รู้จัก ‘Dolfin’ น้องใหม่ตลาด ‘e-payment’ กับแนวคิดมาก่อนหรือหลังไม่สำคัญ เพราะศัตรูเดียวกันคือ ‘เงินสด’

รุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง

ถือว่าเป็นน้องใหม่ในตลาด ‘e-payment’ ไทย เพราะ ‘ดอลฟิน’ (Dolfin) เพิ่งให้บริการได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านราย และมีการทำธุรกรรมกว่า 100 ล้านทรานแซกชั่นต่อเดือน อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จุดยืนของ Dolfin ก้าวต่อไปในตลาด รวมถึงมุมมองของตลาด e-payment ไทยจากนี้ คุณรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จะมาไขข้อสงสัยให้ฟัง

พ่อ-แม่ใหญ่ได้เปรียบ

Dolfin เกิดจากการร่วมทุนสองบริษัท คือ กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มเจดี ดอทคอม (JD.com) บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ซึ่งมีบริษัทเจดี ดิจิทส์ (JD Digits) ที่ทำด้านเทคโนโลยีฟินเทคมาช่วยหนุนด้านเทคโนโลยี โดยมีทุนจดทะเบียน 8,000 ล้านบาท และแน่นอนว่าที่ยอดใช้งานของ Dolfin เติบโตได้เร็วส่วนหนึ่งก็มาจากอีโคซิสเต็มส์ในเครือเซ็นทรัล ที่ทำให้มีจุดรับชำระที่มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นห้างเซ็นทรัล, ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านอาหารในเครือซีอาร์จี และแฟมิลี่มาร์ท มีจุดเติมเงินผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (CenPay) กว่า 1,900 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นพันธมิตรกับ ‘พร้อมเพย์’ ที่มีจุดรับชำระกว่า 4.5 ล้านจุด

“จุดสำคัญที่ทำให้คนใช้คือ เน็ตเวิร์กของจุดรับชำระและเน็ตเวิร์กของคนใช้ ต้องเติบโตอยู่ในลักษณะที่สมดุลกัน อะไรมาเร็วเกินก็ไม่ได้ ต้องก้าวไปพร้อม ๆ กัน แต่ Covid-19 หรือบรรยากาศแบบนี้ก็เป็นจังหวะที่ทำให้คนเปิดใจทั้งร้านค้าทั้งลูกค้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนมาสมัครใช้งานอย่างง่ายดาย เราก็จะต้องมี marketing promotion”

มาช้ามาก่อนไม่สำคัญ เพราะ เงินสด คือศัตรูตัวจริง

เราไม่ได้มองใครเป็นศัตรู เพราะศัตรูที่เราแข่งอยู่คือ ‘เงินสด’ ตอนนี้ไทยมีการใช้ e-payment ไม่ถึง 3% ขณะที่จีนไปเกือบ 100% ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดทุกรายยังต้องวิ่งตามหาความฝัน แต่ข้อดีของการเป็นแพลตฟอร์มคือ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมี 1 ราย อาจจะมี 2 wallet ในโทรศัพท์เดียวกันก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น แต่วันที่ไทยกลายเป็นสังคมไร้เงินสด จากนี้ถึงจะเป็นช่วงต้องแข่งขัน เพราะถ้าลูกค้าชินกับแอปไหน ก็จะใช้แอปนั้น น้อยครั้งที่จะข้ามกัน แต่โจทย์แรกคือ ต้องชนะเงินสด ขณะที่เราธนาคารก็ไม่ได้ไปแข่ง แต่เป็นพันธมิตรกันในการช่วยเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กต่าง ๆ แลกกับการส่งต่อเทคโนโลยี เช่น Biomatrices, Facial Recognition เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถประเมินได้ว่าการจะไปจุดนั้นจะใช้เวลานานแค่ไหน อาจจะ 3 ปี หรือ 10 ปี เพราะมีหลายปัจจัยไม่ใช่แค่ผู้บริโภค เช่น หากธนาคารแห่งประเทศลดการผลิตธนบัตรหรือเลิกพิมพ์ธนบัตร แน่นอนว่าสังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นทันที ซึ่งปัจจุบันภาครัฐก็ผลักดันเต็มที่ อย่างการมีพร้อมเพย์ หรือแอปเป๋าตัง ซึ่งมันผลักดันให้ประชาชนไม่ต้องกลัวดิจิทัล

“ตอนนี้คนยังมีความเขินในการใช้คิวอาร์โค้ดอยู่ ซึ่งมันยังห่างไกล ดังนั้น การมาก่อนไม่ได้แปลว่าผู้ชนะ เพราะศัตรูตัวฉกาจของเราคือ เงินสด เพราะตอนนี้มันยังไม่ใช่ New Normal ตอนนี้โจทย์ของผู้เล่นทุกรายคือ ต้องทำให้เขาใช้แบบไม่เขิน เพราะมันยังดูเป็นของที่พิเศษ ตอนนี้เขาเริ่มเปิดใจแล้ว และเขาก็มองว่ามาแน่นอน”

เพย์เมนต์แค่จุดเริ่ม ของจริงจะมาอีก 6 เดือน

เพย์เมนต์ เป็นเครื่องมือทำให้เรารู้จักลูกค้า และมีรายได้มาจากค่าธรรมเนียมของร้านค้า แต่ไม่ได้คิดจะทำเป็นรายได้หลัก เพราะ Dolfin วาง Position ตัวเองเป็น Digital Financial Platform โดยเตรียมจะเข้าเปิดบริการอีก 3 รูปแบบ ได้แก่ ปล่อยเงินกู้ (loan), ขายประกัน (insurance) และ การจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) โดยใน 6 เดือนจากนี้จะเริ่มปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล โดยใช้ ‘Data’ สามารถทำได้ผ่านมือถือ ไม่ต้องใช้เอกสารหรือเดินทางไปธนาคาร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ลูกค้าต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูล อย่างไรก็ตาม การจะต่อยอดไปสู่การปล่อยกู้ให้กับร้านค้าพาร์ตเนอร์ยังต้องใช้เวลา แต่ระบบพร้อมแล้ว

“ในไทยมีผู้เล่นรายใหญ่ 5 ราย ไม่รวมรายเล็ก และทุกคนคงมีแนวคิดการเป็น Digital Financial Platform แต่มองว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ครบ เพราะผู้เล่นอื่นอาจจะยังโฟกัสที่เพย์เมนต์ บางรายอาจจะทำเป็นระบบปิด ใช้ในเฉพาะแพลตฟอร์มตัวเอง แต่เราวางตัวตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นระบบเปิด”

สิ้นปีโต 2 เท่า คืนทุนใน 5 ปี

ภายในสิ้นปีนี้ เราเพิ่มร้านค้านอกเครือเซ็นทรัลเป็น 15,000 ร้านค้า จากปัจจุบันมี 2,000 ร้านค้า และตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้เป็น 2 เท่า หรือ 2 ล้านราย ซึ่งจะโฟกัสไปที่คนรุ่นใหม่เป็นหลัก เพราะเข้าถึงได้ง่าย โดยปัจจุบันผู้ใช้งาน Dolfin เฉลี่ยอายุที่ 18-40 ปี แต่ภายใน 3-5 ปีจากนี้ Dolfin ตั้งเป้าทำรายได้ให้คืนทุน และมั่นใจว่าลูกค้าที่ใช้งานจะมาจากทุกช่วงอายุ

“สินค้าเทคโนโลยีราคาจะถูกลงเรื่อย ๆ เพื่อให้สเกลได้ เหมือนกับการสร้างแพลตฟอร์ม ดังนั้นถ้าเราจะคืนทุน ก็ต้องเมื่อมันสเกลได้ อย่างที่จีนคนใช้ e-wallet ทุกช่วงอายุ เหมือนกับเงินสดที่ใช้ได้ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ และเราเองต้องการสู้กับเงินสด ดังนั้นเราต้องออกแบบให้กับทุกกลุ่มใช้ได้”

ความเชื่อมั่น หัวใจสำคัญที่ท้าทาย

ในสมัยหนึ่งเราไม่กล้าใช้บัตรเครดิต เพราะกลัวคนเอาไปใช้รูด หากบัตรหาย แต่ตอนนี้คนไม่กลัวแล้ว เพราะอยากสะดวกมากกว่า เช่นเดียวกับ e-payment คนยังกังวลว่าปลอดภัยไหม ดังนั้น การให้ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะนำพาซึ่งความเชื่อมั่น อย่าไปกลัว เพราะมันหนีไม่ได้ มันมาแน่ แต่ต้องใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด เพราะทุกอย่างมันมีกฎหมายกำกับอย่างชัดเจน และไม่มีผู้ให้บริการคนไหนอยากให้เกิดข้อผิดพลาด