ย้อนรอย ‘JD Central’ ยักษ์ใหญ่ที่กำลังโบกมือลาอีคอมเมิร์ซไทยตามรอย ‘11Street’

หากพูดว่าตลาด อีคอมเมิร์ซ ไม่หมูก็คงไม่เกินจริงนัก เพราะมองจากข้างนอกก็คงจะเห็นว่าแต่ละแพลตฟอร์มนั้นเผาเงินทำการตลาดรวมถึงโปรโมชันต่าง ๆ กันหนักมาก นับเฉพาะแค่ ดับเบิลเดย์ ที่มีให้เห็นแทบทุกเดือนนักช้อปเคยชินกันไปแล้ว ดังนั้น สายป่าน ไม่ยาวจริงก็คงต้องยกธงขาวยอมแพ้ไป เหมือนที่ 11Street เคย และ JD Central ที่กำลังจะไป

ก่อนมี JD Central เคยมี 11Street มาก่อน

ย้อนไปเมื่อปี 2012 ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซรายแรกสุดที่เข้ามาทำตลาดในไทยก็คือ ลาซาด้า (Lazada) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งในปี 2014 ลาซาด้าก็ได้ถูก อาลีบาบา (Alibaba) บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนมาซื้อไป ซึ่งนั่นก็ยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มในการที่จะ เผาเงิน ทำโปรโมชันในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

หลังจากที่ลาซาด้าทำตลาดได้ 2 ปี ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ ซี กรุ๊ป (Sea Group) สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของภูมิภาคที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม Garena ที่คอเกมบ้านเราน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ใน Sea Group ก็คือ เทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน พูดง่าย ๆ ว่า 2 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ต่างมีแบ็กจากจีนทั้งหมด

ถัดมาในปี 2016 ก็มีอีคอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลีใต้ลองของเข้ามาทำตลาดในไทยโดยใช้ชื่อว่า อีเลฟเว่น สตรีท (11Street) ที่มี เอสเคเพลนเน็ท ถือหุ้นใหญ่ภายใต้กลุ่ม เอสเค เทลเลคอม ช่วงแรกใช้เงินกว่า 1,000 ล้านบาทในการลงทุน ในจำนวนนี้เป็นงบการตลาดมากถึง 300 ล้านบาท ถึงขนาดดึงซุปตาร์จากเกาหลี ซงจุงกิ ประกบนักแสดงสาว มิว–นิษฐา จิรยั่งยืน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่ที่สุดก็ต้อง ม้วนสื่อกลับบ้าน หลังเข้ามาเปิดธุรกิจเพียงสองปีเศษเท่านั้น

5 ปีในตลาดของ JD Central ยังห่างชั้นผู้นำ

หลังจากที่อีเลฟเว่น สตรีท ต้องยอมแพ้ มาปี 2018 ก็มีผู้เล่นคนใหม่เข้ามาในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยซึ่งก็คือ JD Central (เจดี เซ็นทรัล) โดยที่หลายคนเชื่อว่าจะมาสามารถแข่งกับ 2 แพลตฟอร์มเจ้าตลาดได้ เพราะเป็นการร่วมทุนของ JD.Com อีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของจีนที่อยู่ในตลาดนานกว่า 20 ปี และ เซ็นทรัล กรุ๊ป โดยการร่วมทุนครั้งนี้มีวงเงินกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17,500 ล้านบาท ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกลายเป็นพื้นที่ขับเคี่ยวของทุนยักษ์ใหญ่จากจีน

แน่นอนว่าการแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยนั้นดุเดือดมาก อย่างลาซาด้าเองก็ขาดทุนมาโดยตลอด หากนับเฉพาะปี 2017-2019 ลาซาด้า ขาดทุนสะสมถึง 6,920 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ลาซาด้านับเป็นอีคอมเมิร์ซรายเดียวที่สามารถทำกำไร โดยในปี 2020 มีกำไรที่ 226.9 ล้านบาท และในปี 2022 มีกำไรประมาณ 3,200 ล้านบาท จากรายได้รวม 38,000 กว่าล้านบาท ส่วนตัว ช้อปปี้ เองเฉพาะปี 2021 ขาดทุนประมาณ 4,900 กว่าล้านบาท จากรายได้ทั้งกลุ่มอยู่ที่เกือบ 43,000 ล้านบาท

ตัดมาที่ JD Central ที่เรียกได้ว่ายังห่างชั้นกับ 2 เจ้าใหญ่อย่างมาก แม้ว่าในปี 2021 แพลตฟอร์มพยายามจะรีแบรนด์ แถมยังได้ ก่อลาภ สุวัชรังกูร ผู้บุกเบิกตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ประเทศไทยทั้ง LINE MAN และ Gojek มานั่งตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายการตลาดคนใหม่แทนที่ รวิศรา จิราธิวัฒน์ ที่ไปดำรงตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายการตลาด บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัลแทน

แต่จากข้อมูลจากเว็บไซต์ ipricethailand.com ระบุว่า ในช่วง Q1/2022 JD Central มีผู้เข้าชมเว็บไซต์เพียง 2 ล้านกว่าราย ขณะที่ช้อปปี้มีอยู่ที่ 56 ล้านราย และลาซาด้าอยู่ในระดับ 36 ล้านราย ขณะที่ปี 2021 มีรายได้รวม 7,443 ล้านบาท ขาดทุน 1,930 ล้านบาท โดยปัจจุบัน ก่อลาภได้ย้ายไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารที่บริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด หลังจากที่ร่วมงานกับ JD CENTRAL ได้ประมาณ 1 ปี

เปิดใจ ‘ก่อลาภ’ กับภารกิจดัน ‘JD CENTRAL’ เทียบชั้น 2 เจ้าตลาด

2022 เริ่มเห็นสัญญาณไม่ดี

มาปี 2022 หลายคนน่าจะสังเกตว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยไม่ค่อยคึกคัก หลังจากที่ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากในช่วงที่ COVID-19 ระบาด แต่ในปี 2022 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกก็เจอกับปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น จะเห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีหลายรายได้รับผลกระทบ อย่าง Sea Group ก็ต้องปลดคนงาน พร้อมกับยุติการขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซใน 4 ประเทศ ได้แก่ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และอาร์เจนตินา

ขณะที่ JD.com เองก็มีข่าวว่าบริษัทได้เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และได้เรียกผู้บริหารระดับสูงในไทยกลับประเทศจีนหลายราย หลังจากธุรกิจในไทยนั้นโตไม่ได้ตามเป้า โดยรวมแล้ว JD.Com ขาดทุนสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท จากการทำตลาดในประเทศไทยและอินโดนีเซีย

ส่งผลให้ในช่วงช่วงปลายปี 2022 มีข่าวว่า JD.com เตรียม ถอนตัวจากไทยและอินโดนีเซีย เพื่อขอกลับไปเน้นธุรกิจในจีนเป็นหลักจากเดิมที่เคยต้องการบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งล่าสุด JD Central ได้ประกาศยุติกิจการในไทยโดยมีผล 3 มี.ค. 2023 เป็นต้นไป ปิดฉาก 5 ปีในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

JD.com เตรียมถอนตัวจากไทยและอินโดนีเซีย หลังจากนี้เน้นธุรกิจในจีนเป็นหลัก

ทิศทางออนไลน์ของเซ็นทรัลจากนี้

ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลได้วางโรดแมปในการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซเต็มตัว โดยก่อนที่จะร่วมทุนกับ JD.Com บริษัทได้เข้าซื้อ ออฟฟิศเมท ในปี 2012 แล้วเปลี่ยนโฉมออฟฟิศเมทเป็นบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ในปี 2015 จากนั้นก็ล้างภาพจำออฟฟิศเมทที่จำหน่ายของใช้ในสำนักงานจนกลายเป็นแพลตฟอร์ม เซ็นทรัล ออนไลน์ (Central Online) อย่างเต็มตัว ซึ่งจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ใน Q1/2022 นั้นอยู่ที่ 2.5 ล้านราย นับเป็น อันดับ 3 ซึ่งสูงกว่า JD CENTRAL แพลตฟอร์มที่ร่วมทุนกับ JD.Com เสียอีก

และในส่วนของ Central App ก็มีอัตราการเติบโตของยอดดาวน์โหลดเพิ่มมากกว่า 60% จากปี 2021 และคาดว่าในปี 2022 จะมีสมาชิกมากกว่า 5 ล้านคน โดยในฝั่งของแพลตฟอร์มเซ็นทรัล ออนไลน์นี้ ทางเซ็นทรัลก็ได้วางตัวว่าจะเน้นจับ กลุ่มสินค้าพรีเมียม ซึ่งจะแตกต่างจากแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ที่เน้นขายสินค้าแมสมากกว่า

สรุป คงไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันที่ทำให้ JD.Com ตัดสินใจถอนตัวออกจากไทย แต่ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อตัวบริษัทแม่เอง รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซไทยก็ชะลอการเติบโตลงหลังจากที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ COVID-19 ระบาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่า ในปี 2023 ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2C คาดว่าตลาดอาจขยายตัวราว 4-6% ซึ่งต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 26% ต่อปี ดังนั้น หากยื้อต่อไปก็จะยิ่งเจ็บตัวเปล่า ๆ