Operator Phone ราคาไม่เกินหมื่น

โอเปอเรเตอร์โฟน (Operator Phone) ราคาแพงสุดไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท น่าจะเป็นโพสิชันนิ่งที่ลงตัวที่สุดสำหรับ Phoneone มือถือเฮาส์แบรนด์ของค่ายเอไอเอส

โฟนวันเพิ่งจะหาโพสิชันนิ่งที่ชัดเจนของตัวเองเจอในปีนี้หลังจากทำตลาดมา 1 ปี แต่แทบไม่มีใครรู้จัก

ซ้ำร้ายที่ผ่านมายังหลงทางทำตลาดตามเฮาส์แบรนด์เบอร์หนึ่งอย่างไอ-โมบายเสียอีกด้วย โดยมีรูปแบบการเปิดตัวมือถือด้วยการนำเสนอฟีเจอร์การใช้งานที่มีมากกว่ามือถืออินเตอร์แบรนด์ในราคาถูกกว่า แต่ลืมไปว่าผู้บริโภคไม่รู้จักว่าโฟนวันเป็นใคร

แต่พอเริ่มปรับรูปแบบการทำตลาดมาเป็น “มือถือของเอไอเอส” ก็ทำให้โฟนวันเริ่มเป็นที่พิจารณาของผู้ซื้อและเป็นชื่อที่ลูกค้าเริ่มจดจำขึ้นมาได้บ้าง อย่างน้อยก็ได้ศักดิ์ศรีของผู้ให้บริการมาการันตี

โฟนวันรู้ข้อได้เปรียบนี้ดีและนำมาเป็นจุดขาย โดยอาศัยการพัฒนาฟีเจอร์ในมือถือรุ่นใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับการพัฒนาเครือข่ายและบริการเสริม แล้วนำเสนอรูปแบบการใช้งานบริการเสริมที่เหมาะกับมือถือแต่ละรุ่นและลูกค้าแต่ละกลุ่ม

ขณะเดียวกันก็พยายามทำตลาดเพื่อลบภาพลักษณ์ของสินค้า Made in China โดยเฉพาะความเชื่อของผู้บริโภคที่ว่า โทรศัพท์ราคาถูกมักเสียง่าย ซึ่งมือถือของโฟนวันเองแม้จะมีสินค้าหลากหลายและล่าสุดเปิดตัวมือถือพร้อมกัน 4 กลุ่ม รวม 9 รุ่น แต่ไม่ว่าจะมีฟีเจอร์มากแค่ไหนราคาแพงสุดก็แค่ 9 พันบาท การตั้งราคาถูกจึงกลายเป็นปัญหาว่า จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อย่างไร

“จากที่บริษัททำวิจัยตลาดพบว่า ลูกค้าต้องการบริการและความมั่นใจจากมือถือเฮาส์แบรนด์ เราจึงขยายการรับประกันสินค้าจาก 7 วันเป็น 15 วัน รวมทั้งพัฒนาดีไซน์ให้ถูกใจกลุ่มวัยรุ่นซึ่งนิยมเปลี่ยนมือถือบ่อย โดยเลือกโรงงานผลิตในจีนที่เป็น Design House ปรับดีไซน์เข้ากับตลาดไทย และเพิ่ม Feature ใหม่ๆ ให้มากกว่าคู่แข่งที่มีสินค้าในระดับราคาเดียวกัน” ศักดิ์ชัย เลิศเวชกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดมือถือโฟนวัน บริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย (WDS) พูดถึงการแก้ไขจุดอ่อน ซึ่งเขาเชื่อว่า

หลังจากหาจุดอ่อนจุดแข็งของแบรนด์ได้แบบนี้แล้ว จะทำให้โฟนวันแข่งขันในตลาดเฮาส์แบรนด์ได้ดีขึ้น โดยในปีนี้นอกจากมีจำนวนรุ่นที่หลากหลายและราคาถูก ก็จะมีทางเลือกของมัลติมีเดียโฟนที่มากกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น มือถือ 3G มือถือที่รองรับการดูทีวี รวมทั้งมีแผนที่จะออกสมาร์ทโฟนภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

Product – มี 4 กลุ่ม 1) เบสิกโฟน 2) มัลติมีเดียโฟนใช้ได้ 2 ซิมการ์ด 3) มัลติมีเดีย TV Mobile 4) มัลติมีเดีย มิวสิกโฟนและ 3 G
Target – วัยรุ่นและลูกค้าต่างจังหวัดที่เปลี่ยนโทรมือถือบ่อย สนใจราคาและคุณสมบัติมากกว่าแบรนด์
Marketing Strategy – ชูความเป็น “Operator Phone” มีดีไซน์ ราคาประหยัด ใช้ราคาถูกเจาะตลาดแมส ทว่าสร้างกำไรด้วยรุ่นมัลติมีเดีย ขยายเวลารับประกันสินค้าให้นานกว่าคู่แข่ง กระจายสินค้าไปตามเครือข่ายของ WDS และตั้ง “ศูนย์กระจายสินค้า” ช่วยตัวแทนขายรายเล็กตามศูนย์การค้า โดยใช้งบการตลาดปี 2551 จำนวน 100 ล้านบาท
Sale Target – 8 แสนเครื่องภายในปีนี้ คิดเป็นส่วนแบ่งอย่างน้อย 4% ของตลาดมือถือรวม
Price – 1,000 – 9,000 บาท

Did you know?
ชื่อเดิมของ Phoneone คือ MFA (Mobile from Advance) ซึ่งกลายมาเป็นโพสิชันนิ่งของแบรนด์ใหม่