“ทรูมูฟ” กำลังถูกบททดสอบครั้งสำคัญว่าจะเป็นบริษัทที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นความภาคภูมิใจให้กับกลุ่ม “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีได้หรือไม่ เมื่อโครงการระดับบิ๊กของธุรกิจสื่อสารอย่าง 3G กำลังเกิดขึ้นในไทย ท่ามกลางภาวะการแข่งขันรุนแรง ขณะที่ทรูมูฟยังเป็นเบอร์ 3 ในตลาด พร้อมกับแรงกดดันตัวเลขขาดทุนของกลุ่มทรูอีกหลักแสนล้านบาท แต่ความเป็น “ซีพี” มีแต่การเดินหน้า เพราะถึงอย่างไร 3G เป็นสิ่งที่ “ทรูมูฟ” ต้องมี
โทรศัพท์มือถือ เป็นหนึ่งในธุรกิจด้านเทคโนโลยี ที่ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ในฐานะประธานเครือซีพี วางแผนให้เป็นคลื่นที่ 3 ของธุรกิจในเครือซีพี นับจากธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรม มาเป็นเทคโนโลยี โดยทุกวันนี้ “ธนินท์” ยังคงนั่งเก้าอี้ประธานกลุ่มทรูฯ โดยมี “ศุภชัย เจียรวนนท์” บุตรชายคนที่ 3 เป็นซีอีโอ
หนี้ของกลุ่มทรูฯ ในปี 2551 สูงถึงหลักแสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นของทรูมูฟ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะสูงเพียงนี้ แต่ก็เกิดขึ้นเพราะผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แต่ตลาดมือถือกำลังถึงจุดเปลี่ยนจาก 3G ทำให้ทรูต้องเร่ง เพื่อเตรียมลงทุนอย่างน้อยด้วยงบลงทุนปีละ 20,000 ล้านบาท
“ซีพีเป็นนักสู้อยู่แล้ว”
3G ทำให้ทุกบริษัทมือถือไม่มีทางเลือก รวมทั้งทรู ซึ่ง “ธนินท์” บอกว่า 3G เป็นสิ่งจำเป็น เป็นเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือที่ให้ความสะดวกกับลูกค้า และเป็นสิ่งจำเป็นที่ทรูต้องมีให้บริการเช่นกัน
ส่วนเรื่องหนี้ของทรูนั้น “ธนินท์” ยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหา เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และที่สำคัญคือ “ซีพีเป็นนักสู้อยู่แล้ว”
นอกจากนี้ในความเห็นของ “ธนินท์” นั้น ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือเข้ามาให้ผู้ประกอบการลงทุนเพื่อบริการลูกค้ามากเพียงใด สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมกัน
ความมั่นใจในความเป็นนักสู้ ไม่ได้มาแบบลอยๆ เพราะ “ศุภชัย” กำลังพยายามสานต่อ แม้ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา “ศุภชัย” แทบจะไม่พูดถึงเรื่อง 3G ขณะที่เอไอเอสเปิดตัวแบรนด์ และทดลองบริการไปแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2551 ส่วนดีแทคก็ประกาศพร้อมวางเครือข่ายและเปิดให้บริการในกลางปี 2552
“เราเตรียมแผนการลงทุน และการทำตลาดอยู่แล้ว และคงเปิดให้บริการในกลางปีหน้าเช่นเดียวกับคนอื่น เพราะได้อนุมัติในเวลาใกล้เคียงกัน”
เพราะหากนับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ให้เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ พัฒนาเทคโนโลยี 3G บนคลื่น 800-900 MHzได้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 คือการเริ่มต้นพร้อมกัน
สำหรับสิ่งที่หลายคนมองว่าเงินทุน และการขาดทุน เป็นจุดอ่อนของทรู “ศุภชัย” ยืนยันว่า เงินทุนไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อ 3G มาถึง โมเดลธุรกิจของทรูจะทำให้รายได้ดีขึ้น ทรูจึงมีช่องทางในการระดมทุนหลายช่องทาง
หนึ่งในช่องทางนั้นระดมเงินนั้นสิ่งที่ “ศุภชัย” ยืนยันมาโดยตลอดคือ หากต้องการมีพันธมิตรเพื่อนำมาเงินมาลงทุนนั้น พันธมิตรต้องไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารมากนัก หรือเป็นเพียงพันธมิตรทางด้านการเงินเท่านั้น แต่ถามว่าขณะนี้จำเป็นหรือไม่ “ศุภชัย” บอกว่ายังไม่จำเป็นนักสำหรับลงทุนในคลื่น 850 เพราะเป็นการขยายบริการเพิ่มเติมจากโครงข่าย 2 G เดิม ยังสามารถใช้กระแสเงินสด โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งทรูมีแผนลงทุนอย่างจริงจัง เพราะยังไม่รู้ว่าคลื่น 2.1 GHz จะมีการจัดสรรเมื่อไหร่ แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่า กทช.อาจพิจารณาจัดสรรในกลางปีหน้าก็ตาม เมื่อถึงเวลาต้องลงทุนมากขึ้นใน 2.1 GHz การหาพันธมิตรเพื่อมาลงทุนอาจจำเป็นในอนาคต
3G ทดสอบโมเดล Convergence
แผนธุรกิจของทรูมูฟ คือการเน้นจุดเด่นของเทคโนโลยี 3G นำเสนอบริการ HiSpeed Data สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการสื่อสารข้อมูลไร้สาย โดยจุดต่างของทรูมูฟ จากเอไอเอส และดีแทค คือโมเดล Convergence ที่เตรียมมานานเกือบ 3 ปี โดยจะผสมผสานบริการต่างๆ ในเครือทรูฯ เพื่อให้บริการ 3G สมบูรณ์แบบมากที่สุด
“เรามีจุดแข็งทั้ง Application และ Content ที่สร้างมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อความเร็วสูงขึ้น คนก็จะสามารถเข้าถึง Content เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น”
Application ที่กลุ่มทรูฯ เด่นชัด เช่น ทรูมันนี่ ส่วน Content ที่โดดเด่นคือเรียลลิตี้โชว์ อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย หรือ AF ที่ทรูวิชั่นส์ได้นำเสนอมาต่อเนื่อง 5 ปี และยังมีแผนบริหารศิลปินเพื่อให้เกิด Content ด้านบันเทิงมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ Content ที่ทรูวิชั่นส์กำลังบริหารจัดการ อาจเป็นส่วนหนึ่งให้การดู Content เป็นทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง คึกคักขึ้นโดยเฉพาะช่องข่าว TNN ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551
ขณะที่ยังรอ 3G ของจริง ทรูฯ มีการซ้อมทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้ HiSpeed Data โดยทรูมูฟเสนอแพ็กเกจที่ผสมผสานบริการในเครือภายใต้ 2.5G หรือเครือข่ายปัจจุบันแล้ว คือแพ็กเกจราคาสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สื่อสารข้อมูลผ่าน EDGE GPRS และสามารถใช้ Wi-Fi ภายใต้บริการของทรูออนไลน์ได้ ในอัตราราคาวันละ 20 บาท หรือหากไม่ใช้ Wi-Fi คิดค่าบริการเพียงวันละ 10 บาท
นี่คือฐานข้อมูลลูกค้า หรือการทำ CRM ที่ทรูพยายามรู้จักลูกค้าให้มากที่สุด อย่างน้อยคือดูว่าลูกค้าชอบดูข้อมูลอะไร และใช้เวลาใดมากที่สุด ก่อนให้บริการไฮสปีดอินเทอร์เน็ตไร้สายจริงๆ หลังจากที่ทรูสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้บริการ Non Voice ในไตรมาส 2 ปี 2551 อยู่ที่ 11.8% ขณะที่ดีแทคทำได้ 10.5% และเอไอเอสที่ฐานลูกค้ามากที่สุดทำได้ 12.6% ของรายได้ทั้งหมด
เป็นโอกาสที่ “ศุภชัย” หวังไม่ต่างจากดีแทค ที่อยากพลิกฐานะตัวเองให้มาชิงตลาดเบอร์ 1 อย่างเอไอเอส อาจไม่ใช่ความหมายในส่วนแบ่งตลาดลูกค้า แต่หากเฉพาะบริการสื่อสารมูลความเร็วสูงไร้สายแล้ว ไม่น่าจะเกินเอื้อม แม้เอไอเอสจะเปิดตัวที่เชียงใหม่แล้ว เพราะขณะนี้ “ศุภชัย” ยังเชื่อว่าช่วงนี้ยังไม่มีใครเป็นผู้นำตลาด “เพราะฉะนั้น Leadership ในเรื่อง 3G ยังเป็นของทุกคน”
แต่ตามความเชื่อมั่นของ “ศุภชัย” คือ 3G น่าจะทำให้มีหลายอย่างเกิดขึ้น สำหรับเอกชนที่อยู่ในตลาดนี้แล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ในแง่ Market Position และเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมสื่อสาร 3G จะเป็นเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ 4G ในอนาคต
ธุรกิจสำหรับ Convergence 3G
—————————————————————————————————————-
ธุรกิจในเครือ (บริการ) กำไร/ขาดทุน จำนวนลูกค้าทั้งหมด
—————————————————————————————————————–
ทรูมูฟ (โทรศัพท์มือถือ) ขาดทุน 3,157 ล้านบาท 12.95 ล้านราย
ทรูวิชั่นส์ (เคเบิลทีวี) ขาดทุน 40 ล้านบาท 1.17 ล้านราย
ทรูออนไลน์ กำไร 86 ล้านบาท -บรอดแบนด์ 604,511 ราย
-Wi-Fi 53,000 ราย
-โทรศัพท์พื้นฐาน 1.94 ราย
-พีซีที 290,000 ราย
ทรูมันนี่ อีคอมเมิร์ซ – -3 ล้านราย
ทรูไลฟ์ ดิจิตอลคอนเทนต์ – -ลงทะเบียนในเว็บ truelife.com 1.5 ล้านราย
-เกมออนไลน์ 12 ล้านราย