“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” เปิดเผยถึงผลสำรวจความต้องการของผู้สมัครงานผ่าน “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” จำนวน 7 หมื่นคน ในปี 2559 ซึ่งแม้จะพบว่าอัตราการว่างงานของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.0% จาก 0.9% ในปี 2558 คิดเป็นจำนวนประมาณ 2.5 หมื่นคน ให้เห็นแนวโน้มตลาดแรงงานไทยในปี 2560 ว่ามีทิศทางที่ดี และอยู่ในภาวะสมดุลมากขึ้น แต่ยังคงผกผันและสะท้อนถึงปัญหาแรงงานไทยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้ในภาพรวมของบางสายงาน เป็นที่ต้องการ แต่ก็ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทาง
ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า 5 อันดับแรกของสายงานที่มีแนวโน้ม “เสี่ยงตกงาน” ได้แก่
1. งานธุรการและงานทรัพยากรบุคลากร
ซึ่งแม้ในหลายๆ ธุรกิจ จะมีความต้องการบุคลากรธุรการจะมีอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากบุคลากรกลุ่มนี้มีผู้สมัครจำนวนมากกว่าตำแหน่งที่เปิดรับ
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในปี 2559 เทรนด์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) เป็นที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมีความตื่นตัวและปรับตัวได้ทันทำให้มีความสมดุลกันทั้งในฝั่งของนายจ้างและผู้สมัครงาน แต่ในกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล (HR) กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRM) แม้จะมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนผู้สมัครงานก็ยังคงมีสูงกว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับเช่นกัน
2. งานขนส่งและโลจิสติกส์
ส่วนใหญ่เป็นอุปสงค์ในประเทศที่มีความต้องการบุคลากรในตำแหน่งดูแลคลังสินค้ามากกว่าการขนส่งสินค้า โดยส่วนใหญ่เป็นการทดแทนแรงงานในส่วนของแบ็กออฟฟิศ เช่น งานบัญชีและการเงิน งานขาย และงานทรัพยากรบุคคล (HR) เป็นต้น
3. งานการตลาดและประชาสัมพันธ์
เนื่องจากภาคการศึกษาผลิตบุคลากรด้านนี้มากกว่าความต้องการ ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็ไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้ความต้องการแรงงานด้านนี้ไม่ขยายตัวตามไปด้วย จึงทำให้แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในภาวะล้นตลาด
4. งานไอที
เนื่องจากจำนวนผู้สมัครมีมากกว่าตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร ทำให้กลุ่มงานไอทีในระดับปฏิบัติการ และ IT Support อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ยกเว้นกลุ่มที่นายจ้างมีต้องการสูง ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ รวมถึง System Developer, Software Developer, Application Developer และ Web developer
5. งานระดับผู้บริหาร
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปี 2559 ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทำให้ธุรกิจต่างๆ มีการขยายงานไม่มากนัก แต่กลับมีการทดแทนแรงงานจากการที่ผู้บริหารงานบางกลุ่มลาออก เนื่องจากได้รับเป้าและความกดดันสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานที่มีความเกี่ยวข้องกับผลประกอบการ รายได้และเป้าหมายการขายขององค์กร ยกเว้นผู้บริหารในกลุ่มที่มีความสามารถเฉพาะ (Specialist) ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า (Trading) และภาคธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยว (Hospitality)
“บัญชี-การเงิน” นำโด่งแรงงานที่ตลาดต้องการ
ผลการสำรวจยังพบว่า 5 อันดับแรก สายงานที่มีแนวโน้ม “ขาดแคลนบุคลากร” ได้แก่
1. งานบัญชีและการเงิน
ซึ่งตลาดมีความต้องการระดับสูง ทั้งพนักงานระดับปฏิบัติการ จนถึงระดับผู้บริหารอย่างต่อเนื่องในทุกธุรกิจ
2. งานบริการลูกค้า
เพื่อรองรับใน 2 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกในด้านต่างๆ เช่น อาหาร สุขภาพ ความสวยงาม และสินค้าแฟชั่น ส่วนอีกกลุ่มธุรกิจเป็นการให้บริการเฉพาะทางต่างๆ เช่น บริการด้านการเงิน การบัญชี รวมถึงประกันภัยและประกันชีวิต, บริการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ และบริการทางด้านเทเลคอม และ Mobile Operator
3. งานขายและงานพัฒนาธุรกิจ
เนื่องจากเป็นสายงานที่มีความสำคัญต่อธุรกิจในการหารายได้และขยายงานในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้ทุกธุรกิจมีความต้องการสูง ในขณะที่บุคลากรในสายงานด้านนี้ต้องรับความเสี่ยงและความกดดันสูง จึงทำให้มีอัตราการหมุนเวียน (Turn Over) สูง จนแต่ละธุรกิจไม่สามารถหาบุคลากรทดแทนได้ทันต่อความต้องการ โดยเฉพาะงานขายที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทาง เช่น ไอที, วิศวกร และการแพทย์ ซึ่งแม้ธุรกิจที่มีความต้องการบุคลากรด้านนี้จะให้รายรายได้และค่าตอบแทนสูง แต่ยังมีผู้เข้าสู่สายงานน้อย เนื่องจากมีความกดดันสูงจึงเกิดความไม่มั่นใจในการเปลี่ยนสายอาชีพ
4. งานการผลิต
ไม่ได้ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อไม่ได้สูงมากทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออก แต่เป็นความต้องการพนักงานประจำในด้านต่างๆ เช่น พนักงานขาย พนักงานบัญชี พนักงานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ล่าม และผู้บริหาร
5. งานบริการด้านการแพทย์
เนื่องจากเทรนด์ผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพมีการเติบโตอย่างมาก ทำให้บุคลากรด้านการแพทย์ ได้แก่ นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ และแพทย์ ต่างมีการเปลี่ยนสายงานมากขึ้น โดยประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บุคลากรด้านนี้ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนสายอาชีพไปเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั้งแอร์โฮสเตส และสจ๊วร์ต มากขึ้น เนื่องจากมีทักษะความรู้ความสามารถสูงในการช่วยเหลือผู้โดยสารที่อาจเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน