เอไอเอส อัดงบ 4.5 หมื่นล้านบาท ขยายมือถือ–อินเทอร์เน็ต ส่วนงบการตลาดเหลือ 1 หมื่นล้าน ลดโปรโมชั่นแจกย้ายค่าย หรือเปิดเบอร์ใหม่ ตั้งเป้ารายได้โต 4-5% จากรายได้ปี 56 ทำไปได้ 1.5 แสนล้าน
หลังจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC เปิด Vision 2017 ไปแล้ว คราวนี้มาถึงคิวของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กันบ้าง โดยนัฐยา พัวพงศกร ผู้อำนวยการสำนัก นักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจในปี 2560 ดังนี้
- บริษัทฯประเมินรายได้รวมปีนี้ คาดว่าจะเติบโตที่ประมาณ 4-5% จากปีที่ผ่านมา (2559) ซึ่งมีรายได้กว่า 152,717 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เติบโตเพียง 3-4%
- โดยเตรียมที่จะขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมผู้ใช้งานในทุกกลุ่ม โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด หรือ มาร์เก็ตแชร์ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
- ที่ผ่านมารายได้จากค่าโทรจะปรับตัวลดลงกว่า 10% ต่อปี โดยแนวโน้มของผู้ใช้งานจะมีการปรับเปลี่ยนไปเพิ่มด้านการให้งานอินเทอร์เน็ตดาต้ามากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเน้นการให้บริการดาต้าแก่ผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ปรับลดงบการตลาด 1 หมื่นล้านบาท
• แม้ว่าการแข่งขันจะยังรุนแรงและต่อเนื่องเหมือนที่ผ่านมา แต่บริษัทฯได้มีการปรับลดงบการตลาดในปีนี้ลง โดยอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท
• ในส่วนที่จะปรับลดลงได้แก่ โปรโมชั่นการอุดหนุนค่าเครื่องหรือเครื่องที่แจกสำหรับผู้ที่ย้ายค่าย หรือเปิดเบอร์ใหม่ โดยจะเน้นการให้บริการ 4G เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก EBITDA Margin ในปีนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42-44% จากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่อยู่ที่ 39.9%
• ในส่วนของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง หรือ AIS Fibre นั้นที่เป็นธุรกิจใหม่ของบริษัทนั้น โดยในปีนี้วางเป้าหมายเติบโตอีกหนึ่งเท่าตัวเป็น 600,000 ราย จากสิ้นปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 300,000 ราย เนื่องจากความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีจำนวนมาก
• ตั้งงบลงทุนปีนี้ที่ไว้ที่ 45,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงข่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ใกล้เคียงปี 59 ที่เอไอเอสเคยบอกว่าใช้เงินลงทุนเครือข่าย 4 หมื่น – 5 หมื่น ล้านบาท)
• โดยปัจจุบันทั้งอุตสาหกรรมมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 7 ล้านราย คิดเป็น 33% ของครัวเรือนในไทย ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปี จะมีผู้ใช้บริการถึง 10 ล้านราย
• ภาพรวมอุตสาหกรรมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในปีนี้ ประเมินว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 3.32 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนอยู่ที่ 3.13 แสนล้านบาท
• แบ่งเป็นธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ประมาณ 2.45 แสนล้านบาท เติบโต 4% และธุรกิจอินเทอร์เน็ต 7.8 แสนล้านบาท โต 15%
• อยู่ระหว่างเริ่มศึกษาการให้บริการโครงข่าย 5G คาดว่าจะเริ่มเห็นการใช้เชิงพาณิชย์เป็นทางการในประเทศ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ช่วงปี 2563 ในไทยยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเริ่มช่วงใด นอกจากนี้ การประมูลใบอนุญาตใหม่ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า กสทช. จะเริ่มเปิดช่วงใด
• ในปี 2561 มีใบอนุญาตครบกำหนดและคลื่นที่รอการประมูลหลายคลื่น ซึ่งบริษัทมีความสนใจในทุกคลื่น แต่ต้องรอประมาณการและภาพความต้องการในอนาคตก่อน