การปักหลักชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการชุมนุมที่กินเวลายาวนานมากกว่า 60 วัน แต่ยังได้ชื่อว่าเป็นม็อบเดียวที่มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อโทรทัศน์ตลอด 24 ชั่วโมง
ปรากฏการณ์นี้ส่งให้ ASTV กลายเป็นสถานีข่าวประเภทเรียลลิตี้แห่งเดียวที่รายงานข่าวแบบสดๆ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการผลิตรายการล่วงหน้า พวกเขาทำอย่างไรในการตรึงคนดูให้อยู่หน้าจอทีวีตลอดทั้งวันไม่ต่างอะไรกับการดูเรียลลิตี้โชว์
ยอดติดตั้งจานดาวเทียมพุ่งสูงขึ้นจนไม่พอขาย ผู้ผลิตจาน และเคเบิลท้องถิ่นใช้ ASTV เป็นจุดขายเรียกลูกค้า คือบทพิสูจน์ความสำเร็จของสถานีข่าวเรียลลิตี้
ประเมนทร์ ภักดิ์วาปี ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ASTV บอกเล่าถึงภารกิจในครั้งนี้ว่า หน้าที่หลักของเอเอสทีวี คือ การถ่ายทอดของเวทีพันธมิตรฯ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการรับผิดชอบผลิตรายการตั้งแต่ช่วงเวลา 6 โมงเช้า จนถึง 6 โมงเย็น
“ถ้าเป็นเรื่องผลิตรายการความรับผิดชอบจะแบ่งออกเป็นคนละครึ่ง ประเด็นทางการเมือง ทางแกนนำเขาจะดูแล ส่วนหน้าที่ของ ASTV จะดูแลหน้าจอ การออกอากาศ และข่าวสารที่เกิดขึ้นแต่ละวัน”
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรับชมข่าวตลอดทั้งวัน โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เนื้อหาข่าวใน ASTV จะถูกปรับใหม่ จากช่องข่าวที่มีความหลากหลาย ทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง สังคม ข่าวต่างประเทศ จะเปลี่ยนมาให้น้ำหนักไปที่ข่าวการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
“ข่าวบันเทิง กีฬา ต่างประเทศ ถ้าไม่ใหญ่จริง ก็จะถูกตัดออกไป จะเหลือเฉพาะแต่ต่างประเทศบางข่าว ที่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม เช่น การเจรจาเรื่องเขาพระวิหาร เขมร” ประเมนทร์ บอก
เริ่มตั้งแต่ข่าวช่วงเช้า แทนที่พิธีกรจะนั่งจัดรายการในสตูดิโอ ย้ายไปนั่งอ่านข่าวบนเวทีกลางแจ้ง วิธีนี้นอกจากปลุกเร้าและดึงดูดผู้ชมที่มาชุมนุมในช่วงเช้าได้มากขึ้นแล้ว ยังได้รับการตอบจากผู้ชมรายการเอเอสทีวี ด้วยลีลาการจัดรายการจากพิธีกรสาวปากกล้า ดุดันของปอง-อัญชลี ไพรรีรัก และเก๋-กมลพร วรกุล พิธีกรสาวมาแรง ทั้งรูปแบบและเนื้อหาได้สร้างรสชาติใหม่ของรายการเล่าข่าวที่แตกต่างไปจากฟรีทีวี ทำให้ข่าวภาคเช้าในช่วงเวลา 6 โมง-9 โมง ได้รับความนิยมมากที่สุดช่วงหนึ่ง
ถัดจากนั้นเป็นรายการ สภาท่าพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นรายการปกติของช่องข่าวเอเอสทีวี โดยมีสำราญ รอดเพ็ชร ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการข่าวมาหลายสิบปี มีแฟนประจำที่เป็นคอการเมือง เป็นพิธีกรยืนพื้น
ก่อนเที่ยง จะเป็นช่วงเวลาของรายการธรรมะจากท่านจันทร์ แห่งสันติอโศก ที่ขึ้นเทศน์ให้แง่คิดในเรื่องของศาสนาและธรรมะ ประกบคู่กับ ป๋อง- บัณฑิต พิธีกรหนุ่มของ ASTV ซึ่งที่มาของรายการนี้ได้มาจากการชุมนุมในครั้งแรก ที่เคยมีท่านโพธิรักษ์ พระนักเทศน์ และยังสอดคล้องกับแนวทางของการชุมนุม ที่ยึดหลักใช้ธรรมนำหน้า
หมดจากรายการธรรมะของท่านจันทร์ ช่วงเที่ยงครึ่ง รายการจะถูกตัดเข้านำเสนอรายการข่าวจากพิธีกรในสตูดิโอ เพื่อให้กล้อง เครื่องไฟฟ้าต่างๆ ที่ใช้ถ่ายทอดได้พักเครื่องประมาณชั่วโมงครึ่ง ก่อนจะตัดไปกลับไปที่เวทีอีกครั้งในช่วงประมาณบ่ายสองโมง
การนำเสนอรายการข่าวในภาคเที่ยงในสตูดิโอ จะเป็นรายงานข่าวในรูปแบบปกติ แต่จะให้น้ำหนักกับข่าวการเมืองเป็นหลัก และข่าวความเคลื่อนไหวของเวทีต่างจังหวัด ความเคลื่อนไหวต่างๆ จากศูนย์ข่าวที่กระจายอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ จะถูส่งมาที่สตูดิโอ
ช่วงบ่ายสอง รายการจะตัดกลับมาการนำเสนอบนเวทีอีกครั้ง เป็นรายการเกี่ยวกับเวทีชาวบ้าน ปัญหาเกษตรกร ปากท้องของชาวบ้าน โดยมี ยุทธยง ลิ้มเลิศวาที ทำหน้าที่พิธีกรเชี่ยวชาญข่าวชุมชน เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งก็เป็นอีกช่วงเวลาที่ตอบสนองกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ
รายการที่ทีมงาน ASTV รับผิดชอบ จะปิดท้ายของวัน ด้วยการรายงานข่างจาก 2 ผู้ประกาศข่าว เติมศักดิ์ จารุปาน และอัญชีพร กุสุมภ์ ที่ถือเป็นสองพิธีกรมือเก๋าระดับแม่เหล็ก จะมารายงานข่าว โดยคัดเลือกประเด็นร้อนๆ และสรุปข่าวต่างๆ ช่วงตลอดวัน ก่อนจะตัดเข้ารายการบนเวทีพันธมิตรฯ ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า จะเป็นหน้าที่ของทีมงานบนเวทีพันธมิตรฯ รับช่วงต่อ
แม้ว่าการรายการข่าวที่ ASTV รับผิดชอบจะสิ้นสุดในเวลา 6 โมงเย็น แต่ภารกิจของทีมงาน ASTV ไม่ได้ยุติลงไปด้วย พวกเขายังมีอีกภาระหนึ่ง คือ รับผิดชอบการออกอากาศบนเวทีตลอดต่อเนื่องตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
ทีมงาน ทั้งช่างภาพ ฝ่ายฉาก นักข่าว กว่า 500 คน ได้ถูกวางตัวเพื่อการทำงานในครั้งนี้ ที่ต้องมีการวางระบบทำงานใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการทำงานนอกสถานที่ ซึ่งต้องเปลี่ยนจากการทำงานในสตูดิโอมาบนเวทีพันธมิตร
ทีมภาพ ถ่ายทอดสดบนเวทีพันธมิตร ต้องใช้กล้องถึง 5 ตัว มีช่างภาพประจำ 5 คน การทำทำหน้าที่ของพวกเขาไม่ต่าง เวทีคอนเสิร์ตของรายการเรียลลิตี้ ได้อรรถรสในการชมรายการ สร้างอารมณ์ร่วมกับผู้มาชุมนุมมากที่สุด สีสันบรรยากาศของการชุมนุม เพื่อให้ได้มุมกล้องที่หลากหลาย
จะว่าไปแล้ว บรรยากาศของการผู้ชุมนุมในม็อบพันธมิตรฯ ครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรกับบรรยากาศของเวทีประกวดอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย หรือ เอเอฟ ที่มีแฟนคลับมาเชียร์นักล่าฝันของตัวเอง เวทีพันธมิตรฯ ก็เช่นกัน วันนี้ผู้ชุมนุมมาพร้อมกับ ป้าย แฟชั่น เสื้อผ้า และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้เป็นการแสดงถึงจุดร่วมในการมาชุมนุม
“เริ่มจากกลุ่มผู้ชุมนุมเขาก็ทำป้ายมาเชียร์ ว่าพวกเขามาจังหวัดไหน พอกล้องถ่ายไปเห็น เขาก็ดีใจ รู้สึกได้มีส่วนร่วม เพื่อนๆ แถวบ้านเห็นก็อยากมากันบ้าง ตอนหลังเลยมีป้ายมากมาย เป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น พอมาชุมนุมที เขาก็ทำป้ายอย่างดี ปรินซ์อิงค์เจ็ต ติดไฟสวยงาม กลายเป็นสีสันประจำม็อบไป ทำให้รายการมีความหลากหลาย” ประเมนทร์ เล่าถึงที่มาของ แผ่นป้ายที่เป็นสีสันหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในม็อบพันธมิตรฯ เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในม็อบโดยบังเอิญ
ฉากที่ใช้บนเวที ก็ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อให้คนดูไม่รู้สึกเบื่อ เพื่อเชื่อมโยงกับสถานการณ์ และเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ผ่านมาเปลี่ยนมาแล้ว 4 ฉาก เช่น ฉากเขาพระวิหาร วันพระ และล่าสุด วันแม่ จะเป็นฉากล่าสุดที่ได้เห็นบนเวที
นอกจากทีมภาพประจำเวทีที่สร้างสีสันรอบเวที ทีมช่างภาพ (ไม่มีผู้สื่อข่าว) อีก 5 ทีม เดินเก็บภาพรอบๆ บริเวณชุมนุมในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีการบุก หรือทำร้ายประชาชน สามารถนำมาอ้างอิงได้
ส่วนทีมช่างภาพและนักข่าวอีก 2 ทีม จะประจำอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ทีมนี้จะทำข่าวกรณีที่มีการแถลงข่าวด่วน ทำสกู๊ปพิเศษ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมต่างๆ สกู๊ปข่าวแฟชั่นในม็อบ บรรยากาศต่างๆ ที่เป็นสีสันประกอบรายการจะมาจากทีมนี้
ที่เหลือเป็นการบันทึกภาพเพื่อความปลอดภัย โดยผ่านกล้องวงจรปิด 16 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณรอบเวที และบริเวณโดยรอบ
ทางด้านทีมงานที่ต้องทำงานภายในสตูดิโอ จะมีคนทำงานสแตนด์บายตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 3 กะ โดยจะมีผู้ประกาศ 2 คน เข้าเวรทุก 8 ชั่วโมง เผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น หากฝนตกหนัก สัญญาณถ่ายทอดไม่ได้ การถ่ายทอดจะถูกส่งกลับมาที่สตูดิโอซึ่งต้องรับช่วงต่อได้ทันที
การเป็นช่องข่าวเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง การสื่อสารระหว่างคนดูเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะทางโทรศัพท์ ที่จะมีคนดูโทรศัพท์เข้ามาแจ้งข่าว บริจาคเงิน ต้องมีทีมงานทำหน้าที่รับโทรศัพท์ วันละ 2 คน สลับสับเปลี่ยน ทุกๆ 3 ชั่วโมง
และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับช่องข่าวยุคนี้ คือ ทีมงานที่คอยเลือกข้อความผ่าน SMS เพื่อขึ้นหน้าจอ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับกับข้อความจากมีแฟนรายการที่ส่ง SMS เข้ามา เฉลี่ยวันละ 5,000 ข้อความ
“ยิ่งถ้าเป็นวันที่ นายกสมัครบอกจะสลายม็อบ หรือ เฉลิม (อยู่บำรุง) บอกจะปิดรายการ ASTVยอดส่ง SMS จะขึ้นไปถึงหมื่นข้อความ…ยอดคนส่ง SMS ขนาดนี้ พอๆ กับยอดส่ง SMS ของผู้ชมรายการ AF ที่แชตผ่านหน้าจอ ไม่รวมโหวต”
ประเมนทร์ ตั้งข้อสังเกต สาเหตุที่ผู้มาชุมนุมครั้งนี้มีไม่มากเท่ากับการชุมนุมเมื่อครั้งที่แล้ว เป็นเพราะคนส่วนใหญ่จะดูผ่านรายการ ASTV ทั้งจากการติดตั้งจานดาวเทียม และจากการรับชมผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น
แฟนพันธมิตรฯ เวลานี้ ยังได้ขยายจากจังหวัด ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ไปในจังหวัดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน และชลบุรี ที่มีการรวมกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรฯกลุ่มย่อยต่างๆ
“บางทีเห็นแล้วก็ตกใจนะ เห็นพวกมาชูป้ายด้านหน้าเวที เมื่อก่อนเรามองว่าเป็นจังหวัดๆ เวลานี้ลงไปอำเภอ ชูป้ายสุขุมวิท 101 มันลงไปในชุมชนย่อยมากขึ้น ป้ายก็ปรินซ์อิงค์เจ็ต อย่างดี”
เอเอสทีวีก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสด และการทำรายการ ค่าเช่าเวที ค่าเช่าเต็นท์ ค่าน้ำมัน ค่าปั่นไฟ เครื่องเสียง เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก
แม้ว่าเสียงผู้ชมรายการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในแง่ของสินค้าที่จะมาลงโฆษณาแล้ว ประเมนทร์ บอกว่า ยังต้องใช้เวลา และอยู่ในภาวการณ์ตลาดแบบเลือกข้าง
“ถามว่าคนดูเยอะมั้ยเยอะ คนรักก็รักเลย เกลียดก็เกลียดเลย สินค้าตัวไหนเกลียดเรายังไงก็ไม่ลง มันชัดเจน แต่ก็เป็นโอกาสทางการตลาดอีกแบบหนึ่ง จังหวะนี้บางทีก็ต้องมีพวกกล้าๆ เข้ามาหน่อย แต่จังหวะนี้ก็เหนื่อยหน่อย เพราะเราเรียลลิตี้ไง ซึ่งตอนกลางวัน ช่วงดนตรีขึ้นเราพยายามตัดเข้าสปอตบ้าง ก็มีเยอะนะ”
ประเมนทร์ หวังว่า เมื่อการชุมนุมสิ้นสุดแล้ว จะเป็นโอกาสที่เอเอสทีวีจะมีรายได้จากโฆษณาได้ดีกว่าที่ต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้
“ไปหาเอเยนซี่บางราย ก็บอกว่าถ้าหากการเมืองคลี่คลาย ขอให้นโยบายทางการเมืองเปลี่ยน เขาพร้อมจะซื้ออยู่แล้ว”
แม้ว่า จะไม่มีม็อบแล้วก็ตาม หากแต่ “จุดยืน” ของ ASTV คือ การนำเสนอข่าว Hard Core และการวิพากษ์วิจารณ์ข่าวของผู้ดำเนินรายการ
“ยังไงก็ต้องเล่น ลูกหนัก จะกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้ ในแง่คนเชิญ แขกรับเชิญ ให้เข้มข้น ประเภทประชาสัมพันธ์ตัวเอง หรือจะไปทำข่าวเหมือนกับฟรีทีวี ไม่ได้อยู่แล้ว เราต้องทำข่าวแตกต่างจากฟรีทีวี คือ อะไรที่เหมือนฟรีทีวี เราไม่ทำ” เป็นคำยืนยันจากผู้อำนวยการสถานีเอเอสทีวี