ผู้ใช้งานกูเกิล (Google) เตรียมพบผลลัพธ์จากการเสิร์ชหาข้อมูลบนอุปกรณ์โมบายล์รูปแบบใหม่ หลังกูเกิลตัดสินใจปรับให้หน้าเพจที่มีการแสดงคอนเทนต์ไม่เหมาะสม หรือมีป๊อปอัปปรากฏขึ้นมารบกวนการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้งานให้ไม่ติดในลำดับต้น ๆ ของการเสิร์ชหาข้อมูลอีกต่อไป
ผู้พัฒนาเว็บไซต์และเว็บมาสเตอร์ที่ต้องการให้บทความหรือข้อมูลของตนเองปรากฏในลำดับต้น ๆ ของการเสิร์ชหาโดยกูเกิลอาจต้องเตรียมปรับตัวกันใหม่แล้ว โดยกูเกิลอยู่ระหว่างการพัฒนาการค้นหาข้อมูลโดยเน้นให้ถูกใจผู้ใช้งานมากขึ้น ทำให้ผลลัพธ์ในการเสิร์ชจะเลือกแสดงผลเว็บเพจที่อ่านง่าย ไม่มีป๊อปอัปกวนใจ หรือไม่มีโฆษณาเกะกะเอาไว้เป็นลำดับต้น ๆ ส่วนเว็บเพจที่ตรงกันข้าม ก็อาจถูกตัดแต้ม ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับเกณฑ์ในการวัดตัวอื่น ๆ แล้ว บางทีมันก็อาจยังมีโอกาสแสดงผลในลำดับต้น ๆ ได้อยู่ หากข้อมูลที่เว็บเพจนั้นมีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
ในการนี้ บล็อกของกูเกิลได้ระบุถึงเกณฑ์ในการวัดว่าเพจใดเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายเอาไว้ค่อนข้างละเอียด โดยเกณฑ์ที่มีผลต่อการทำให้ Ranking ตกได้แก่
1. เมื่อผู้ใช้งานคลิกลิงค์นั้น ๆ มาตามผลการเสิร์ช ทางเว็บมีการโชว์ป๊อปอัปขึ้นปิดบังข้อมูลหลักของหน้าเพจ ไม่ว่าป๊อปอัปนั้นจะแสดงผลขึ้นมาทันที หรือหลังจากที่ผู้ใช้งานเริ่มเลื่อนลงมาหาข้อมูลที่ต้องการก็ตาม
2. เมื่อคลิกเข้ามายังหน้าเพจตามลิงค์ที่กูเกิลจัดให้ กลับมาพบกับเนื้อหาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ต้องการปรากฏอยู่ก่อน โดยผู้ใช้ต้องเลื่อนเมาส์ลงไปถึงจะเจอเนื้อหาที่ตนเองต้องการ
แต่ไม่ใช่ว่ากูเกิลจะต่อต้านป๊อปอัปเสียทุกอย่าง เพราะป๊อปอัป หรือการจัดวางหน้าจอที่กูเกิลยอมรับได้ก็มีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
– ป๊อปอัปที่ปรากฏขึ้นเป็นป๊อปอัปเพื่อแจ้งข่าวสาร หรือนโยบายของเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับด้านกฎหมาย เช่น มีการใช้งานคุ้กกี้ หรือเป็นป๊อปอัปตรวจสอบอายุของผู้ใช้งาน แต่ก็ต้องสามารถมองเห็นเนื้อหาที่ต้องการได้ด้วย
– แบนเนอร์สามารถแปะอยู่ในเพจได้ เพียงแต่ต้องจัดวางให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ล่วงล้ำลงมาจนถึงส่วนของคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานต้องการ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2017 ที่จะถึงนี้แล้ว เชื่อว่างานนี้คงจะได้ใจผู้ใช้งานกูเกิลไปอีกมากโขเลยทีเดียว
สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นเพราะกูเกิลทราบดีว่า การเสิร์ชหาข้อมูลในปัจจุบันนั้น ได้เปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปไปอยู่บนอุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ดังนั้น หากลิงค์ที่พาผู้ใช้ไปยังข้อมูลที่ต้องการเป็นหน้าเว็บเพจที่อ่านไม่สะดวก อ่านไปอ่านมาเจอป๊อปอัปเด้งขึ้นมากวนใจ ฯลฯ ยิ่งไม่เป็นผลดี และจะทำให้ประสบการณ์การใช้งานเสิร์ชเอนจินของกูเกิลไม่เป็นที่ประทับใจไปด้วยนั่นเอง
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000085011