อินเดีย ถือเป็น 1 ในประเทศที่กูเกิลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นประเทศแรกที่กูเกิลตั้งสำนักงาน นอกเหนือจากในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็มองเห็นถึงโอกาสในการลงทุน และพัฒนา เพื่อช่วยให้ประชากรอินเดียสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ภายใต้โครงการต่างๆของกูเกิล
โดยข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของอินเดียที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันในอินเดียมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงในปี 2015 ถึง 350 ล้านคน จากประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน โดยจากจำนวนดังกล่าวเป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือกว่า 200 ราย และเพิ่มจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตขึ้นเป็น 420 ล้านคน โดยมาจากสมาร์ทโฟนถึง 370 ล้านคน ในช่วงกลางปี 2016 ที่ผ่านมา
สิ่งที่กูเกิล เห็นคือการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก ไม่เหมือนกันที่ผ่านมาคือกลุ่มคนที่ใช้งานอินเทอร์นเน็ตผ่านพีซีมาก่อน ทำให้พฤติกรรมในการใช้งานแตกต่างกันไป รวมถึงเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตในยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กูเกิล มีการเปิดบริการสำหรับประชากรอินเดียโดยเฉพาะ อย่าง Youtube Offline และ Google Maps Offline เพื่อให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอินเดีย สามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์ต่างๆมาเก็บไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อใช้งานระหว่างที่ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่เครือข่ายเข้าไม่ถึง ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 2 บริการ ได้ถูกนำไปใช้งานทั่วโลกในเวลาต่อมา
ล่าสุดในงาน “Google for India 2016” ทางกูเกิล ได้มีการเปิดเผย 5 บริการใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอินเดีย ที่มีพฤติกรรมการใช้งานที่แตกต่างออกไป และแน่นอนว่าถ้าประสบความสำเร็จในอินเดีย บริการเหล่านี้ก็มีโอกาสถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นๆต่อไป
บริการแรกได้แก่ “Google Station” บริการไวไฟตามสถานที่ต่างๆ ที่เริ่มจากสถานีรถไฟที่กูเกิลเริ่มทดลองให้บริการตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาโดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อไวไฟให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง ที่ปัจจุบันให้บริการแล้วกว่า 52 สถานี มีผู้เข้าใช้งานแล้ว 3.5 ล้านรายในแต่ละเดือน และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 100 สถานี ภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 10 ล้านราย และเพิ่มเป็น 400 สถานีภายในปี2018 เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้งานรถไฟในอินเดียที่มีกว่า 300 ล้านคนในแต่ละปี
แน่นอนว่า ต่อไป Google Station จะไม่ถูกจำกัดเฉพาะการให้บริการตามสถานีรถไฟ แต่จะถูกกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการให้บริการของกูเกิล ไม่ว่าจะเป็นตาม ห้างสรรพสินค้า ป้ายรถโดยสาร ในสถานศึกษา สนามบิน หรือตามสถานที่ต่างๆที่ต้องการ ซึ่งรูปแบบการให้บริการจะขึ้นอยู่กับพาร์ทเนอร์ ว่าจะให้บริการฟรี เพื่อดึงให้คนเข้ามาในสถานที่ หรือกำหนดระยะเวลาในการใช้งาน ถ้าต้องการใช้เพิ่มจะเสียค่าบริการเป็นต้น
ถัดมาคือบริการอย่าง “Google Play” ที่จะปรับปรุงเพิ่มเติม ให้รองรับการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่เป็นเทรนด์กำลังได้รับความนิยมล่วงหน้า เมื่อมีการเชื่อมต่อไวไฟ หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่า เมื่อกดลงแอปพลิเคชันแล้ว จะเลือกได้ว่าทำการโหลดในทันทีผ่านโมบายอินเทอร์เน็ต หรือจะรอดาวน์โหลดเมื่อเชื่อมต่อกับไวไฟ
นอกจากนี้ ยังมีบริการอย่าง “Chrome Offline” ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์มาใช้งานแบบออฟไลน์ได้ทั้งหน้าเว็บ และวิดีโอ ไม่นับรวมกับการพัฒนาในส่วนของ Data Saver ที่จากเดิมช่วยลดปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ 60% จากคอนเทนต์ทั่วไป ล่าสุดได้มีการอัปเดตให้สามารถลดปริมาณการใช้งานดาต้าของวิดีโอ ช่วยให้ประหยัดดาต้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้งานเพิ่มเป็น 90%
กับบริการผู้ช่วยเสมือนอย่าง Allo ที่เพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานกัน ก็จะมีการเพิ่ม ”Google Assistant in Hindi” ที่เป็นผู้ช่วยเสมือนในภาษาฮินดี เพื่อให้ผู้ใช้งานในอินเดียสามารถเข้าถึงได้จากภาษาท้องถิ่น เพื่อให้การเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆในภาษาฮินดีได้ภายในสิ้นปีนี้ และแน่นอนว่ามีโอกาสพัฒนาไปเป็นภาษาอื่นต่อในอนาคต
สุดท้ายคือ “Youtube Go” แอปพลิเคชันล่าสุดของยูทูป ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถส่งต่อวิดีโอที่เป็น Youtube Offline ให้แก่ผู้ใช้งาน Youtube Go ด้วยกัน ผ่านการเชื่อมต่อไวไฟระหว่างสมาร์ทโฟน โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้สะดวกขึ้น
เมื่อดูถึงบริการต่างๆแล้ว จะเห็นได้ว่าถูกพัฒนามาเพื่อตอบรับกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของการเข้าถึงคอนเทนต์ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้ เพื่อตอบรับกับรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศอินเดีย ที่โครงสร้างพื้นฐานในการเข้าถึงอินเทอร์เน็จยังไม่ครอบคลุม และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตยังสูงอยู่ ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000097231