานที่เข้าโครงการนี้ได้ต้องมีลักษณะงานที่ทำคนเดียวได้ เช่น วิศวกร ผู้ตรวจการธนาคารฯ หน่วยงานวิเคราะห์ ไอที หรือนักวิจัยอย่าง ดร.ดอน เป็นต้น โดยแต่ละคนจะได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้างานก่อนว่าควรทำงานที่บ้าน 1 หรือ 2 วันต่อสัปดาห์

“ผมอยู่ในกลุ่มทำงานที่บ้าน 2 วัน เท่ากับ 40% ของเวลาทำงานปกติ ซึ่งเหมาะกับงานวิจัยมาก” ดร.ดอนยอมรับว่า “เข้าโครงการนี้แล้วชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ ถ้าอยู่ที่ทำงานแล้วมีเรื่องชวนสะดุดบ่อย เช่น เพื่อนมาคุยด้วย จู่ๆ ก็มีงานด่วน แต่อยู่บ้านแล้วความคิดลื่นไหล” เพราะอยู่ที่บ้านได้ทำตัวสบายๆ ทำให้ดร.ดอนไม่ต้องผูกไท เป็นทางการชวนอึดอัด แต่สามารถทำงานในชุดนอน เดินเล่น พูดคุยกับตัวเองก็ยังได้ เบื่อก็ออกกำลังกาย แล้วค่อยมาคิดงานต่อ…เมื่อสุขภาพจิตดี งานก็งอกเงยงดงาม

นอกเหนือจากผลงาน แบงก์ชาติใช้ระบบตรวจสอบการทำงานที่บ้านหลายช่องทาง เช่น สุ่มโทรศัพท์หา เดินทางไปเยี่ยมเยียน ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ) แต่ก็เป็นไปในลักษณะ “เชื่อใจ” มากกว่า เพราะคัดมาแล้วจากคนที่มีระเบียบวินัยและผลงานดี มาเข้าโครงการ Teleworking ทำให้มั่นใจว่าพวกเขาจะไม่แอบเอาเวลางานไปเดินช้อปปิ้งเที่ยวเตร่แน่ๆ

“ถ้าผมไปดูหนังก็รู้สึกผิดต่อโครงการ เพราะเรามีข้อตกลงกันแบบนั้น แต่ถ้าไม่มี ผมก็อาจจะออกไปพักผ่อนบ้างก็ได้” อีกเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิก ยิ่งต้องทำให้ดร.ดอนอยากเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนรุ่นต่อๆ ไป

อย่างน้อยๆ พนักงานร่วมโครงการทุกคนต้องเขียนบันทึกทุกสัปดาห์ (Memo) ดร.ดอนก็เช่นกัน ผลที่ได้ตลอด 6 เดือนเขาให้ข้อสรุปว่า “ระบบทุกอย่างดี จะมีปัญหาก็แต่เทคโนโลยี เช่น คอนเนกชั่นอินเทอร์เน็ตติดๆ ขัดๆ บ้าง” แบงก์ชาติให้พนักงานร่วมโครงการทุกคนยืมโน้ตบุ๊กสเปกสูงก็จริง แต่ความเร็วอินเทอร์เน็ตยุคนั้นใช้ความเร็ว 512 K อาจจะสร้างความขลุกขลักให้กับการ Access ข้อมูลอินทราเน็ตจากบ้านบ้าง นอกจากนี้คือการไม่ยืดหยุ่น สลับเปลี่ยนวันทำงานที่บ้านไม่ได้ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการบางคนก็ต้องเข้าออฟฟิศเวลามีงานด่วนเข้ามาพอดี

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การทำงานที่บ้านช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของดร.ดอนได้จริงๆ “อยู่บ้านติดตามข่าวสารได้ดีกว่าที่ทำงาน เพราะผมเปิด TV ช่อง 3 ที่มีข่าวตลอดวัน” ทั้งยังเป็นการช่วยหยอดน้ำผึ้งให้ชีวิตรักหวานยิ่งขึ้นด้วย “แม้ภรรยาจะทำงานที่เดียวกัน แต่ตอนที่ผมทำงานที่บ้าน ชีวิตส่วนตัวก็ปรับปรุง เช่น เปิดประตูบ้านรอภรรยา” เขาเล่าด้วยสีหน้าเขินอายเล็กน้อย

นอกจากนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ห่างเหินกับเพื่อนร่วมงานแม้จะพบกันแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะไม่เคยพลาดการสื่อสารระหว่างกันผ่านระบบไฮเทค “นั่นเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้มีผลเสียต่อความสัมพันธ์กับเรื่องร่วมงานอย่างที่เรากลัวกันในตอนแรก” ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ประเมินผลลำบากหรือเป็นอุปสรรคต่อการเลื่อนขั้น เพราะเขาสามารถสร้างผลงานโดดเด่นทางวิชาการ จนได้รับการส่งเสริมเป็นหัวหน้าทีมสายนโยบายการเงินในเวลาต่อมาอีกด้วย

…ดังนั้น การที่ดร.ดอนกำลังจะร่วมโครงการ Teleworking รุ่นต่อไปในปีนี้อีกครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์

วิธีวัดผลโครงการ Teleworking (ทำงานนอกสถานที่) ของแบงก์ชาติ 1) ผลงาน โดยสัมภาษณ์หัวหน้างานทุกๆ 3 เดือน 2) สุ่มโทรศัพท์หาพนักงานจากเบอร์บ้าน 3) เยี่ยมเยือนพูดคุยกับพนักงานในวันทำงานที่บ้าน 4) ทุกสัปดาห์พนักงานต้องเขียน Memo 2 เรื่อง คือ 1.What went well? (อะไรที่เป็นไปด้วยดี / มีความพอใจ) และ 2. What went wrong? (อะไรที่ผิดปกติ / ไม่พึงพอใจ) 5) สอบถามจากเพื่อนร่วมงาน ทั้งในทีมและนอกทีม และคนภายนอกอื่นๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กัน

Profile

Name : ดร. ดอน นาครทรรพ
Age : 37 ปี
Education : – ปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาเศรษฐศาสตร์และสาขาวิชาชีวเคมี มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา (ทุนเล่าเรียนหลวง) – ปริญญาโท – เอก สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย) Career Highlights : 2536 – 2538
– เจ้าหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) 2545 – ปัจจุบัน
– เศรษฐกร/นักวิจัยอาวุโส/ผู้บริหารทีม สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
– อาจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์
Lifestyles : ไปงานสัปดาห์หนังสือ โปรดปรานนวนิยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวจีนกำลังภายในของโกวเล้ง เสื้อผ้าแบรนด์ G2000 รองเท้า Hush Puppies