ปิดฉาก “วันทูโก”

“แอร์โฮสเตส” “สจ๊วต” และพนักงานของสายการบิน “วันทูโก” กว่า 500 คน ที่กำลังบอบช้ำ เพราะอนาคตที่มืดมน และตกงาน หลังจาก “วันทูโก” หมดสิทธิ์เทกออฟบินขึ้นสู่น่านฟ้านับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา หลายคนในนี้ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดของผู้บริหารเป็นหลัก แต่หาก “น้ำมันไม่แพง” อย่างนี้ อนาคตของพวกเขาและพวกเธอคงไม่มืดมนขนาดนี้

“วันทูโก” อาจไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำที่ถูก “พิษน้ำมัน” จู่โจมจนธุรกิจพังเพียงอย่างเดียว หากแต่เพราะความไม่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ของการบริหารสายการบิน ทำให้สายการบินแห่งนี้ต้องบาดเจ็บหนักยิ่งขึ้นเมื่อมาเจอพิษน้ำมันแพง “วันทูโก” จึงอายุสั้นกว่าที่ควรเป็น เพราะไม่เพียงวันทูโกเท่านั้น โอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ที่มีเจ้าของคนเดียวกัน ก็อยู่ได้อยากลำบาก นี่คือความบาดเจ็บอีกรูปแบบหนึ่งของธุรกิจการบิน

หลายปีที่ผ่านมา “อุดม ตันติประสงค์ชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ เจ้าของสายการบินวันทูโก แอร์ไลน์ ต้องวิ่งเข้าออกกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคมอยู่บ่อยครั้ง เพื่อจ่ายค่าปรับจากการไม่ทำตามกฎกติกาการบินอย่างถูกต้อง บางครั้งเงินค่าปรับเป็นหลักแสน “อุดม” ยังรอจนเกือบเดดไลน์ กระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งว่าหากไม่มาจ่ายค่าปรับ จะต้องดำเนินคดีอาญา ซึ่งหมายถึงบุตรสาวที่มาเป็นผู้บริหารบริษัทจะต้องติดคุก “อุดม” จึงรีบนำเงินแสนมาจ่ายโดยทันที

วิกฤตของวันทูโก หนักขึ้นเมื่อเที่ยวบิน OG 269 เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินไถลและระเบิด ที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 17 กันยายน 2550 จนมีผู้เสียชีวิต 89 คน และถูกสอบสวนในเวลาต่อมา ว่านี่คือความผิดพลาดทีไม่ใช่เกิดจากสภาพอากาศและเครื่องบิน

การตรวจเข้มของผู้ปฏิบัติการบินของวันทูโกจึงเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง และในที่สุดกรมการขนส่งทางอากาศได้พบเอกสารปลอมเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตให้นักบิน

“ชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ” อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ต้องเร่งเปิดแถลงข่าวท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า “ผู้บริหารวันทูโก” กำลังพยายามวิ่งเต้นให้บินต่อได้

ถ้อยแถลงของ “ชัยศักดิ์” ชัดเจน และ “วันทูโก” ไม่มีเหตุผลที่ควรได้บินต่อ

“พบข้อบกพร่องสำคัญนำมาสู่การประกาศคำสั่งการพักใช้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือเอโอซี (Air Operator Certificate) วันทูโกใช้เครื่องเอ็มดี 80 ซีรี่ส์ที่ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพ สำหรับการตรวจสอบตัวเองและบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบินโดยปล่อยปละละเลยให้ผู้เช่าเครื่องบินกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคู่มือที่ได้รับความเห็นชอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยที่กรมการขนส่งทางอากาศกำหนด โดยเฉพาะการจัดตารางบินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของกรมการขนส่งทางอากาศ ทั้งเรื่องการกำหนดข้อจำกัดเวลาบินและการพักผ่อน”

พูดง่ายๆ คือ ใช้นักบินเกินข้อกำหนด จนพักผ่อนน้อย ย่อมมีอันตรายต่อการปฏิบัติหน้าที่ และความปลอดภัยของผู้โดยสาร

สาเหตุมาจากวันทูโกไม่มีระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม และไม่มีองค์กรบุคลากรที่เป็นของตนเอง โดยใช้พนักงานอำนวยการบินร่วมกับโอเรียนท์ไทย

ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือ วันทูโกปล่อยให้มีการกระทำผิดทางกฎหมาย โดยตรวจสอบพบว่านักบินจำนวน 9 คน เป็นชาวต่างชาติ 7 คน เป็นชาวอินโดนีเซีย 6 คน และชาวเวเนซุเอลา 1 คน นักบินคนไทย 2 คนยื่นผลการตรวจสอบความเชี่ยวชาญฯ กรณีฉุกเฉินกับนักบินในฝูงเครื่องบิน แบบเอ็มดี 80 ซีรี่ส์ เป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา

“หลักฐานที่จับเท็จได้คือวันที่เจ้าหน้าที่ Checker เซ็นผลการตรวจสอบนักบินนั้น เป็นวันเดียวกับที่ Checker กำลังไปปฏิบัติธรรม”

พูดง่ายๆ ก็คือ นักบินเหล่านี้ไม่ได้รับการตรวจสอบแต่อย่างใด

เพียงเท่านี้ “วันทูโก” คงยากที่จะฟื้น

วันนี้จึงยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไขสำหรับผู้บริหาร “วันทูโก” คือความรับผิดชอบต่อพนักงาน และแม้จะเจ็บหนัก แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจการบินยังคงหอมหวานสำหรับ “อุดม” ในฐานะเจ้าของธุรกิจ จึงยังคงดิ้นรน วางแผนหาคนมาร่วมหุ้นเพิ่มทุน โดยหวังสร้าง Positioning ใหม่ เลิกเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์ แต่มาอีกทีเป็นสายการบินใหญ่ เทียบชั้นการบินไทยเลยทีเดียว

Profile

วันทูโก โอเรียนท์ไทย
จำนวนนักบิน 80 คน เป็นต่างชาติ 51 คน และคนไทย 29 คน
แบ่งเป็น -นักบินโบอิ้ง 747 จำนวน 24 คน -เอ็มดี 80 จำนวน 27 คน

เส้นทางบิน ราคาตั๋ว
กรุงเทพ-เชียงใหม่ 2,050
กรุงเทพ-เชียงราย 2,050
กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี 2,050
กรุงเทพ-ภูเก็ต 2,050
กรุงเทพ-หาดใหญ่ 2,150
กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช 2,050