ต้องยอมรับว่า ในขณะนี้วงการรถอัจฉริยะแบบไร้คนขับกำลังร้อนระอุสุด ๆ ทั้งจากการประกาศตัวของค่ายรถยนต์ฟอร์ด (Ford) ที่ประกาศว่าบริษัทมีแผนจะเดินหน้าผลิตรถอัตโนมัติแบบปราศจากพวงมาลัยในปี ค.ศ.2021 หรือการแถลงข่าวจากอูเบอร์ (Uber) ที่ยืนยันว่าบริษัทพร้อมแล้วในการส่งรถแท็กซี่อัตโนมัติไร้คนขับลงประเดิม ถนนในพิทส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนียในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ในมุมของผู้บริโภค เชื่อว่านอกจากความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ และตื่นเต้นแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่ผู้บริโภคต้องเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงด้วย ได้แก่
1. ‘รถยนต์’ ของท่านจะเป็นเป้าหมายใหม่ของดิจิตอลบิลบอร์ด
จากก่อนหน้านี้ที่นักการตลาดมองสมาร์ทโฟนในมือผู้ใช้งานว่าเป็นพื้นที่ในการโฆษณาที่สำคัญมากตัวหนึ่ง แต่สำหรับการมาถึงของรถอัจฉริยะที่มีกำหนดการในปี ค.ศ. 2020 ได้ทำให้นักการตลาดส่วนหนึ่งเริ่มหันมาหาตลาดใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ได้ไม่ แพ้กัน นั่นก็คือ ตลาดรถยนต์อัจฉริยะนั่นเอง โดยจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาบิลบอร์ดอัจฉริยะเกิดขึ้นมากมาย บางบิลบอร์ดสามารถแสดงผลโฆษณาได้ตามประเภทรถยนต์ บางบิลบอร์ดก็ใช้วิธีจับความเร็วรถ และเลือกโฆษณาให้เหมาะสมกับสภาพการจราจร ฯลฯ
ระบบควบคุมที่อยู่เบื้องหลังความสามารถของดิจิตอลบิลบอร์ดเหล่านี้ก็คือ AI (Artificial Intelligence) หลาย ๆ บริษัทได้นำ AI มาใช้งานด้านการตลาด โดยให้มันจดจำลักษณะรถ ชื่อ ยี่ห้อ รุ่น สี ปีที่ผลิต หรือจำแม้กระทั่งทะเบียน และด้วยพลังของ AI ทำให้มันสามารถแยกแยะรถยนต์บนท้องถนนได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถจัดการเลือกโฆษณาที่เหมาะสมกับสภาพการจราจรในขณะนั้นออกมาได้ อย่างไม่มีที่ติ
ยกตัวอย่างเช่น ในมอนทรีออล สหรัฐอเมริกา ค่ายโยเกิร์ตยี่ห้อ Dannon ได้ส่งโฆษณาดิจิตอลตัวหนึ่งที่สามารถแสดงผลได้ตามสภาพการจราจรออกมา เช่น ในสภาพการจราจรติดขัด โฆษณาก็จะโชว์ภาพของความง่วงเหงาหาวนอน (พร้อมกับแนะนำโปรดักส์ของตนเองว่าดื่มเพื่อความสดชื่น)
หรือกรณีของค่ายเดนสุ (Dentsu) บริษัทเอเจนซี่โฆษณาจากแดนปลาดิบที่พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์โดยให้มันเรียน รู้ลักษณะรถยนต์จากภาพบนทางด่วน และให้ระบบทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับภาพในฐานข้อมูลจนสามารถระบุได้ว่ารถ ที่ระบบเห็นนั้นเป็นรถยี่ห้อ – รุ่นใด และผลิตในปีที่เท่าไร ระบบนี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้งานกับการนำเสนอสินค้าให้กับรถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมาบนท้องถนน โดยหากมันพบว่ามีรถยนต์ไฮบริดจ์วิ่งผ่านมาพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก มันก็จะเสนอภาพของสินค้ากลุ่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นบนป้ายโฆษณา หรือหากพบว่าเป็นรถบรรทุกขนสินค้าที่ต้องวิ่งเป็นระยะทางไกล ๆ มันก็จะนำเสนอโฆษณากลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
ขณะที่ในอังกฤษ ก็มีการพัฒนาป้ายดิจิตอลบิลบอร์ดสำหรับรถติดไฟแดงได้อย่างน่าสนใจ โดยที่ป้ายบิลบอร์ดจะติดตั้งกล้องดิจิตอลเอาไว้ เพื่อให้มันจับแผ่นป้ายทะเบียนหน้ารถของคันที่จอดติดไฟแดงคันแรก จากนั้นก็นำทะเบียนมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่ารถคันนั้นยี่ห้ออะไร สีอะไร รุ่นอะไร ผลิตปีไหน กันเลยทีเดียว แต่ยังไม่พอ ป้ายโฆษณาดิจิตอลป้ายนี้ยังสามารถส่งข้อความทักทายไปยังรถคันดังกล่าวได้ ด้วย เช่น ‘Hello, you in the silver hatchback,’ ขณะที่ภาพบนบิลบอร์ดก็จะโปรโมตรถยนต์รุ่นใหม่ไปในตัว
2. คุณจะพบการทำตลาดแนวใหม่ผ่านหน้าจอภายในรถยนต์ – สมาร์ทโฟน
จากความเปลี่ยนแปลงที่พบได้ในสื่อภายนอกตัวรถแล้ว ความเปลี่ยนแปลงลำดับถัดมาก็คือ ในอนาคตอาจมีข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ยิงตรงเข้ามายังรถยนต์ของคุณมากขึ้นกว่า เดิม ทั้งข้อมูลสภาพการจราจร ข้อมูลสภาพอากาศ ข่าวสารทั่ว ๆ ไปในแต่ละวัน เช่น ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ฯลฯ รวมถึงโฆษณาด้วย
เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะในอนาคตจะเกิดการเชื่อมต่อเข้าด้วยกันระหว่างรถยนต์กับสมาร์ทโฟนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น เพื่อให้ระบบความบันเทิงในรถสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น กรณีการพัฒนา CarPlay ของค่ายแอปเปิล (Apple) ซึ่งนักการตลาดจะหาทางแทรกโฆษณาลงมาในรถยนต์ให้ได้ไม่ว่าจะมาจากทางหน้าจอ สมาร์ทโฟน หรือหน้าจอควบคุมหลักของตัวรถ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นักการตลาดส่วนหนึ่งอาจยั้ง ๆ การทำตลาดบน Connected car อยู่บ้าง เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยในระหว่างขับรถ เพราะผู้ขับขี่อาจถูกโฆษณาดึงดูดความสนใจจนไม่ทันระวัง และเกิดอุบัติเหตุตามมาได้นั่นเอง แต่ถ้าเป็นกรณีของรถอัจฉริยะไร้คนขับแล้ว การยิงโฆษณาสู่รถยนต์ก็อาจทำได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีระบบอัตโนมัติทำหน้าที่ขับให้แทนแล้ว ผู้โดยสารจึงสามารถให้ความสนใจกับหน้าจอแดชบอร์ดภายในรถยนต์ได้มากกว่าเดิม นั่นเอง
3. การถูกสะกดรอยในมิติใหม่
ข้อควรทราบประการหนึ่งของรถยนต์ที่มาพร้อมระบบ GPS ก็คือ รถยนต์คันนั้นสามารถถูกสะกดรอยได้ตลอดเวลา หากคิดจะทำ อย่างน้อยก็จากบริษัทผู้ผลิต แต่ถ้าหากนำข้อมูลตัวรถไปสืบค้นต่อ ก็ยังสามารถรู้ได้ว่า ใครคือเจ้าของรถคันดังกล่าว และโปรไฟล์ของเจ้าของรถคันนั้นเป็นอย่างไร ชอบอะไร เข้าเว็บไซต์ไหนบ้าง ติดตามข่าวสารประเภทใดอยู่ มีพฤติกรรมการซื้อของอย่างไร ดาวน์โหลดแอปอะไรมาบ้าง ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ต้องการของนักการตลาด แต่โดยทั่วไปแล้ว การจะเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้แก่บุคคลที่สาม เจ้าของรถจำเป็นต้องลงนามยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลก่อนจึงจะเปิดเผยได้ ซึ่งถ้าหากไม่มีการเซ็นต์เอกสารยินยอมใด ๆ ก็อาจมั่นใจได้ว่า ข้อมูลส่วนตัวของเราจะยังปลอดภัยในระดับหนึ่ง
รอไม่เกิน 3 ปี?!
คิดใหม่ได้เลยสำหรับใครที่คิดว่ารถขับเคลื่อนตัวเองหรือ Self Driving Car เป็นเรื่องไกลตัวที่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการพัฒนา เพราะการประเมินล่าสุดพบว่ารถขับเคลื่อนตัวเองมีความพร้อมรอบด้านจนอาจใช้ เวลาอีกไม่ถึง 3 ปีในการทำคลอดเพื่อใช้งานจริงบนท้องถนน
– Nvidia คลอดโปรเซสเซอร์ใหม่เพื่อ Self Driving Car
หนึ่งในความพร้อมที่เห็นชัดเจนของ Self Driving Car คือการเปิดตัวชิปใหม่ของเจ้าพ่อชิปกราฟิกอย่างเอ็นวิเดีย (Nvidia) ซึ่งหวังเปลี่ยนรถยนต์ให้เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ด้วยชุดชิปเซ็ต ‘ไดร์ฟ พีเอ็ซ์ ทู’ (Drive PX 2) ที่ถูกเปิดตัวครั้งแรกในงาน 2016 Consumer Electronics Show เมื่อต้นปีนี้
ชุดชิปเซ็ต Drive PX 2 ประกอบด้วยโปรเซสเซอร์ตระกูล Parker จำนวน 2 ชุดพร้อมด้วยหน่วยประมวลผลกราฟิกของ Nvidia รุ่นล่าสุดอย่างปาสคาล (Pascal) ทั้งหมดนี้ทำให้ Nvidia การันตีว่า สามารถประมวลผลคำสั่งได้มากกว่า 24 ล้านล้านครั้งใน 1 วินาที
โดยคร่าว Nvidia ประเมินการทำงานของชิป Parker ไว้สูงกว่าชิปสำหรับอุปกรณ์พกพาทั่วไปราว 50% ถึง 100% โดยทั้งหมดนี้เป็นผลจากการวิจัยร่วมกับหน่วยงานมากกว่า 80 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถ และศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยดัง เบื้องต้น ‘โวลโว่”'(Volvo) เป็นแบรนด์ที่จะทดสอบชิป Drive PX 2 ในรถเอสยูวีของตัวเองในปีหน้า
– สองผู้ผลิตชิ้นส่วนรถรายใหญ่ของโลกประกาศร่วมผลิต Self Driving Car ปี 2019
บริษัท โมบิลอาย (Mobileye) ผู้ผลิตเซ็นเซอร์สำหรับรถยนต์สัญชาติอิสราเอล และเดลฟิ ออโตโมทีฟ (Delphi Automotive) บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถดั้งเดิมที่ครองตลาดงานผลิตรถยนต์มายาวนาน ประกาศว่าจะร่วมกันพัฒนาระบบสำหรับการผลิตรถยนต์ Self Driving Car อย่างน้อยในระดับ 4 จากขั้นตอนการผลิตรถยนต์ทั้งหมด 5 ระดับ
การร่วมมือครั้งนี้สะท้อนว่าโลกกำลังจะได้เห็น Self Driving Car ในวงกว้าง สอดคล้องกับแผนการของค่ายรถทั้งนิสสันที่พร้อมลุยตลาดรถขับเคลื่อนตัวเองใน ปี 2020 ขณะที่ฟอร์ดขีดเส้นไว้ที่ปี 2021
– บริษัทสตาร์ทอัปเซ็นเซอร์รถ Self Driving Car เพิ่มทุน 90 ล้านดอลล์
อีกสัญญาณที่สะท้อนว่า Self Driving Car อาจคลอดเร็วกว่ากำหนดคือการที่บริษัทควอเนอร์จี (Quanergy Systems) บริษัทที่เพิ่งเกิดใหม่ในซิลิกอนวัลเลย์นั้นได้รับการเพิ่มทุนจนมีมูลค่าตลาดทะลุ 1,590 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเงินทุนรอบใหม่กว่า 90 ล้านเหรียญหลั่งไหลจากนักลงทุนและบริษัทหลายวงการ เพื่อให้ Quanergy ลงมือวิจัยเซ็นเซอร์อัจฉริยะเพื่อรถยนต์ในอนาคต การเพิ่มทุนมูลค่ามหาศาลนี้ตอกย้ำว่าโลกเห็นความจำเป็นของการพัฒนาเซ็นเซอร์ พิเศษที่เหนือชั้นกว่าสำหรับรถขับเคลื่อนตัวเอง เนื่องจากรถที่จะใช้ซอฟต์แวร์ขับขี่แทนคนจะต้องใช้ข้อมูลจากนานาเซ็นเซอร์ มาประมวลผลเข้ากับภาพจากกล้อง ระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งของรถและสิ่งแวดล้อมรอบด้าน รวมถึงระบบเรดาร์หลายชนิดเพื่อให้การขับขี่โดยระบบอัตโนมัตินั้นมีความ ปลอดภัยสูงสุด
ที่มา: http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000085587