ในมุมของปริมาณประชากร อินเดีย ถือเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 1.3 พันล้านคน และที่สำคัญคือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ประกอบกับด้วยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังไม่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในชนบทที่ห่างไกล
เหตุผลเหล่านี้ ถือเป็นมุมมองที่น่าสนใจของกูเกิลต่อประเทศอินเดีย ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่กูเกิลให้ความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แต่แน่นอนว่าในอีกมุมหนึ่ง เรื่องเชื้อชาติของซีอีโอ กูเกิล ‘ซันดาร์ พิชัย’ ถือเป็นอีกมุมที่น่าสนใจว่า ในเมื่อเป็นซีอีโอของบริษัทอินเทอร์เน็ตระดับโลกแล้ว การจะกลับมาพัฒนาอินเดียที่เป็นประเทศบ้านเกิดให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็เป็นสิ่งที่ดี
ด้วยการผลักดันของรัฐบาลอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่วางเป้าหมายของประเทศให้เปลี่ยนผ่านอินเดียไปสู่ยุคดิจิตอล ภายในปี 2019 ทำให้เกิดความร่วมมือกันทั้งระหว่างภาครัฐ เอกชนในประเทศและต่างประเทศ ที่ต่างผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเปลี่ยนอินเดียให้กลายเป็นดิจิตอลมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่ากูเกิลมองเห็นในส่วนของการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชากรอินเดีย เป็นเป้าหมายที่สำคัญ
จากภารกิจ ‘Next Billion Users’ ที่กูเกิลประกาศออกมาเพื่อช่วยผลักดันผู้บริโภคให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มอีก 1 พันล้านคน กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะด้วยพฤติกรรมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 3 พันล้านคนแรกทั่วโลก เมื่อเทียบกับ 1 พันล้านคนถัดมาจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ซีซาร์ เซงคุปตะ รองประธาน Next Billion Users กูเกิล ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา จะเกิดจากการเรียนรู้บนพีซี โดยเรียนรู้กับคอมพิวเตอร์ รู้จักโน้ตบุ๊ก เพื่อใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็ม ผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย แต่ในปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้งานรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่เคยใช้งานคอมพิวเตอร์มาก่อน แต่เป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ สมาร์ทโฟน
‘สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ เพื่อให้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโมบาย ได้เรียนรู้ว่า เมื่อเปิดหน้าเบราว์เซอร์บนสมาร์ทโฟนขึ้นมาแล้วควรทำอะไรหรือหาช่องทางในการอำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจให้แก่ผู้บริโภค นอกเหนือไปจากการสอนให้ใช้งานโซเชียลมีเดีย หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่างๆ’
ทั้งนี้ กูเกิล ได้กำหนดการพัฒนาให้อินเดียเข้าสู่ยุคดิจิตอลไว้ 3 ภารกิจด้วยกันคือ การเข้าถึง (Access) ที่เป็นภารกิจสำคัญในการทำให้ผู้ที่ไม่เคยใช้งานอินเทอร์เน็ต ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง ถัดมาคือ การพัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform) ไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์โฟน กูเกิล เพลย์ ยูทูป หรือโครมเบราว์เซอร์ ให้รองรับพฤติกรรมการใช้งานที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น
สุดท้ายคือ การสร้างผลิตภัณฑ์ (Product) ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน โครมบุ๊ก ทั้งจากทางกูเกิลเอง และการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ในการผลิตสินค้าให้มีราคาจับต้องได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกๆคนในโลกสามารถใช้งานได้ แม้กระทั่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบทที่มีรายได้ไม่มากนัก พร้อมกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตราคาถูกไปพร้อมๆกัน
‘Internet Saathis’ ส่งตัวแทนสอนถึงประตูบ้าน
ราจัน อนันดาน รองประธาน ภูมิภาคอินเดียและเอเชียใต้ กูเกิลให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา กูเกิล มีหลากหลายโครงการที่วางเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศอินเดีย จากช่วงปลายปีที่ผ่านมามีคนอินเดียเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 350 ล้านคน จากประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน ทำให้เกิดความร่วมมือกับ ‘TATA Trust’ ในการทำโครงการ ‘Internet Saathis’ ขึ้นมา เพื่อให้มีตัวแทน เข้าไปสอนการใช้งานอินเทอร์เน็ตตามแต่ละหมู่บ้านทั่วอินเดีย
‘สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอินเดียที่เป็นผู้หญิงมีอยู่ราว 10% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศ ทำให้กูเกิล เห็นโอกาสที่จะเข้าไปสอนแม่บ้าน หรือผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ตามชนบท ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต และช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอินเดียให้เพิ่มมากขึ้น’
โชติ เทวี หนึ่งในตัวแทนโครงการ ‘Internet Saathis’ เล่าให้ฟังว่า ได้เข้าร่วมในโครงการนี้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้เข้าไปรับการอบรมในการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเบื้องต้น พร้อมกับได้รับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต อย่างละ 2 เครื่อง พร้อมอินเทอร์เน็ตแพกเกจ 2G แบบไม่จำกัด มาให้ใช้งานเพื่อสอนคนในหมู่บ้าน
‘ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ได้สอนคนในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียงให้ได้ทดลองใช้งานอินเทอร์เน็ตไปแล้วกว่า 1,200 คน เพียงแต่ว่าจะมีราว 500 คนเท่านั้น ที่มีโอกาสในการใช้งานต่อเนื่อง จากการที่ต้องลงทุนในการซื้อสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตแพกเกจมาใช้งาน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย’
สำหรับวิธีที่ โชติ เทวี ใช้ในการสอนการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้แก่คนในหมู่บ้าน คือการใช้เวลาหลังจากเลิกงาน ในแต่ละวัน ตระเวนไปในหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อสอนให้คนรู้จักอินเทอร์เน็ตตามบ้านแต่ละหลัง ตามจำนวนเครื่องที่มีพอให้สอน ซึ่งแต่ละบ้านก็จะใช้ระยะเวลาในการสอนประมาณ 2-3 วัน
ที่ผ่านมาโครงการ ‘Internet Saathis’ ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปแล้วกว่า 1 ล้านราย โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีตัวแทนเข้าร่วมแล้วกว่า 9,000 คน ใน 25,000 หมู่บ้านในอินเดีย และเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอินเดียเป็น 650 ล้านคน ในปี 2020 โดยในจำนวนนี้กว่า 400 ล้านคนจะใช้งานบนภาษาฮินดี
‘Google Station’ ฟรีไวไฟ เพิ่มโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
การต่อยอดการให้บริการฟรีไวไฟ ตามสถานีรถไฟ ให้ออกมาสู่สถานที่ต่างๆในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ป้ายรถเมล์ หรือแหล่งที่ชาวบ้านมารวมตัวกัน กลายเป็นอีกหนึ่งนโยบายของกูเกิล ในการสร้างโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชากรอินเดีย โดยสังเกตจากความสำเร็จในการให้บริการ ‘Railways Wifi’ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
โดยปัจจุบัน Google Station ให้บริการไวไฟฟรีในสถานีรถไฟไปแล้วกว่า 53 สถานี ใน 32 เมือง มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 3.5 ล้านรายในแต่ละเดือน และเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นคนในทุกๆวัน โดยมีแผนที่จะเพิ่มการให้บริการเป็น 100 สถานีภายในสิ้นปีนี้ และเป็น 400 สถานีภายในปี 2018 เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานรถไฟในอินเดียที่มีกว่า 300 ล้านคนในแต่ละปี
‘พฤติกรรมการใช้งานที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการเชื่อมต่อกับไวไฟความเร็วสูง ทำให้ผู้ที่มาใช้งานมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการใช้งานโมบายดาต้าเฉลี่ยในแต่ละเดือนที่อยู่ราว 650 MB สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการใช้งานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอินเดียที่จะทำการโหลดคอนเทนต์ แอป วิดีโอสตรีมมิ่ง เมื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง’
การใช้งานอินเทอร์เน็ตของอินเดียส่วนใหญ่ รวมถึงในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะแตกต่างกับในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตครอบคลุม เนื่องมาจาก โอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีน้อย ทำให้เมื่อเชื่อมต่อกับไวไฟ ผู้ใช้ก็จะทำการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน โหลดวิดีโอจากยูทูปมาไว้รับชมแบบออฟไลน์เมื่อกลับไปบ้าน ทำให้ที่ผ่านมา บริการอย่าง Youtube Offline และ Google Maps Offline มีต้นกำเนิดมาจากการให้บริการในอินเดีย และล่าสุดก็มีการพัฒนาต่อยอดเป็น Youtube Go แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดคลิปวิดีโอมาเก็บไว้ในเครื่องโดยสามารถเลือกความละเอียดที่ต้องการจัดเก็บ และสามารถส่งต่อไปให้เพื่อนๆ ได้ผ่านการใช้งาน Wi-Fi Direct บนแอนดรอยด์โฟน
แม้กระทั่งในจุดเล็กๆอย่างใน Google Play ที่เป็นแหล่งรวมแอปพลิเคชันของกูเกิล ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาให้รองรับการใช้งานบนเครือข่าย 2G ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยการปรับการทำงานแอปให้ตรวจว่าเมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะทำการดาวน์โหลดข้อมูลของแอปยอดนิยมในช่วงเวลานั้นมาเก็บไว้ เพื่อให้กรณีที่ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตที่ความเร็วต่ำ ก็ยังสามารถเข้าถึงแอปต่างๆได้
รวมถึงการที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเลือกในกรณีที่ต้องการติดตั้งแอปพลิเคชัน ว่าจะให้ทำการติดตั้งทันทีผ่านโมบายดาต้า หรือเลือกติดตั้งทีหลังเมื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งถือเป็นจุดเล็กๆที่กูเกิลให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในทุกมุมโลก ไม่จำกัดเฉพาะผู้ใช้งานที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา
พยายามทลายข้อจำกัดด้านภาษา
ราจัน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาฮินดี จากการที่เปิดตัวบริการ Google Assistant in Hindi ว่า ในช่วงที่กูเกิลเปิดให้ผู้ใช้ลงทะเบียนความสนใจในการใช้งาน Google Allo ที่เป็นระบบแชตพร้อมผู้ช่วยเสมือนของทางกูเกิล มีประชากรอินเดียลงทะเบียนให้ความสนใจมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงความสนใจในบริการใหม่ของกูเกิลอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาภาษาฮินดีเพิ่มขึ้นมา
ด้วยการที่กูเกิล ใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) ดังนั้น เมื่อภาษาฮินดีมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้ระบบสามารถเรียนรู้ความถูกต้องของภาษาฮินดีได้ และนำมาปรับปรุงจนออกมาเป็นบริการสำหรับชาวอินเดียโดยเฉพาะ เหมือนกับการที่กูเกิลเริ่มมีการให้บริการคำสั่งเสียงภาษาไทย ก็จะถูกนำไปใช้ในการเรียนรู้เพื่อต่อยอดไปในอนาคต
‘การเพิ่มภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นว่ากูเกิลสามารถทลายข้อจำกัดทางด้านภาษาในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ เพราะที่ผ่านมากูเกิลเรียนรู้จากการทำระบบแปลภาษา ที่มาช่วยในการเรียนรู้ภาษาต่างๆทั่วโลก ดังนั้นโอกาสที่จะนำภาษาอื่นมาใช้งานบน Allo ก็จะเกิดขึ้นแน่นอน’
ด้วยนโยบายในการผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พร้อมไปกับการพัฒนาศักยภาพของแพลตฟอร์ม และบริการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะยังไม่ได้สร้างรายได้ให้แก่กูเกิลในปัจจุบัน รวมถึงบางบริการต้องมีการลงทุนมหาศาล แต่สุดท้ายแล้วเมื่อผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ได้เรียนรู้การใช้บริการของกูเกิล ในอนาคตฐานผู้ใช้เหล่านี้ก็จะสร้างรายได้กลับมาให้กูเกิลอย่างแน่นอน
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000098173