ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิด 4 เทรนด์โลกประจำปี 2017 ได้แรงขับดันมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ สร้างปรากฏการณ์ “ความเบลอ” หรือ “ความเลือนราง เกิดการผสมผสานระหว่าง Gen ตั้งแต่เบบี้บูม จนถึงอัลฟ่าเจน / เลิกได้แล้วแบ่งกลุ่มลูกค้า ตามเพศ วัย ศาสนา / การหวนคืนของ “อนาล็อก” โพลารอยด์ นินเทนโด มาคู่กับการแจ้งเกิดของ เทคโนโลยี สมองกล (A.I.) ความเป็นจริงเสมือน (virtual reality)
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จัดทำ e-Book “เจาะเทรนด์ 2017” มุ่งจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ผู้ประกอบการทุกแวดวงธุรกิจให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยพบว่า ผลจากความทันสมัยของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ “ความเบลอ” หรือ “ความเลือนราง” ใน 4 ประเด็น ดังนี้
1. ประชากรศาสตร์ (Demographic Blur) 2. เขตแดน (Boundary Blur) 3. ความจริง (Reality Blur) 4. ธรรมชาติ (Nature Blur)
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ปี 2017 นี้ถือเป็นปีที่มีความผสมผสานระหว่างโลกยุคเก่าและโลกยุคใหม่ อันเห็นได้จากประชากรบนโลกที่มีมากมายหลายเจเนอเรชั่น ตั้งแต่ เบบี้บูมเมอร์ (1945 – 1960) เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (1961 – 1981) มิลเลนเนียล (1982 – 2004) เจเนอเรชั่นซี หรือไอเจน (2005 – 2009) และอัลฟ่า เจเนอเรชั่น (2010 – 2015) โดยแต่ละรุ่น แต่ละช่วงอายุคนได้รับอิทธิพลความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากความทันสมัยของเทคโนโลยีแตกต่างกันออกไป
ประกอบกับเทรนด์และกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเทรนด์และกระแสต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนโดยเฉพาะผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ เพราะเทรนด์หรือกระแสดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสนใจของผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่รู้เท่าทันกระแสย่อมได้เปรียบในเรื่องการพัฒนาสินค้าและบริการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด
จากโจทย์ดังกล่าว จึงกลายเป็นบทสรุปได้ว่า กระแสของเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมต่างๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ความเลือนราง” ใน 4 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ดังนี้
เลิกได้แล้ว ! แบ่งกลุ่มลูกค้าตามเพศ วัย ศาสนา
1. ประชากรศาสตร์ (Demographic Blur)
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามหลักประชากรศาสตร์กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยการแบ่งกลุ่มแบบเดิมตาม เพศ วัย หรือศาสนา มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จลดลง ในทางกลับกันหลายธุรกิจแบ่งประเภทสินค้าและบริการ ตามความสนใจ และรสนิยมของผู้บริโภคมากขึ้น
จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นสินค้าและบริการแบบใหม่ที่ไม่ได้จำกัดด้วยหลักประชากรศาสตร์ อาทิ แฟชั่นเครื่องแต่งกายแบบไม่ระบุเพศของแบรนด์ต่างๆ เช่น เอชแอนด์เอ็ม (H&M) และซาร่า (Zara) การใช้เด็กผู้ชายร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาตุ๊กตาบาร์บี้ โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่รองรับครอบครัวแบบหลายเจเนอเรชั่น และเทศกาลงานดนตรีวันเดอร์ฟรุต (Wonderfruit Festival) ที่รวบรวมประสบการณ์ทั้งดนตรี ศิลปะ สุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน
ตอบสนองความหลากหลายเชื้อชาติ
2. เขตแดน (Boundary Blur)
เส้นแบ่งของเขตแดนเลือนรางลง การย้ายถิ่นฐานอย่างอิสระนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรม นอกจากนี้เส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างทวีปทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้นำไปสู่การเปิดกว้างทางความหลากหลายของเชื้อชาติ อันเห็นได้จากหลายสิ่ง อาทิ งานโอลิมปิก 2016 ณ ประเทศบราซิล กับธีม “Global Diversity”, ตัวละครผิวสีที่ชื่อ “ฟิน” (Finn) ในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส, หรือแม้แต่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีเชื้อชาติแอฟริกัน – อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
การหวนคืนของอนาล็อกมาคู่ดิจิทัล
3. ความจริง (Reality Blur)
โลกเสมือนจริงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวันและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยผลของกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลนี่ทำให้เกิดผลต่างๆ ตามมามากมาย อาทิ กระแสความต้องการอนาล็อก กลับมาเนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากจนเกินไปจนกลายเป็นเทรนด์ของสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ อาทิ กล้องโพลารอยด์ของ Leica หรือเครื่องเล่นเกมส์ Nintendo Classic ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้นกว่าเคย โดยเฉพาะ เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ (wearable) เทคโนโลยีสมองกล (A.I.) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) และอื่นๆ อีกมากมาย ที่กำลังเข้ามาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในทุกด้าน
กลับสู่ธรรมขาติ
4. ธรรมชาติ (Nature Blur)
ถึงแม้โลกยุคปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ล้ำนำสมัย และนวัตกรรมต่างๆ มากมาย แต่เทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังมาแรงและเป็นกระแสอยู่เทรนด์หนึ่งคือ กระแสธุรกิจที่ตอบโจทย์คนรักธรรมชาติ อาทิ ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ อาหารออแกนิคจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ ปลูกผักและสร้างฟาร์มเล็กๆ ของตัวเอง เป็นต้น โดยในกระแสรักธรรมชาตินี้ ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และเน้นหลักความยั่งยืนเป็นสำคัญ
อันเห็นได้จากประเด็นและสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นกระแสโลก อาทิ ปรากฏการณ์คอนมาริ (Konmari) หรือการเลือกจัดของตามความสำคัญในการใช้งาน และเทรนด์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือบทสรุป “เจาะเทรนด์โลก 2017” ที่ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ในฐานะศูนย์กลางแห่งการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้สังคมไทย ได้ทำการศึกษาวิจัย และสรุปเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักออกแบบ นักการตลาด นักบริหารแบรนด์ และผู้ประกอบการในทุกแวดวงธุรกิจ เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงกระแสโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อันจะสามารถนำไปสร้างสรรค์ ต่อยอด พัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด e-Book “เจาะเทรนด์โลก 2017” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจาก www.tcdc.or.th