มาดูกัน คนแบบไหนที่ “อิเกีย” ต้องการร่วมทีม

เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลา 5 ปีแล้ว สำหรับห้างเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้านสัญชาติสวีเดน ประเดิมแห่งแรกที่อิเกีย บางนา โดยที่ล่าสุดเตรียมพร้อมที่จะเปิดสาขาแห่งใหม่ที่อิเกีย บางใหญ่ ด้วยพื้นที่กว่า 50,000 ตารางเมตร ทำให้อิเกียต้องเตรียมหาบุคลากรที่จะเข้าทำงานเพิ่มอีก 300 คน

การหาบุคลากรเพิ่มก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของอิเกียเช่นกัน เพราะต้องการหลายตำแหน่งในเวลาพร้อมๆ กัน และต้องมีคุณสมบัติตรงกับที่อิเกียต้องการด้วย ในขณะเดียวกันทุกห้างค้าปลีกไม่ใช่แค่ห้างเฟอร์นิเจอร์ก็มีการสรรหาบุคลากรกันอยู่ตลอดเวลา

โทมัส สปิวท อิริคสัน
โทมัส สปิวท อิริคสัน

แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างจากรายอื่นได้นั้นโทมัส สปิวท อิริคสันหัวหน้าฝ่ายจัดจ้าง และบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลระดับภูมิภาค อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่าคือเรื่องแบรนด์ซึ่งภาพลักษณ์ของอิเกียในประเทศไทยมีคนรู้จักมากขึ้น และที่สำคัญก็คือต้องมีความชัดเจนว่ามีความต้องการอะไร เพื่อได้สรรหาบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ

คนสไตล์อิเกียจะต้องมี 3 อย่าง 1.ค่านิยมตรงกัน พนักงานจะต้องมีค่านิยมเดียวกัน มีการแชร์ไอเดียร่วมกันได้ 2.สนใจในเรื่องการตกแต่งบ้าน มีความตั้งใจในการมอบความรู้ หรือโซลูชั่นแก่ลูกค้าได้ และ 3. Customer Focus ต้องมีความตั้งใจในการช่วยเหลือลูกค้า มีใจบริการ

ในตอนที่มาสมัครงานทางอิเกียจะมีแบบทดสอบเล็กๆ ให้ทำ เพื่อเช็กว่าเป็นคนสไตล์อิเกียหรือไม่ โดยที่จะมีการประกาศผลภายใน 10 วันหลังจากสมัครงาน เพื่อเป็นการทดสอบว่ามีทัศนคติที่ตรงกัน จึงทำให้ร่วมงานกันราบรื่น

และด้วยความที่มีตำแหน่งหลากหลาย อิเกียไม่ได้จำกัดเรื่องของอายุเท่าไหร่นัก ไม่ได้มองหาแต่คนรุ่นใหม่อย่างเดียว มองหาคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ และมองว่าความหลากหลายของอายุก็เป็นผลดีต่อลูกค้า อย่างเช่นมีลูกค้ามาซื้อของสำหรับเด็ก พนักงานที่อายุเยอะสามารถให้คำตอบได้ว่าเด็กอยากได้อะไรมากกว่าพนักงานคนรุ่นใหม่

ซึ่งตำแหน่งงานที่สรรหายากที่สุดก็คือ Communication interior design เป็นตำแหน่งที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ต้องทำการสื่อสารด้านการตกแต่งภายใน ตกแต่งห้องให้ลูกค้าเห็นแล้วถูกใจ ต้องอาศัยการเทรนนิ่งเยอะ เพราะที่อิเกียมีคอนเซ็ปต์แตกต่างจากแบรนด์อื่น ความท้าทายที่สุดก็คือต้องตอบโจทย์การตกแต่งบ้าน และ Home Solution ของลูกค้า

2_ikea

การรักษาคนสไตล์อิเกีย

ในปี 2559 เป็นปีที่อิเกียมีการลาอกของพนักงานน้อยที่สุดคือ 17-18% การรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์ในระยะยาวก็เป็นสิ่งที่อิเกียให้ความสำคัญ เริ่มต้นจากพนักงานเข้าใหม่ ช่วง 3 เดือนแรกจะให้เรียนรู้เกี่ยวกับองค์กร และค่อยเรียนรู้ตามแผนก หัวหน้างานก็มีการแนะนำอย่างใกล้ชิด ร่วมถึงมีสวัสดิการที่ดีช่วยสร้างความสุข

และให้ความสำคัญกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน นอกจากเรื่องประกันสุขภาพ ประกันชีวิต โบนัส และเบี้ยเลี้ยง ยังมีเรื่องบัตรกำนัลในโอกาสต่างๆ เช่น วันเกิด รับขวัญบุตร มงคลสมรส เทศกาลสงกรานต์ คริสต์มาส เบี้ยเลี้ยงเพื่อความบันเทิง ส่วนลดสำหรับซื้อเฟอร์นิเจอร์ และมีวันลาคลอดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ พนักงานหญิงสามารถลาได้ 4 เดือนโดยได้รับเงินเดือน ส่วนพนักงานชายลาได้ 4 สัปดาห์โดยได้รับเงินเดือน เพื่อช่วยคุณแม่ดูแลลูก

อีกอย่างที่สำคัญและมีความหมายต่อพนักงานก็คือ การสร้างเอ็นเกจเมนต์ของพนักงานให้มีต่อองค์กร โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตกแต่งสโตร์ แต่ละแผนกสามารถออกไอเดียได้ว่าต้องการตกแต่งอย่างไรเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ และโดนใจผู้บริโภคในโซนนั้น การให้พนักงานมีส่วนร่วมจะช่วยให้พนักงานอยู่กับองค์กรได้ยาว

พร้อมกับให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่งฝึกอบรมพนักงาน จะมีหลักสูตรเพื่อเพิ่มศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่น พนักงานระดับสูงจะมีการเทรนเรื่องภาวะผู้นำ ส่วนพนักงานทั่วไปจะเทรนเรื่องสินค้า มีการการเทรนเรื่องภาษา เพื่อในการพัฒนาตัวเอง และนำมาต่อยอดในการทำงานได้

info_ikea