8 ปี ปิดดีลแสนล้าน

ในช่วงรุ่งเรืองของ “เลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์)” ตลอดนับ 10 ปีที่ผ่านมาในไทย ผู้บริหารของ “เลแมนฯ” ไม่ค่อยเปิดเผยตัวเป็นข่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนเท่าไรนัก แต่เมื่อบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาประกาศ “ล้มละลาย” หนึ่งในผู้บริหาร “เลแมนฯ” อย่าง “กฤษดา กวีญาณ” ต้องออกมาอยู่ในสปอตไลต์ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะพอร์ตของเลแมนฯ ในไทยมีมากถึง 50,000 ล้านบาท กว่า 50% เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ กำลังถูกจับตามองว่าหากต้องมีการ “ขาย” เพื่อส่งเงินกลับสหรัฐอเมริกา ทรัพย์สินเหล่านี้จะเปลี่ยนไปอยู่ในมือของใคร

“กฤษดา กวีญาณ” ทำงานให้กับเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) มาตั้งแต่ปี 2001 หลังจากที่เลแมนฯ เข้ามาลงทุนในไทยแล้วระยะหนึ่งและเริ่มบริหารสินทรัพย์ที่ประมูลได้จาก ปรส. แล้ว

ช่วง 4 ปีแรก “กฤษดา” อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารที่ทำงานประจำ 4 ปีหลังที่ผ่านมาเขาเป็นที่ปรึกษาการลงทุน และกรรมการบริษัทของเลแมนฯ จากพนักงานเริ่มแรกของบริษัทในไทยประมาณ 3 คน ปัจจุบันมีประมาณ 10 คน มีสำนักงานในอาคารหรู “อับดุลราฮิม” ย่านถนนพระราม 4

ก่อนหน้าที่เขาจะร่วมงานกับเลแมนฯ เขาคือหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจให้กับจีอีมันนี่ในไทย หลังจากเรียนจบเอกบัญชี คณะพาณิชยกรรมศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเอ็มบีเอ จากสหรัฐอเมริกา (Kenan-Flagler Business School, University of North Carolina at Chapel Hill) ซึ่งจีอีมันนี่เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินจากสหรัฐอเมริกาที่มาประมูลซื้อทรัพย์สินจาก ปรส. ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540

ตลอดเกือบ 8 ปีกับเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) “กฤษดา” ในวันนี้ด้วยวัยเพียง 38 ปี บอกว่ามีมูลค่าทรัพย์สินในไทยที่ดีลผ่านมือเขาแล้วเป็นหลักแสนล้านบาท แน่นอนทำให้เขามีรายได้มากมายและยืนยันได้ว่า”ค่าตัวเขาแพง” หากวัดจากสิ่งที่เขามีอยู่ ณ ขณะนี้

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผมอยู่ “ที่นี่” เพราะอยู่กลางเมือง สะดวกเดินทาง ผมจะไปพบใคร หรือใครจะมาหาผมก็สะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

“ที่นี่” คือโรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หรูกลางซอยหลังสวน ชิดลม สุขุมวิท เป็นสถานที่ “กฤษดา” นัดทีม “POSITIONING” ไปสัมภาษณ์ ซึ่งขณะนั่งอยู่ในล็อบบี้กว่า 1 ชั่วโมง มีทั้งนักลงทุนต่างชาติและไทยเข้ามาทักทายเขาเป็นระยะๆ หรือแม้กระทั่งนักการเมืองคนหนึ่งก็มานั่งรอเขาเกือบชั่วโมง

“อย่างนี้ละครับ ที่นี่สะดวกสำหรับคนที่อยากมาพบผม”

นี่คือสิ่งที่ยืนยัน “แวลู” ของ “กฤษดา” ทำให้ “เลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์)” ไว้วางใจเขามานาน

งานอย่าง “กฤษดา” จำเป็นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเขาอธิบายว่าเวลาที่ต่างชาติจะมาลงทุนในไทย สิ่งสำคัญคือเขาต้องมีคนที่ไว้ใจได้ว่า เงินที่จะนำมาลงทุนไม่สูญเปล่า การตรวจสอบว่าใครเป็นใครในเมืองไทย โครงการใดน่าเชื่อถือหรือไม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกเหนือจากการดีลให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย หรือสรุปง่ายๆ คือ “คอนเนกชั่น” นั้นสำคัญ

จากการเข้าไปเกี่ยวพันกับทรัพย์สินมากมาย และเจ้าของธุรกิจหลายกลุ่ม วันนี้ “กฤษดา” ยังได้เข้าไปเกี่ยวพันกับตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานราชการและการเมือง เคยเป็นเลขานุการของประธานวุฒิสภา เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการหลายคณะของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นที่ปรึกษาอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี) ปัจจุบันยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการในบอร์ดของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และองค์การไพ่ สังกัดกระทรวงการคลัง

แม้ว่าวันนี้ “เลแมน บราเดอร์ส” จะประกาศล้มละลายแล้ว แต่ “กฤษดา” ยังได้รับการติดต่อจากนักลงทุนมากหน้าหลายตา เพราะทรัพย์สินกว่า 50,000 ล้านบาทที่มีอยู่เป็นของดีทั้งนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา “กฤษดา” ยึดหลักการของเลแมนฯ ในการตัดสินใจลงทุน คือ “ซื้อมาแล้วขายได้หรือไม่” และ “ไม่คิดเป็นเจ้าของในทรัพย์สินนั้น”

ผลตอบแทนการทำงานสำหรับ “กฤษดา” อาจเทียบไม่ได้กับซีอีโอ และผู้บริหารอีกหลายของ “เลแมน บราเดอร์ส” ที่แทบจะมีเครื่องบินส่วนตัวคนละลำ แต่ก็คือผลตอบแทนที่หลายคนอยากมี

ปัจจุบันนอกจากเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หรูแล้ว “กฤษดา” ยังใช้รถเบนซ์ รถสปอร์ต และรถตู้ ที่มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสำหรับทำงานในรถและประชุม มีตั้งแต่โน้ตบุ๊ก เครื่องสแกนเอกสาร และตู้เย็น หรือแม้กระทั่งทีวีสำหรับคาราโอเกะแม้จะอยู่ในรถเพียงลำพัง

ในปีหน้า “กฤษดา” วางแผนว่าจะย้ายจากอพาร์ตเมนต์ ชั้น 25 ซอยหลังสวนไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่กำลังตกแต่ง กลางซอยร่วมฤดี สุขุมวิท บนที่ดินที่เขาซื้อเมื่อหลายปีก่อนในราคาที่เขาจำไม่ได้แล้ว บอกได้แต่เพียงว่าคุ้นๆ ว่ามูลค่าเป็นหลักสิบล้านบาท

สำหรับทรัพย์สินส่วนตัวนั้นคงไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ารวยมากเท่าไหร่ เอาเป็นว่า สิ่งที่ “กฤษดา” สะสมคือ “เงินสด” ไม่ใช่ที่ดิน ไม่ใช่การลงทุนในรูปแบบอื่นๆ แม้ว่าจะเขาจะเชี่ยวชาญและช่วยให้คนอื่นลงทุนร่ำรวยมาแล้วก็ตาม

“เงินสดเท่านั้นครับ ผมไม่ลงทุนอย่างอื่น เพราะผมทำงานอย่างนี้ดีกว่า ทำไมผมต้องเอาเวลาไปคิดเพื่อวางแผนลงทุนส่วนตัว ปวดหัว เสียเวลาเปล่าๆ”

นอกเหนือจากนี้แล้ว “กฤษดา” บอกว่าเวลาเสาร์-อาทิตย์ ยังเป็นช่วงที่เขาช่วยดูบัญชี และให้คำแนะนำการลงทุนกับธุรกิจครอบครัวที่อยู่จังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นกลุ่มโรงเลื่อย และวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ พร้อมกับดูต้นไม้ในพื้นที่ใกล้ๆ กับสถานที่ตั้งของธุรกิจครอบครัวที่เขาปลูกไว้กว่า 20 ไร่ และแปลงนาข้าวกว่า 40 ไร่ที่ปลูกใกล้โรงงาน ให้พนักงานของครอบครัวร่วมใจกันปลูกและเก็บเกี่ยว

ภาวะ “ล้มละลาย” ที่เกิดกับเลแมน บราเดอร์ส เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือสิ่งที่ “กฤษดา” บอกว่า ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และแม้จะเห็นสัญญาณมาล่วงหน้าหลายเดือนแล้วแต่พอรู้ว่า “ล้มละลาย” ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ “วูบ” เพราะขณะนี้ไม่มีบริษัทแล้ว และต้องรอเจ้าของใหม่คือ “โนมูระ” ที่เข้ามาซื้อกิจการเลแมน บราเดอร์สในเอเชียว่าจะตัดสินใจกับออฟฟิศในไทยอย่างไร

ความรู้สึกนี้ไม่ต่างจากพนักงานเลแมนฯ ในไทยอีกหลายคน และนับจากวันนี้ความรู้สึกของคนอื่นต่อ “เลแมนฯ” อาจเปลี่ยนไป

สิ่งที่ “กฤษดา” บอก ไม่ต่างจากความรู้สึกของคนนอก คือก่อนหน้านี้ “เลแมนฯ” เป็นที่ที่คนเก่งจบจากสถาบันที่มีชื่อเสียงร่วมงานด้วย เพราะทั้งท้าทาย เท่ และผลตอบแทนดี แต่วันนี้ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป เลแมนฯ ในการรับรู้ใหม่ของคนทั่วไปคือเลแมนฯ ที่ล้มละลาย ซึ่ง “กฤษดา” บอกว่าเป็นความรู้สึกที่ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นแล้ว และทำใจ

ที่สำคัญกว่านั้น การทำใจยังมาพร้อมกับเป็นบทเรียนให้รู้ว่าการจูงใจให้ผู้บริหารบริษัทในธุรกิจลักษณะนี้ หาช่องทางทำกำไรมากๆ จนนำมาสู่การเก็งกำไรจากนวัตกรรมทางการเงินในหลายรูปแบบ เพื่อออกดอกออกผล และตอบแทนให้กับผู้บริหารอาจเป็นสิ่งที่ผิด อย่างที่ผ่านมาที่บริษัทยิ่งทำกำไรมาก ผู้บริหารและพนักงานยิ่งได้เงินเดือน และผลตอบแทนสูง จนผู้บริหารหลายคนที่อเมริกามีเครื่องบินส่วนตัว มีรายได้เป็นหลัก 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ณ วันนี้ วาณิชธนกิจที่โด่งดังอย่าง “เลแมน บราเดอร์ส” กำลังปิดฉากลง หลังจากอยู่บนเส้นทางการเงินมานาน 158 ปี แต่สำหรับพนักงานอีกหลายคน คือการที่ต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับเส้นทางสายนี้ ที่ยังไม่รู้ว่าระหว่างทางจะเป็นอย่างไร