นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ซัด “ไทยพีบีเอส” ซื้อหุ้นซีพี ผิดทั้งกฎหมาย – จริยธรรม – จรรยาบรรณ มิหนำซ้ำยังเป็นบริษัทที่มีภาพลักษณ์ไม่ดีเรื่องธรรมาภิบาล ถ้าเกิดปัญหาจะกล้าตรวจสอบหรือ ถามยังมีจิตวิญญาณสื่อไหม เอือมผู้บริหารขู่ฟันพนักงานที่เผยความลับ ลั่นองค์กรนี้ไม่ใช่ของเอกชนแต่ประชาชนเป็นเจ้าของ ด้านอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ชี้ ผอ. เอาเงินไปซื้อหุ้น ทำเกินอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ จี้คณะกรรมการนโยบายเร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริง
วันนี้ (13 มี.ค.) จากกรณีที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ให้สัมภาษณ์ว่ามีการนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของ ซีพีเอฟ แต่เป็นการลงทุนลักษณะการซื้อตราสารหนี้ ไม่ได้เป็นการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้ เป็นการลงทุนตามปกติ หน่วยงานราชการหลายแห่งก็ทำกัน
ทางด้าน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Time Chuastapanasiri ” วิจารณ์ถึงกรณีนี้อย่างดุเดือด เนื่องจากสื่อสาธารณะต้องได้รับความไว้วางใจสาธารณะจากประชาชนในการใช้เงินภาษีประชาชนอย่างถูกต้อง เที่ยงตรง โปร่งใส เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นกลาง แต่กลับนำเงินไปแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเอกชน และยิ่งกว่านั้นยังเป็นบริษัทที่มีภาพลักษณ์ด้านธรรมาภิบาลไม่ดีนัก หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะกล้าตรวจสอบหรือไม่ … ข้อความที่ นายธาม มีรายละเอียดดังนี้
“Spirits of ThaiPBS? ยังมีไหมจิตวิญญาณสื่อสารธารณะ ผมคิดว่า กรรมการบริหาร และ กรรมการนโยบาย “หมดหนทางใดๆ ที่ที่จะแก้ตัว แก้ต่าง” ได้อีก การรักษาความอิสระ เสรีภาพ และความเที่ยงตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ของไทยพีบีเอสในตอนนี้ “เข้าขั้นวิกฤติธรรมาภิบาล” จะตรวจสอบผู้อื่นได้อย่างกล้าหาญได้อย่างไรครับ? ถ้าองค์กรตัวเองก็ไม่กล้าตรวจสอบผู้บริหารองค์กรสื่อสาธารณะ “ขู่เอาผิดวินัยกับพนักงานหากเอาความลับองค์กรไปเปิดเผยต่อสาธารณะ”? นี่มันเป็นองค์กรประเภทไหนครับ นี่เป็นองค์กรรัฐ ที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ใช้เงินภาษีประชาชน แต่กลับ “เงียบงำปิดปากพนักงาน” นี่ไม่ใช่บริษัทเอกชนส่วนตัวนะครับ ที่จะสั่งให้ใครทำอะไรก็ได้ องค์กรนี้ มีเจ้าของ คือประชาชน!!”
อีกโพสต์ได้วิจารณ์ถึงคำให้สัมภาษณ์ของ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ว่า “ตรรกะวิบัติ?” ฟังท่าน ผอ.ส.ส.ท. “อ้างเหตุผล” ว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ตลกมากครับ ไม่เคยเรียนวารสารศาสตร์ ไม่มีทางเข้าใจแนวคิดเรื่อง สิทธิเสรีภาพ และความอิสระของกองบรรณาธิการ การเอาเงินไปฝากธนาคารนั่นเรื่องหนึ่ง เอาเงินไปซื้อหุ้นกู้เอื้อธุรกิจเอกชนก็เรื่องหนึ่ง เพราะเอื้อผลประโยชน์ให้คุณให้โทษกันได้ ซีพีเอฟมีปัญหาภาพลักษณ์จริยธรรม มีหลายข่าวเรื่องเกษตรกรความเป็นธรรมการเกษตร การทำไร่นาที่มีปัญหามากมาย ที่สื่อสาธารณะควรไปตรวจสอบ เอาเงิน 200 ล้านบาทไปซื้อหุ้นกู้เขา แล้วกล้ารายงานข่าวตรวจสอบธุรกิจเขาไหมครับ?
ให้ สตง. ตรวจสอบสิครับ ว่าผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งจริยธรรม ผิดทั้งจรรยาบรรณของพนักงานและผู้บริหาร ส.ส.ท. หรือไม่? กฎหมายบอกว่าให้เอาเงินไปทำในกิจการของสื่อสาธารณะ เขาไม่ได้บอกว่าให้เอาเงินไปลงทุนซื้อหุ้นเก็งกำไร เงินถ้าเหลือ เอาไปทำสื่อ/สารคดี ดีๆ ให้ประชาชนได้ดู เอาเงินไปพัฒนาอบรมทักษะคนทำงานให้สร้างสรรค์สื่อดี ๆ สิครับ สื่อสาธารณะต้องอิสระจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน และกลุ่มรณรงค์ทางการเมือง
ถ้าทำข่าวเรื่องนี้อย่างสมดุล รอบด้าน ต้องเอาความเห็นสองฝั่งมาออกสิครับ ไม่ใช่ใช้สื่อของประชาชนมาพูดอยู่แต่เพียงข้างเดียวลำพัง เหลือเชื่อจริงๆ!!”
นอกจากนี้ทางด้าน นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “จักร์กฤษ เพิ่มพูล” ถึงกรณีดังกล่าวว่า ผู้อำนวยการนำเงินไปซื้อหุ้น เป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งคณะกรรมการนโยบาย มีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ จะต้องดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเร่งด่วน
เนื้อหาที่โพสต์มีรายละเอียดดังนี้ “เมื่อสื่อสาธารณะไม่โปร่งใส – อ่านกฎหมายหลายตลบก็ยังไม่พบว่า ผู้อำนวยการ คณะกรรมการบริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มีอำนาจทำให้สื่อสาธารณะ แปรรูปเป็นองค์กรแสวงหากำไร รับเงินปันผลจากบริษัทเอกชนตรงไหน นอกจากข้อความนี้
วัตถุประสงค์ขององค์การ
(๒) ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สาระประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่างๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ #ไทยพีบีเอสกับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ อำนาจตามกฎหมายของผู้อำนวยการ
มาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจ
(๑) ออกระเบียบในการบริหารกิจการขององค์การ รวมทั้งระเบียบและวิธีปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การ ทั้งนี้โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกลางที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
(๒) ทำสัญญาจ้าง เลิกจ้าง เลื่อน ลด หรือตัดเงินเดือน หรือค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้างขององค์การตามระเบียบ ที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
(๓) แต่งตั้งนายสถานีและคณะกรรมการบริหารสถานี
อำนาจหน้าที่ผู้อำนวยการมีเท่านี้ การเอาเงินขององค์การไปซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชน หรือการลงทุนในตราสารหนี้ ซีพีเอฟ เป็นการจัดการงานเกินอำนาจ หน้าที่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกันอย่างชัดเจน เปิดเผย ตรงไปตรงมา
เมื่อมีข้อสงสัยในตัวผู้อำนวยการ เป็นหน้าที่ตามกฏหมายของคณะกรรมการนโยบาย ที่เป็นผู้กำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ มีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการ จะต้องดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเร่งด่วน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นสื่อสาธารณะ ที่ต้องโปร่งใส ชัดเจน และวางใจได้
นี่อาจเป็นบทเรียนที่ย้อนไปในตอนต้น ครั้งแต่งตั้งผู้อำนวยการ สสท.เราอาจมองข้ามคุณสมบัติสำคัญ คือ ผู้อำนวยการต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชน แต่จนถึงนาทีนี้เราอาจเริ่มคิดได้ว่าคนที่ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีประสบการณ์ตรงด้านสื่อสารมวลชน จะก่อความเสียหายร้ายแรงให้กับองค์การ ภาพลักษณ์ขององค์การได้อย่างไร”
ที่มา : http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9600000025886