สินค้า FMCG ครึ่งปี 59 โตขึ้น 2.7% ชาพร้อมดื่มดิ่งสุด แต่น้ำแร่ดาวรุ่ง

กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค หรือ FMCG ได้เผยภาพรวมตลาด FMCG ในประเทศไทย ครึ่งปีแรกเติบโต 2.5% ซึ่งคาดการณ์ทั้งปีเติบโตที่ 2.7% จากที่ในปี 2558 มีการเติบโต 2.2% เป็นการเติบโตน้อยที่สุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา

การการเติบโตภาพรวมที่ 2.7% มาจากการเติบโตของสินค้าในครัวเรือน 3% กลุ่มสินค้าส่วนบุคคลโต 6.3% และกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มโต 1.2% ทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังมีการประเมินว่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคดีขึ้น

ผลวิจัยยังบอกถึงพฤติกรรมการชอปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนไป กว่า 68% ของสินค้า FMCG มีการเพิ่มขนาดและปริมาณให้มากขึ้น ในแง่ของน้ำหนักที่เป็นกิโลกรัม และลิตร เป็นผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จะเห็นได้จากจำนวนชิ้นที่ซื้อมากขึ้นในแต่ละครั้ง การเลือกซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่าด้านปริมาณต่อชิ้น และเปลี่ยนช่องทางการเลือกซื้อของ จากร้านโชห่วยมาเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต

1_fmcg

ชาพร้อมดื่มดิ่งสุด แต่น้ำแร่เป็นดาวรุ่ง

กันตาร์ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มของเครื่องดื่มเพิ่มเติม พบว่ามีการใช้จ่ายในกลุ่มเครื่องดื่มลดลงทั่วประเทศ ผู้ประกอบการ และผู้ค้าปลีกจึงมีการอัดแคมเปญกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

เซ็กเมนต์ที่ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายน้อยลงมากที่สุด ได้แก่ ชาพร้อมดื่ม ที่ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง และลูกค้าน้อยลง ส่งผลมาจากพิษของการอัดโปรโมชั่นมาตลอด เมื่อไม่มีโปรโมชั่นมากระตุ้นทำให้ผู้บริโภคหันไปดื่ม อย่าง น้ำผลไม้พร้อมดื่ม โยเกิร์ตพร้อมดื่ม ก็มีการใช้จ่ายน้อยลงด้วยเช่นกัน ส่วนกลุ่มนมถั่วเหลือง และเครื่องดื่มสปาร์คกลิ้งมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

จากกระแสเรื่องสุขภาพที่มาแรง ทำให้กลุ่มน้ำแร่ มีจำนวนผู้ซื้อสูงขึ้น รวมทั้งน้ำดื่มที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 ลิตร กาแฟพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มธัญญาหาร ส่วนกลุ่มที่มีการชอปน้อยลงคือ เครื่องดื่มชูกำลัง และฟังก์ชันนอลดริ้งก์

“กันตาร์” แนะ 4 เทรนด์สำคัญ ตลาด FMCG ต้องทำตลาดเฉพาะกลุ่ม

ถึงแม้ว่าปีนี้แนวโน้มของตลาด FMCG จะมีการเติบโตขึ้น และการจับจ่ายของผู้บริโภคทั่วประเทศทั้งที่อยู่ในเขตเมือง และเขตต่างจังหวัดจะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่อย่างไรแล้วพฤติกรรมการชอปของคน 2 กลุ่มก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ดี จากเรื่องของ “รายได้ครัวเรือน” เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้อำนาจในการจับจ่ายไม่เท่ากัน

ทำให้เป็นการบ้านให้นักการตลาดต้องมาวางกลยุทธ์ใหม่เพิ่มเติม เพราะการทำตลาดแบบแมสที่เข้าถึงคนทั่วประเทศอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรแล้ว แต่ต้องมีเรื่องแพ็กไซส์ และช่องทางจำหน่ายที่เข้ามามีอิทธิพลหลัก

กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ได้มอง 4 เทรนด์สำคัญของตลาด FMCG ให้นักการตลาดได้ปรับกลยุทธ์สินค้าตนเองเพิ่มเติม

มีแพ็กไซส์ที่คุ้มค่า และราคาที่เหมาะสม

จากผลสำรวจ 68% ของสินค้า FMCG ทีมีการเพิ่มขนาด และปริมาณมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมองหาความคุ้มค่ามากขึ้น ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แบรนด์ต้องทำแพ็กไซส์ให้คุ้มค่า ตอบโจทย์ผู้บริโภค แต่ต้องมีราคาที่เหมาะสม เพราะราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคต่างจังหวัด แต่ผู้บริโภคในเมืองมองว่ายอมจ่ายมากขึ้นเพื่อที่ได้ปริมาณมากขึ้น และคุ้มค่ามากกว่าเดิม

ทำตลาดเฉพาะพื้นที่ ในเมือง และต่างจังหวัด

ด้วยพฤติกรรมการชอปปิ้งของคนในเมืองและต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันอยู่มาก ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นเรื่องรายได้ ทำให้คนต่างจังหวัดคำนึงเรื่องราคามาเป็นอันดับแรก ผลสำรวจของกันตาร์พบว่า มากกว่า 80% ของคนในเมืองยอมซื้อสินค้าที่แพ็กใหญ่ขึ้น คุ้มค่ามากขึ้น แต่ผู้บริโภคต่างจังหวัดน้อยกว่า 60% ที่จะซื้อของแพ็กไซส์ใหญ่ขึ้น เขาเลือกที่จะซื้อของแพ็กเล็กลง ราคาถูกลง แพ็กที่ราคา 20 บาทเป็นแพ็กเกจที่ขายดีที่สุดสำหรับกลุ่มคนต่างจังหวัด

เพราะฉะนั้นนักการตลาดจำเป็นต้องทำแพ็กไซส์ที่แตกต่างกันในการทำตลาดในตัวเมืองและต่างจังหวัด และพฤติกรรมการมาชอปปิ้งในร้านก็เปลี่ยนไปด้วย คนในเมืองมีความถี่ในการมาซื้อของน้อยลง แต่มีการใช้จ่ายต่อบิลเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คนต่างจังหวัดไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากขนาดนั้น ยังมีความถี่ และการใช้จ่ายขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่โอกาส

ทำแพ็กไซส์ให้เขากับช่องทางการขาย

จากการทำแพ็กไซส์โฟกัสในแต่ละพื้นที่แล้ว แพ็กไซส์ที่จำหน่ายในแต่ละช่องทางการขายก็สำคัญ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่มาซื้อในแต่ละช่องทางก็แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น น้ำยาปรับผ้านุ่มแบบซองจะจำหน่ายที่ร้านโชห่วย และขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย 300-579 มล. ขายทั้งร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อ ขนาด 580-700 มล. ขายที่ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนขนาดใหญ่ 1 ลิตรขึ้นไป เหมาะกับช่องทางขนาดใหญ่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต แพ็กไซส์ที่เหมาะกับช่องทางการขายจะเป็นตัวช่วยอย่างดีต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

โปรโมชั่นยังคงได้ผล แต่ความเชื่อในสินค้าสำคัญที่สุด

อย่างไรแล้วโปรโมชั่นลดราคายังคงเป็นกลยุทธ์ที่มควบคู่กับการขายสินค้า จากผลวิจัยของกันตาร์พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โปรโมชั่นในส่วนของไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนในการตัดสินใจซื้อของสินค้าที่มีโปรโมชั่นได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นจากในปี 2557 มีอัตราส่วนของสินค้าที่ไม่มีโปรโมชั่น 70% สินค้าที่มีโปรโมชั่น 30% ในปี 2558 สัดส่วนของสินค้าที่มีโปรโมชั่นเพิ่มขึ้นเป็น 37.9% และปี 2559 เพิ่มเป็น 34%

แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการทำโปรโมชั่นที่จะได้เปรียบในระยะยาว ก็คือ การสร้างแบรนด์ นักการตลาดต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในแบรนด์ให้ได้ และเขาจะกลายเป็นลูกค้า แม้ไม่มีโปรโมชั่นก็ยังคงซื้อ

2_fmcg 3_fmcg