เปิดสูตรปั้น “โออิชิ อีทเทอเรียม” อัพลุคแบรนด์ร้านอาหารสู่ยุคโออิชิ 4.0

การแข่งขันในตลาดร้านอาหารยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องไม่แพ้ตลาดอื่นๆ ด้วยในปัจจุบันมีประเภทร้านอาหารมากมายทั้งอาหารจานด่วน ไก่ทอด อาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีกระแสความนิยมที่มาไว และไปไว ทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องปรับตัวเพื่อสู้ศึก

โออิชิเป็นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์แรกๆ ที่เริ่มทำตลาดในประเทศไทยเมื่อ 17 ปีก่อน ได้เปิดแบรนด์โออิชิ บุฟเฟต์แต่ด้วยความที่แบรนด์มีอายุเยอะเติบโตมาพร้อมกับคนยุค Gen X ทำให้โออิชิดำเนินยุทธศาสตร์ในการรีเฟรชแบรนด์ในเครือทั้งหมดสู่ยุคโออิชิ 4.0” ที่มีการปรับแบรนด์ให้ทันสมัย และนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท

ในปีที่ผ่านมานี้โออิชิได้เริ่มรีเฟรชแบรนด์ชาบูชิก่อน เพราะเป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้มากที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 64% โออิชิ บุฟเฟต์ 19% โออิชิ ราเมน 10% และอื่นๆ 7% การรีเฟรชแบรนด์ให้ชาบูชิเป็นในเรื่องของการปรับเมนูบางส่วน เพิ่มเมนูใหม่ๆ เข้าไปเพื่อตอบรับกับผู้บริโภคกลุม่หลักที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น

02_oishi

แบรนด์ต่อมาที่มีการรีเฟรชก็คือโออิชิ บุฟเฟต์รีเฟรชโดยการปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาก็คือโออิชิ อีทเทอเรียม (Oishi Eaterium)” เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลพระราม 9 ทำเลเดิมที่โออิชิ บุฟเฟต์เคยอยู่ วางจุดยืนเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นบุฟเฟต์ระดับพรีเมียมแมส ราคา 659 บาท อยู่กึ่งกลางระหว่างโออิชิ แกรนด์ที่อยู่ระดับพรีเมียม ราคา 895 บาท และโออิชิ บุฟเฟต์ ราคา 539 บาท

ที่มาของชื่อโออิชิ อีทเทอเรียม มาจาก 3 คำรวมกัน ได้แก่ Eat+Explore+Premium ให้ความหมายถึงการทานอาหาร การค้นหาสิ่งใหม่ๆ และอยู่ในระดับพรีเมียม

โอกาสที่โออิชิมองเห็นและทำให้ปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ด้วยกลุ่มเป้าหมายของโออิชิ บุฟเฟต์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Gen X คือกลุ่มครอบครัว และกลุ่มผู้ใหญ่ แต่ในขณะที่แบรนด์เติบโตไปเรื่อยๆ มีกลุ่มคนรุ่น Gen Y และ Gen Z เพิ่มมากขึ้น เลยมีช่องว่างเกิดขึ้น จึงได้สร้างแบรนด์ใหม่เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ โดยที่ทำการทยอยปรับโฉมร้านโออิชิ บุฟเฟต์บางสาขาเป็นโออิชิ อีทเทอเรียม ขึ้นอยู่กับทำเล เน้นพื้นที่ที่มีกลุ่มครอบครัว และกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ

01_oishi
ไพศาล อ่าวสถาพร

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่าความเป็นมาของการสร้างแบรนด์โออิชิ อีทเทอเรียมมองเห็นอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบทานอาหารญี่ปุ่นที่หลากหลายมากขึ้น และด้วยการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ออกมาเช่นคาเฟ่ บริโทร โออิชิ อีทเทอเรียมก็เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีเมนูที่หลากหลายขึ้น

ไพศาลได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า อย่างแบรนด์ชาบูชิภาพที่เพิ่งรีแบรนด์ไป ยังเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้แก่มาก ยังอยู่ในเทรนด์ที่คน Gen Y ยังอินอยู่ เพียงแต่ปรับคอนเซ็ปต์ใหม่นิดหน่อย แต่แบรนด์โออิชิ บุฟเฟต์เป็นแบรนด์ที่มีมานานแล้ว ให้ปรับใหม่ หรือไปเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าเลยคงยาก จึงได้สร้างแบรนด์ใหม่โออิชิ อีทเทอเรียมเพื่อจับกลุ่มคนเจนใหม่ๆ เลย

นอกจากในเรื่องของราคาที่สูงขึ้นกว่าโออิชิ บุฟเฟต์ ความแตกต่างของโออิชิ อีทเทอเรียมจะมีเมนูอาหารญี่ปุ่นร่วมสมัยมากขึ้นอย่างเช่น สุกี้ยากี้ เทปันยากิ ซาซิมิ ข้าวปั้น และเมนูของหวานเป็นคากิโกริ

สาขาแรกที่ประเดิมนั้นก็คือเซ็นทรัลพระราม 9 สาขาต่อไปก็คือซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์จะทำการปรับจากโออิชิบุฟเฟต์ ในปี 2560 มีแผนจะเพิ่มสาขาของอีทเทอเรียมเป็น 4 สาขา ใช้งบลงทุนราว 20-25 ล้านบาท/สาขา ในพื้นที่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป ทำให้ในตอนนี้โออิชิ บุฟเฟต์มีสาขาเหลืออยู่ 15 สาขา

อัพแบรนด์สู่ยุคโออิชิ 4.0”

ในปีที่ผ่านมาโออิชิได้ทยอยปรับลุคให้แต่ละแบรนด์ในเครือมา 2 แบรนด์แล้ว แบรนด์ต่อไปจะเป็นของนิคุยะ และคาคาชิ จะเป็นในรูปแบบของการปรับเมนู และปรับภาพลักษณ์เช่นกัน

ซึ่งไพศาลได้บอกเลยว่าในปี 2560 จะเป็นโออิชิ 4.0 จะทำการรีแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้งหมดให้ครบก่อนเดือนกันยายน

โออิชิ 4.0 จะเน้นในเรื่องของการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ไม่ได้เล่นโปรโมชั่นมากมายเหมือนในปีก่อนๆ รวมทั้งมีการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ภายในร้านมากขึ้น อย่างที่โออิชิ อีทเทอเรียมใช้เป็นการ์ดในการสั่งอาหาร เพื่อความสะดวกมากขึ้น

1_oishi_new

2_oishi