“ไลน์” ลุยฟินเทค ส่ง LINE FINANCE ขยับสเกลจาก Mass สู่ Niche Market

เมื่อไลน์ได้วางจุดยืนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าตนเองจะไม่ใช่แค่แชตแอปพลิเคชั่นแต่จะเป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่รวมบริการทุกอย่างที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุด ไม่ว่าต้องการบริการอะไร สามารถหาได้จากในไลน์ เหมือนอย่างที่กลุ่ม Tencent เนรมิต WeChat ในประเทศจีน ที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้

ด้วยจำนวนฐานผู้ใช้ของไลน์ในประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 33 ล้านราย มาสักพักใหญ่แล้ว การเร่งขยายฐานผู้ใช้ต่อไปก็ดูจะไม่ใช่ความท้าทายของไลน์อีกแล้ว แต่เป็นการให้ผู้ใช้ได้ใช้ไลน์ตลอด ทำให้ไลน์ต้องมีบริการใหม่ๆ ออกมา โดยที่ในช่วงปีแรกๆ ไลน์จะมีการออกบริการใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อบุกตลาดอย่างหนัก ในช่วงนั้นจึงเรียกว่าเป็นมหาชน ก็คือเป็นบริการที่แมสมากๆ ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ แต่ปัจจุบันไลน์เริ่มจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเฉพาะมากขึ้น เพราะมองเห็นโอกาสในแต่ละกลุ่ม

LINE FINANCE เป็นบริการใหม่ล่าสุดที่ไลน์ออกมาจับกลุ่มนักลงทุน นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะ จัดอยู่ในกลุ่ม ฟินเทคด้วย รูปแบบจะอยู่ในลักษณะของ Official Account ที่รวบรวมข้อมูลของการลงทุน การออม ข้อมูลหุ้นแต่ละตัว ข้อมูลกองทุน LTF และ RMF ในเบื้องต้นตอนนี้สามารถซื้อขายกองทุนได้ โดยจะเชื่อมไปยังเว็บไซต์ของพันธมิตร Stockradar ยังไม่สมารถซื้อเทรดหุ้นได้ โดยที่เลือกช่วงเวลาที่ออกบริการนี้ในตอนนี้ก็เพราะเป็นช่วงสำคัญที่หลายคนจะตัดสินใจซื้อกองทุน LTF และ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีได้

เมื่อมาดูกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุนแล้วถือว่าน้อยมาก ในประเทศไทยมีเพียงจำนวนราว 1 ล้านคนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือคิดเป็นเพียง 1.5% ของจำนวนประชากรไทย และมีเพียง 2 ล้านคนที่ซื้อกองทุน LTF และ RMF

ในมุมมองของอริยะ พนมยงค์กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อดูจำนวนผู้ลงทุนในประเทศไทยแล้วถือว่าน้อยมาก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยลงทุนน้อยก็คือทุกคนมองเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องไกลตัว เลยอยากทำให้เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องที่แมสขึ้น เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น และให้คนไทยเข้าใจการลงทุนการออมดีขึ้น

การเปิด ไลน์ ไฟแนนซ์ ไลน์ได้เลือกจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 6 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มก็คือ มืออาชีพด้านการลงทุนอย่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มของสตาร์ทอัพด้านฟินเทคอย่าง Jitta, Stock Radar และ Finnomena ที่จะมาแชร์เรื่องเทคนิคการลงทุน หรือจุดอ่อนจุดแข็งของหุ้นนั้นๆ และกลุ่มของ Content Provider ได้แก่ Stock2morrow และ Money Channel แชร์ข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนผ่านช่องทางไลน์ไฟแนนซ์

ในตอนนี้ยังไม่มีโมเดลการหารายได้จากบริการนี้ ในอนาคตอาจจะมีการหารายได้ทั้งในรูปแบบของ Revenue Sharing หรือการหาโฆษณาก็ได้

ลุยโลคอล คอนเทนต์มากขึ้น

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ LINE FINANCE เปิดให้บริการที่ไทยเป็นที่แรก ถือว่าเป็นการพัฒนา Local Content ที่ไลน์เองต้องการให้น้ำหนักตรงนี้มากขึ้น เพราะด้วยตลาดประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญ เมื่อต้นปีก็ได้ออก LINE MAN ที่เป็นโลคอล คอนเทนต์ที่พัฒนาในไทยเป็นบริการแรก ในอนาคตจะมีการพัฒนาอีกเรื่อยๆ โดยที่ทิศทางต่อไปอาจจะจับกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ไม่เป็นบริการที่ Consumer หนักๆ เหมือนที่ผ่านมา

ประกอบกับในช่วงนี้เทรนด์เรื่องฟินเทคมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมาก มีผู้เล่นหลายรายทั้งรายใหญ่ ธนาคาร และสตาร์ทอัพก็ลงมาเล่นกันเยอะ ไลน์จึงขอพื้นที่ในการจับจองฟินเทคด้วย

ในส่วนเบื้องหลังของการพัฒนา LINE FINANCE นั้น ได้ใช้เวลาพัฒนาอยู่เดือน เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจากไลน์ ประเทศไทย เพราะมองเห็นแนวโน้มหรือทิศทางเรื่องการลงทุนในประเทศไทยมีสูงขึ้น คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น แต่ยังมีคนลงทุนอยู่จำนวนน้อย

word_icon

จริงๆ กลุ่มคนที่ชอบเรื่องการลงทุนมีกลุ่มไลน์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว และจะเห็นพฤติกรรมของทุกคนเลยว่าเวลาเจอบทความดีๆ ก็จะแคปเจอร์หน้าจอ หรือคัดลอกข้อความจากที่อื่นมาแปะลงในกลุ่ม ซึ่งก็มองว่าจะดีกว่ามั้ยถ้าจะรวบรวมข้อมูลทุกอย่างมารวมอยู่ในที่เดียวเพื่อความสะดวก ในอนาคตก็มองหากลุ่มผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม เพื่อที่จะออกบริการใหม่ๆ สำหรับเขาด้วย

word_icon2

แต่การออกออกบริการใหม่ๆ ไลน์เลือกที่จะไม่ออกเป็นแอปพลิเคชั่นอีกแล้ว เพราะมองว่าตอนนี้กำลังอยู่ในยุคที่แอปฯ กำลังจะตาย เมื่อ 6 ปีที่แล้วประสบปัญหาแอปฯ ไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วง App Overload มีกว่า 2-2.5 แอปพลิเคชั่นในแอปสโตร์ ไลน์ไม่ต้องการไปแข่งขันกับแอปฯ เหล่านั้น แต่จะให้ไลน์เป็นศูนย์กลางที่รวบรวมบริการทุกอย่างเอาไว้

info_line_finanacenew