สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมปี 2559 เติบโตขึ้นถึง 2.97% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข 3.0% ที่ประมาณการไว้เมื่อต้นปี นับว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการเติบโตเพียง 2.8% สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลของนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการเร่งรัดงบประมาณ ที่ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากเพิ่มสูงขึ้น
จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การวัดดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจะแบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ กลุ่มสินค้าคงทนถาวร (Durable Goods) กลุ่มสินค้ากึ่งคงทนถาวร (Semi Durable Goods) และกลุ่มสินค้าไม่คงทนถาวร (Non Durable Goods)
ตัวเลขดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ปรากฏในปี 2559 แสดงให้เห็นว่ายอดขายสินค้าในหมวดสินค้าคงทนถาวร (ก่อสร้าง,ที่อยู่อาศัย) มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวร มีอัตราการเติบโตเทียบเท่ากับปี 2558 และหมวดสินค้าไม่คงทนถาวร มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2559
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้วิเคราะห์ผลการเติบโตของสินค้าแต่ละหมวดในปี 2559 ดังต่อไปนี้
ก่อสร้างไม่โต-มือถือไอทีโตอืดไม่มีสินค้ากลุ่มใหม่
หมวดสินค้าคงทนถาวร (Durable Goods) มีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ปัจจัยหลักเกิดจากการที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในปี 2558 – 2559 ไม่เติบโตเท่าที่ควร ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน และแม้กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) จะมีอัตราการเติบโตอยู่บ้าง
แต่กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Mobile & IT) ทั้งอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากไม่มีกลุ่มสินค้าใหม่ๆ มากระตุ้นตลาด ส่งผลให้โดยรวมหมวดสินค้าคงทนถาวร เติบโตเพียง 1.95% ในปี 2559
แฟชั่นโตต่ำ-กีฬามาแรง
หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวร (Semi Durable Goods) มีอัตราการเติบโตทรงตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 29.5 ล้านคนในปี 2558 เป็น 32 ล้านคนในปี 2559 แต่ก็ไม่เป็นผลให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรเพิ่มขึ้น
ปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการจับจ่าย คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูในประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง ก็ยังมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำกว่าปีที่ผ่านๆ มา
มีเพียงกลุ่มสินค้าอุปกรณ์กีฬาและสุขภาพที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงจากเทรนด์สุขภาพในปัจจุบัน มาช่วยพยุงให้หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.5% เท่ากับปี 2558
คอนซูเมอร์โต 3.03%
หมวดสินค้าไม่คงทนถาวร (Non Durable Goods) มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่องจากปี 2558 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ยอดขายในไตรมาสแรกไม่เติบโตเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นฤดูแล้งและฝนเริ่มตกได้ตามปกติ ผลผลิตทางการเกษตรก็เริ่มดีขึ้น รวมทั้งมาตรการของภาครัฐที่ช่วยใส่เงินในระบบ และส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรก็ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อน สภาวะอ่อนแอของกำลังซื้อเกษตรกรก็ทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้ยอดขายในไตรมาสที่สองและสามมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ และถึงแม้ช่วงต้นไตรมาสที่สี่จะหดตัวลงบ้าง แต่ในเดือนธันวาคมที่รัฐบาลออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ก็ส่งผลให้หมวดสินค้าไม่คงทนถาวร มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2558 อยู่ที่ 3.03%
คาดการณ์ปัจจัยบวกที่มีต่อสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีก 2560
การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
การเพิ่มงบประมาณกลางปีอีก 1.9 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเห็นผลในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สามตามลำดับ
การรักษาการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 โดยประมาณการจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 35 ล้านคน และสร้างรายได้ถึงกว่า 2.8 ล้านบาท
การปรับตัวของรายได้เกษตรกร คาดการณ์น่าจะดีขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลาย และระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพืชเกษตรหลักๆ ยางพารา ปาล์ม อ้อย สับปะรด
คาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีก 2560
หนี้ครัวเรือน ที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าในหมวดคงทนถาวรและหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรอาจต้องชะลอออกไป
แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SME จากสถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบหดตัวลง การลงทุนลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยชะลอการจับจ่ายลง และเป็นภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ยังคงต้องดูและปรับตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน ในขณะนี้จึงต้องพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก
ทิศทางการค้าปลีก ในปี 2560
หมวดสินค้าไม่คงทนถาวร น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าหมวดอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐสู่ฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบกว่า 2 ล้านล้านบาท
หมวดสินค้าคงทนถาวร แม้ว่าภาครัฐจะพยายามเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็อาจจะยังไม่สามารถทำให้เห็นยอดการเติบโตที่ชัดเจนได้ภายในปีนี้ คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตในหมวดนี้น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวข้ามปี 2560 ไปก่อน
หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวร สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง ยังต้องหวังผลจากนโยบายภาครัฐในการผ่อนปรนการพิจารณาภาษีนำเข้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่า 12% รวมทั้งพิจารณาผ่อนปรนการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการบริโภคภายในประเทศน่าจะยังทรงตัว เนื่องจากประชาชนยังอยู่ในช่วงไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โดยรวมดัชนีค้าปลีกปี 2560 น่าจะดีกว่า ปี 2559 เล็กน้อย คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตน่าจะอยู่ราว
3.0-3.2%
เสนอมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง
1. รัฐต้องเร่งหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น (Low Season) โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และค้าปลีก ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นได้
2. สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ และผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศจัดงาน “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซลล์ (Thailand Brand Sale)” เป็นระยะเวลา 3 เดือน สร้างบรรยากาศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กลับคืนมา
3. เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโรงแรมและภาคบริการในระดับโลก ดังนั้นเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ครบวงจร รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้
4. รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และการอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศทางบก
5. กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนที่ขาดสภาพคล่อง อันเนื่องมาจากต้นทุนแรงงานและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น เช่น แก้กฎเกณฑ์ผู้ประกอบการภาคผลิตและจัดจำหน่ายระดับ SME ที่เป็นคู่ค้ากับสมาชิกของสมาคมฯ สามารถนำใบสำคัญการสั่งซื้อ (Invoice) ที่ได้รับจากห้างค้าปลีกเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคารทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นต้น
6. การค้าออนไลน์ ให้จัดระเบียบการทำธุรกิจที่อยู่นอกกรอบให้เข้าระบบ