ตลาดอีมันนี่ หรือการทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์ ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ต่อเนื่อง นอกจากจะได้เห็นผู้เล่นรายใหญ่จากต่างชาติ และผู้เล่นรายใหญ่ในไทยมาบ้างแล้ว รายย่อยๆ ก็ลุยตลาดนี้บ้าง “Pay For U (เพย์ ฟอร์ ยู)” อี–วอลเลทสัญชาติไทยก็ขอลงสนามนี้บ้างเหมือนกัน
เพย์ ฟอร์ ยู ได้เริ่มเปิดทดลองให้บริการมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 วางจุดยืนเป็นอีวอลเลทที่เป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ สามารถใช้จ่ายบิล เติมเงิน บริหารโดยบริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด หรือ IPPS ซึ่งได้แตกบริษัทออกมาจากบริษัท อินเทอร์เน็ต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรไวด์เดอร์ จำกัด หรือ ISSP อยู่ในวงการเทคโนโลยีมากว่า 20 ปีแล้ว ให้บริการในเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ และคราวน์
การทดลองตลาดมาได้ 1 ปี ทำให้เพย์ ฟอร์ ยูมีฐานลูกค้าราว 1.5 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าใช้บริการจ่ายบิล และเติมเงินต่างๆ ในปี 2560 จึงเตรียมบุกตลาดเต็มที่เพราะมองเห็นโอกาสของตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปิดกว้างกับการจ่ายเงินแบบอีวอลเลทแล้ว
แต่การที่จะเข้ามาบุกตลาดในตอนนี้และวางโพซิชั่นเป็นเพียงแค่อี–วอลเลท หรือเพย์เมนต์ เกตเวย์อย่างเดียวก็อาจจะดูช้าเกินไป เพย์ ฟอร์ ยูเลยเพิ่มจุดขายด้วยการวางจุดยืนเป็น Business Platform ด้วยการที่มีพันธมิตรร้านค้าต่างๆ ที่ต้องการมีร้านค้าออนไลน์ หรือถ้ามีหน้าร้านอยู่แล้วก็เชื่อมกับระบบจ่ายเงินของเพย์ ฟอร์ ยูได้ โดยเพย์ ฟอร์ ยูจะให้คำปรึกษาด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย และหารายได้ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมจากยอดขายของร้านค้าราว 3% ปัจจุบันมีพันธมิตรรายใหญ่อยู่ราว 10 ราย ตั้งเป้าให้ครบ 100 รายในปีหน้า
ดร. กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด “คิดว่าตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปิดรับแล้ว ช่วงเวลาตอนนี้เหมาะแก่การทำตลาด เพราะเทคโนโลยีเริ่มมาธุรกิจต้องติด 4G อีกทั้งปัจจัยเรื่องอีคอมเมิร์ซก็เติบโตขึ้นมาก็เป็นตัวกระตุ้นเรื่องอีมันนี่ แต่ทางเพย์ ฟอร์ ยูไม่โฟกัสแค่อีวอลเลท หรือเพย์เมนท์อย่างเดียว ทำให้เหมือนกับผู้เล่นรายอื่น แต่วางจุดยืนให้เป็นผู้ช่วยของธุรกิจด้วย มีพันธมิตรร้านค้า”
ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือเพย์ ฟอร์ ยูได้เริ่มนำเทคโนโลยี QR Pay เข้ามาใช้ซึ่งการจ่ายเงินรูปแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมในประเทศจีน อินเดีย และกำลังเปิดตัวที่สหรัฐอเมริกา WeChat Pay ก็มีการใช้จ่ายด้วยรูปแบบนี้ ซึ่ง QR Pay จะสามารถช่วยลดต้นทุนของร้านค้าในการติดตั้งเครื่องชำระเงินได้ จากเดิมอาจจะต้องติดตั้งเครื่องรูดบัตรเครดิต แต่ตอนนี้แค่ทำ QR Code ขึ้นมา ก็จ่ายเงินได้เลย โดยที่จะเข้าไปพ่วงกับอีวอลเลทของเพย์ ฟอร์ ยู
การบุกตลาดอย่างหนักในปีหน้า เพย์ ฟอร์ ยูได้วางงบการตลาด 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้กับงบโฆษณดิจิทัลเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ตั้งเป้ารายได้ 200 ล้านบาทในสิ้นปี 2560 และมีฐานลูกค้าเติบโตขึ้น 50% เป็น 2.2-2.3 ล้านราย จากปัจจุบันมี 1.5 ล้านราย