ยกเลิก ก็เสีย ไม่ยกเลิกก็… (?)

ระหว่างที่หน้าจอทีวี สื่อทุกช่องกำลังเล่นภาพ ฝูงชนในอเมริกา ชาวสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี กำลังเข้าแถวยาวเหยียด ภายในอาคารสูงของสาขาเอไอเอ ด้วยสีหน้าวิตกกังวล โดยมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต แลกกับเงินสด

เป็นช่วงเช้าที่โกลาหล ชุลมุน หลังจากเลแมน บราเดอร์ส ประกาศตัวขอล้มละลายแบบไม่อายใคร ในคืนวันอาทิตย์ ข้ามมาถึงก่อนฟ้าสาง เช้าวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2551 ตรงกับเวลาในประเทศไทย

จนถูกเรียกขานว่า “คืนอาทิตย์นรก ย่านวอลล์สตรีท”…

ไม่ทันถึง 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ให้บริการลูกค้าของเอไอเอ สาขาประเทศไทย ก็ต้องทำงานหนักเป็นครั้งแรกในชีวิต เสียงตามสายกริ๊งกร๊างไม่หยุด จนทำเอาระบบเกือบรวน เหมือนกับตัวองค์กร ที่ออกอาการรุกรี้ลุกลนอย่างบอกไม่ถูก…

คนที่เดินทางเข้ามายังอาคารสำนักงานใหญ่ เอไอเอ ได้เอง ก็มีบางส่วน ทะลึ่งพรวดพราดเข้ามาไถ่ถามถึงที่ ด้วยอารมณ์ที่ยังสับสน ไม่ต่างจากสีหน้าเจ้าของกรมธรรม์ที่เห็นผ่านหน้าจอทีวี…

สีหน้าของเจ้าของกรมธรรม์สะท้อนให้เห็นว่า กำลังมองหาทางออกที่ดีที่สุดในยามนี้ เช่นว่า ควรจะยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อแลกกับกอดเงินสดไว้กับตัวให้อุ่นใจ หรือจะถือครองกรมธรรม์ต่อ โดยไม่สามารถคาดคะเนสถานการณ์รอบตัวได้…?

ส่วนใหญ่คือผู้ถือครองกรมธรรม์ในเมืองหลวง เลยไปถึงปริมณฑล ที่ยังไม่แน่ใจกับ “เฮอร์ริเคน ซัพไพรม์” ซึ่งถล่มอเมริกาเสียราบคาบ ว่าจะเกิด “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมาอีกระลอกเล็กหรือใหญ่…

เจ้าของเสียงที่เดินทางมาไม่ได้ ต่างก็ใส่อารมณ์ผ่านเสียงตามสายเต็มที่… “AIAจะล้มหรือเปล่า แล้วพี่จะได้เงินคืนมั้ย?…”

…หรือไม่ก็พูดออกมาโต้งๆ ว่า… “พี่ขอยกเลิกกรมธรรม์ละกันนะ กลัวไม่ได้เงินคืน”…

แต่ก็มีบางส่วนยังลังเล ส่งเสียงละล่ำละลักออกไปตรงๆ… “จะเอายังไงดีเนี่ย ถ้าต้องยกเลิก แล้วพี่จะได้เงินคืนครบหรือเปล่า”…

น้ำเสียงหวานสดใสของผู้ถูกซักฟอก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีแบบฟอร์มคำตอบเดียวกันก็คือ … “ใจเย็นๆ ค่ะพี่ ไม่ต้องกลัว เราไม่เกี่ยวกับบริษัทแม่ เอไอจี เลย อย่ายกเลิกจะดีกว่านะคะ”…

ท้ายที่สุด เจ้าของเสียงที่ทำหน้าที่ปลุกปลอบ “ขวัญหนี ดีฝ่อ” ของลูกค้าเจ้าของกรมธรรม์ก็เลี้ยวมาบรรจบลงประโยคที่ว่า… “ยกเลิกกรมธรรม์ ไม่คุ้มแน่นอน ถือไว้ดีกว่าค่ะ (ครับ) ”…

เสียงลูกค้าเอไอเอยังคงไล่บี้ต่อไป ขณะที่บางส่วนเดินทางมาที่สำนักงานใหญ่ ต่างก็แสดงสีหน้าหลากอารมณ์ พร้อมคำถามที่คั่งค้างอยู่ในใจ คอยเงี่ยหูฟังสถานการณ์ที่ตัวเองก็ไม่คาดคิด ว่าตกลงจะหาทางออกให้กับทรัพย์สินของตัวเองอย่างไร?…

…หากถอน ยกเลิก หรือเวนคืนกรมธรรม์ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ที่ใครต่อใครก็คาดคะเนไม่ได้ มันจะคุ้มหรือไม่ กับเบี้ยที่จ่ายออกไป แล้วถ้าคืนกลับมาจะได้เท่ากับที่จ่ายออกไปหรือไม่…

คำตอบนั้นก็อยู่ใกล้แค่คืบ… เพียงแต่หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตเลยหรือ ไม่เคยมีตัวแทนรายใดแนะนำในตอนที่ถูกคะยั้นคะยอให้ซื้อกรมธรรม์ใหม่ๆ

บริษัทหลายแห่งแนะนำให้ลูกค้าควรรู้จักข้อมูลส่วนนี้เอาไว้ เริ่มตั้งแต่หัดให้ดูตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัยหรือ “มูลค่าเวนคืน” หรือมูลค่าเงินสดตามกรมธรรม์ ต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาทแนบมาด้วย

รายที่ซื้อครั้งแรก และเพิ่งจ่ายเบี้ย ถ้าอยากถอนทันที ก็สามารถส่งคืนกรมธรรม์ให้บริษัทได้ภายใน 15 วัน ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด จากนั้นบริษัทจะคืนเบี้ยที่เหลือให้ หลังหักค่าตรวจสุขภาพตามจ่ายจริง และค่าใช้จ่ายบริษัทฉบับละ 500 บาท ความคุ้มครองก็จะจบลงเช่นกัน

แต่ถ้าพ้นจาก 15 วัน บอกได้เลยว่า การยกเลิกนับจากนั้นไปแล้ว จะมีแต่ “เสีย” กับ “สูญ”…

ใครที่เกิดเปลี่ยนใจในช่วงนี้ ก็เป็นคราว “เสียค่าโง่” เพราะปีแรกบริษัทจะหักค่าใช้จ่ายสารพัด เช่น ค่านายหน้า 40% ซึ่งมักจะสูงในปีแรกตามกฎหมายกำหนด

ที่เหลือจากนั้นก็คือ ค่าน้ำ ไฟ ค่าหมึก กระดาษ เอกสาร ฯลฯ หักไปมา ก็แทบไม่เหลือเงินที่จะคืนสักเท่าไร…

ว่ากันว่า มูลค่าเงินสดตามกรมธรรม์ที่ลูกค้าจะได้รับเงินสดคืนกลับไป อาจทำให้เจ้าของกรมธรรม์แทบร้องไห้ตาบวม เพราะอาการปวดกระดองใจ…

ยกเว้นรายที่จ่ายงวดเดียวเป็นเงินก้อนโต หรือกรมธรรม์ซิงเกิลพรีเมียม เท่านั้น ที่จะได้เงินคืนถึง 80% ของเงินออมปีแรก

บริษัทยังอธิบายความสำคัญของตารางมูลค่าเงินเวนคืนต่อไปว่า ถ้าริจะยกเลิกในปีที่สอง ไปถึงปีสาม สี่ ห้า ถ้าให้ตัวแทนอธิบายอย่างละเอียดก็จะรู้ว่า ยกเลิกไปก็เท่ากับขาดทุนย่อยยับ เงินเหลือคืนมาต่ำกว่าครึ่งด้วยซ้ำ เช่น จ่ายไปเป็นแสน ก็อาจจะกลับคืนมาห้าหมื่น

ส่วนใหญ่พอรู้แล้ว ก็มักจะรับกันไม่ค่อยได้…

ทั้งหมดคือรูปแบบการออกเงื่อนไขที่บริษัทพยายามจะให้ลูกค้าถือกรมธรรม์จนครบสัญญา ถ้าเลิกระหว่างทางก็เป็นอันจบกัน ขาดทุนตามระเบียบ

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขก็ไม่ได้ผูกปมเอาไว้ให้ลูกค้าเสียเปรียบฝ่ายเดียว ยังมีช่องทางที่ลูกค้าจะใช้สิทธิ ไม่ส่งเบี้ยต่อ แต่ก็ยังอยากได้รับความคุ้มครองต่อไปได้

นั่นก็คือ การขอใช้เงื่อนไขขยายเวลาการรับประกัน โดยบริษัทจะนำเบี้ยที่จ่ายไปทั้งหมดมาคำนวณหามูลค่าใช้เงินสำเร็จ แล้วสรุปผลออกมาเป็นระยะเวลาคุ้มครอง

ถ้ากรมธรรม์ไม่ครอบคลุมระยะเวลาตามสัญญาคุ้มครอง ก็เป็นอันหมดข้อผูกมัดกับบริษัท รวมทั้งสิทธิอื่น เช่น เงินคืนระหว่างปี เงินปันผลก็จะหายวับไปกับตา เช่นกัน

หรือ วิธีอื่นๆ ที่ตัวแทนจะบอกเล่า ชี้แจงให้หาช่องใหม่ๆ ได้ แต่ทั้งหมดก็มีบทสรุปเดียวกันคือ ยกเลิกกรมธรรม์ หรือเวนคืนกรมธรรม์ ที่บอกได้คำเดียวว่ามีแต่เจ๊ง กับเจ๊ง !!…ไม่มีเจ๊าด้วยซ้ำไป…

แต่ถ้ายังสบายใจจะถือครองต่อไป เพราะเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน ก็มีทางเดียวคือท่องคาถาไว้ในใจว่า…“อย่าล้ม…อย่าล้ม”…