ยัมฯ ตัดขายแฟรนไชส์ “พิซซ่าฮัท” ให้ “ตระกูลมหากิจศิริ”

พิซซ่า ฮัท ได้เวลาเปลี่ยนมืออีกครั้ง เมื่อบริษัทยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล บรรลุข้อตกลงในการแต่งตั้ง บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด (PHCapital) เป็นแฟรนไชส์ซีผู้ให้บริการร้านพิซซ่า ฮัท ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีอายุสัญญา 20 ปี

พีเอช แคปปิตอล นั้นเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีเอ็ม แคปปิตอล จำกัด ด้วยสัดส่วน 70% และ 30% ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 60 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ภายใต้การบริหารและการลงทุนของตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมี อุษณา มหากิจศิริ ลูกสาวคนสุดท้องของตระกูล เป็นผู้ดูแล

พีเอช แคปปิตอล จะเริ่มเข้าบริหารร้านพิซซ่า ฮัท ภายใต้การดูแลของยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 92 สาขาทั่วประเทศ ภายในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2560

ตามข้อตกลง พีเอช แคปปิตอล ได้เข้าซื้อทรัพย์สินทั้งหมดของพิซซ่าฮัท จากยัมฯ ซึ่งประกอบไปด้วย สาขาพิซซ่าฮัท 92 สาขา รวมทั้งทีมผู้พนักงาน 100 คน และพนักงานสาขาอีก 5,000 – 6,000 คนของยัมฯ จะโอนย้ายมาอยู่ในบริษัทพีเอช แคปปิตอล และต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์ก้อนแรก จากนั้นในแต่ละปีจะต้องจ่ายส่วนแบ่งจากรายได้เป็นค่าแฟรนไชส์เป็นประจำทุกปี

ตามข้อตกลง นอกจากพีเอช แคปปิตอล จะทยอยรีโนเวตสาขาเดิมทุกแห่งให้ทันสมัยขึ้นแล้ว ยังเตรียมสาขาเพิ่ม 100 แห่งภายใน 4 ปี เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะสาขาพิซซ่า ฮัท 80 – 90% จะอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก

ทั้งนี้ รูปแบบสาขาของพิซซ่า ฮัท จะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ จากเดิมที่เป็นรูปแบบ “ไดน์นิ่ง” แบบ FULL SERVICE มีพนักงานมารับออเดอร์และเสิร์ฟ มาอยู่ในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า แคทช่วล เซอร์วิส เน้นความรวดเร็วมากขึ้น โดยจะมีทั้งบริการส่งถึงบ้าน และทานในร้าน

ตระกูลได้มองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งธุรกิจอาหาร เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เราให้ความสำคัญ พิซซ่า ฮัทเอง เป็นแบรนด์ยอดนิยมติดอันดับโลก มีสาขาแล้วเกือบ 100 สาขา เราไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ ตลาดพิซซ่ารวมเวลานี้ 5,000 – 6,000 ล้านบาท โอกาสขยายของธุรกิจพิซซ่ายังมีอีกมาก โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่นในต่างจังหวัดอีกมาก

อุษณา มหากิจศิริ กรรมการ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด บอกถึงสาเหตุของการลงทุน

ในขณะที่ ยัม เรสเทอรองตส์ จะให้การสนับสนุนในเรื่องการสร้างแบรนด์ และโนว์ฮาวใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ในธุรกิจ

“การที่ยัมฯ เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์ จะช่วยให้การขยายสาขาได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าที่ยัมฯ ลงทุนเอง เพราะต่อให้เรามีสินค้าดีแค่ไหน แต่ถ้าลูกค้าเข้าถึงไม่ได้ โอกาสในการขายก็ไม่มี ซึ่งทางพีเอช แคปปิตอล มีทั้งเงินทุน และประสบการณ์ รวมทั้งแนวคิดในการทำธุรกิจที่จะช่วยให้การขยายสาขาพิซซ่าฮัทในไทย” วรวรรณ เพียรลิขิตวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป พิซซ่า ฮัท บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

จะว่าไปแล้ว การหวนกลับมาใช้ระบบขายแฟรนไชส์ของยัมฯ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในอดีตช่วงที่เข้ามาทำตลาดในไทยใหม่ๆ เมื่อครั้งแรก 30 กว่าปีที่แล้ว ยัมฯ ก็เคยขายแฟรนไชส์พิซซ่า ฮัท ให้กับกลุ่มไมเนอร์เป็นผู้ลงทุน และต่อมาในปี 2543 ยัมฯ ได้ยกเลิกแฟรนไชส์หันมาลงทุนเอง ทำให้กลุ่มไมเนอร์จึงหันมาเปิดแบรนด์ เดอะพิซซ่า และได้กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของพิซซ่า ฮัท ที่ครองอันดับ 1 ในตลาด

การหวนกลับมาใช้ระบบขายแฟรนไชส์ เป็นนโยบายในการดำเนินธุรกิจของยัมฯ เพราะไม่ใช่แค่พิซซ่า ฮัทเท่านั้น ก่อนหน้านี้ ยัมฯได้ประกาศขายแฟรนไชส์กิจการ “เคเอฟซี” ที่เหลืออยู่ 224 สาขาที่เหลือ ให้กับผู้กับผู้สนใจลงทุนเพื่อผันบทบาทสู่การเป็นผู้สนับสนุนแฟรนไชส์ 100% ตามนโยบายบริษัทแม่

พีเอช แคปปิตอล เดินเกมธุรกิจอาหาร

นอกจากจะมีธุรกิจเดินเรือ ปุ๋ย ขนส่ง ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของตระกูลมหากิจศิริแล้ว ช่วงหลังยังได้หันมาสนใจลงทุนธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น จากเดิมทีมีเนสท์เล่ ที่เป็นพันธมิตรมากว่า 40 ปี ยังได้นำแบรนด์ ร้านอาหารจากต่างประเทศมาเปิดสาขาในไทย เช่น มาการอง Pierre Hermé (ปิแอร์ แอร์เม่) และ Maison de la Truffe (เมซอง เดอ ลา ทรูฟ) จากฝรั่งเศส และ ร้านโดนัท Krispy Kreme ล่าสุดคือ การซื้อแฟรนไชส์ พิซซ่า ฮัท ที่ถือเป็นการลงทุนในธุรกิจอาหารครั้งใหญ่ของตระกูล และในปีนี้ ยังมีการขยายแบรนด์ร้านอาหารใหม่เข้ามาเพิ่มด้วย

“ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีอนาคต และทำไปได้เรื่อย ไม่ต้องโดน disrupt เหมือนกับหลายๆ อุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้” อุษณา กล่าว