“AIG” อเมริกา ถูกชาวโลกพิพากษาโทษจนล้มทั้งยืน จวนเจียนจะล้มละลาย จากการนำพาองค์กรอันทรงอิทธิพลทางการเมืองและบนโลกการเงิน เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ซัพไพรม์” สุดท้ายต้องเร่ขายทรัพย์สิน ตัดขายหุ้น บริษัทใน “เครือ AIG” รวมถึง “สาขาAIA” เกือบครึ่งค่อนโลก หั่นทิ้งสายธุรกิจ “คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ กรุ๊ป หรือ CFG” แบบไม่ไยดี ใน 11 ประเทศทั่วโลก เป็นการปิดฉากสายธุรกิจ CFG และถึงกาลอวสานความเชื่อมั่นในแบรนด์ประกันภัยพี่เบิ้มระดับโลก…
ความจริงในเดือนตุลาคมนี้ น่าจะเป็นวันเกิดครบรอบ 70 ปี เอไอเอ สาขาประเทศไทย ที่คนเอไอเอควรจะได้รับของขวัญวันเกิดด้วยข่าวสารด้านดี ในฐานะผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรประกันชีวิต หากไม่เป็นเพราะผลโยงใยความเสียหายมาจากการเข้าไปเกี่ยวพันกับ “ซัพไพรม์” กลับทำให้วันเกิดปีนี้กลายเป็น “ฝันร้าย” ที่คนเอไอเอ หรือแม้แต่บริษัทในเครือ AIG ไม่อยากตื่นขึ้นมาเผชิญหน้ากับความจริงอันแสนเลวร้าย…
และยิ่งกว่าคืนฝันร้ายก็คือ บริษัทแม่ AIG กำลังถูกบีบจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ “เฟด” ให้เร่งตัดขายสินทรัพย์มาใช้หนี้ก่อนจะถูกควบคุมอำนาจบริหาร จนองค์กรตกเป็น “สมบัติ” ของรัฐบาลกลาง
กลางดึกคืนวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม 2551 เสียงประกาศกึกก้องจากตึกบัญชาการ AIG ที่นิวยอร์ก ส่งคลื่นสัญญาณมาไกลข้ามโลก เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า จะมีการตัดขายธุรกิจสายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ ธุรกิจหลัก หรือ CORE BUSINESS ออกไป
แปลความหมายได้ว่า บริษัทแม่ อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ หรือ AIG จะเก็บเฉพาะ “สมบัติล้ำค่า” ธุรกิจหลัก คือ ประกันภัยและประกันชีวิต ที่หวงแหนยิ่งกว่าไข่ในหินล้อมรอบด้วยอัญมณี เอาไว้กับตัว โดยไม่ยอมแบ่งให้กับใครได้เชยชมง่ายๆ
ยังไม่ทันสิ้นเสียงประกาศ ธุรกิจที่ไม่ใช่สายหลัก AIG ก็เตรียมนำขึ้นเวทีพร้อมประมูลขายให้กับบรรดานักลงทุนสถาบันที่ยังมีสภาพคล่องล้นเหลือ ซึ่งคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ราย…
นักวิเคราะห์ถึงกับร่ายยาวว่า ในเบื้องต้น AIG จะต้องตัดขายสินทรัพย์ใน 15-20 ธุรกิจหลักออกไปก่อน
ประเดิมด้วย อินเตอร์ เนชั่นแนล ลิส ไฟแนนเชียล คอร์ป กิจการเช่าซื้อเครื่องบิน ที่มีราคาค่างวดประเมินกันสูงระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือแม้แต่กิจการประกันภัยต่อในเบอร์มิวด้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และซิตี้แอร์พอร์ต ในลอนดอน
ก่อนจะมาจบลงจนสร้างแรงสั่นสะเทือนยิ่งกว่า “สึนามิ” ให้กับบริษัทลูกทั่วโลกก็คือ ประกาศขายยกล็อต กลุ่มธุรกิจ CFG หรือคอนซูเมอร์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยทั่วโลก 11 ประเทศ
ในกลุ่มนี้จึงมีชื่อ “ธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อย” แบงก์น้องใหม่อายุยังไม่ถึงขวบปีดีนัก ปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบด้วย…
แต่ที่สั่นคลอนความรู้สึก ขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์ AIG หรือแม้แต่ AIA มากขึ้นไปอีก กลับเป็นการประกาศขายหุ้นไม่เกิน 49% ของ “เอไอเอ โฮลดิ้ง คอมพานี” ที่ AIG ถือหุ้นในสาขาประกันชีวิต เอไอเอ ใน 13 ประเทศทั่วโลก ให้กับนักลงทุนกระเป๋าหนัก
สิ้นเสียงประกาศ ลูกค้าของ AIG ในกลุ่มธุรกิจ CFG และสาขา AIA ย่านเอเชียก็ออกอาการหนาวๆ ร้อนๆ
เพราะทันที่ที่มีสัญญาณตรงจากนิวยอร์กในคืนนั้น 3 บริษัทประกันชีวิตในเครือ AIG บนเกาะญี่ปุ่น ก็ถูกประกาศขายแบบไม่เสียดาย ประกอบด้วย เอไอจี สตาร์, เอไอจี เอดิสัน และอาลิโก ที่ว่ากันว่า น่าจะได้ราคาร่วม 10,000 ล้านดอลลาร์
ระหว่างที่เกิดความสับสน และคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า AIG จะขายกิจการหรือหุ้นบางส่วนในดินแดนใดบ้าง หลังถอนสมอออกจากแผ่นดินซามูไรแล้ว
ในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม AIG ก็ประกาศขาย ฟิลิปปินส์ อเมริกันไลฟ์ และ เจเนอรัล อินชัวรันส์ หรือ ฟิลแอมไลฟ์ในแดนตากาล็อก ชนิดสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับเจ้าถิ่นไม่น้อย
ในที่สุดธุรกิจประกันชีวิตที่ AIG มักนิยามเป็น “เพชรประดับบนยอดมงกุฎ” เพราะทำรายได้ให้กับบริษัทแม่มหาศาล ก็กำลังจะถูกตัดขายหุ้นบางส่วนให้กับพันธมิตรใหม่ เพื่อนำเงินมาล้างหนี้
ก่อนจะวกเลี้ยวมาถึงสาขาเอไอเอในเอเชียหลายแห่งที่จะต้องโดนแรงระเบิดไปด้วย รวมถึง สาขาฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเอไอเอ สาขาประเทศไทย
เท่ากับว่า สาขาเอไอเอ นอกอเมริกาที่เคยร่ำรวยมหาศาล มีอัตราการเติบโตรวดเร็ว วางรากฐานอย่างแข็งแกร่งในประเทศย่านนี้มานานกว่า 90 ปี จะต้องแบ่งให้คนอื่นเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์ การตักตวงผลประโยชน์ไปบ้างแล้ว หลังจากที่เก็บกินอยู่ฝ่ายเดียวมานาน
โทมัส เจมส์ ไวท์ รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไป เอไอเอ สาขาประเทศไทย พร้อมทั้ง สตีเวน บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการและประธานคณะผู้บริหาร/ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ บริษัทเอไอเอสจี ประกันวินาศภัย (ประเทศไทย) จำกัด และ ชาลี มาดาน กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย เปิดแถลงข่าวในช่วงเช้าวันจันทร์ 6 ตุลาคม โดยมีสื่อมวลชนจากทุกแขนงเข้าร่วม รวมแล้วเกือบ 100 ชีวิต ทำเอาห้องประชุมบนชั้น 20 ของสำนักงานใหญ่เอไอเอส ประเทศไทย แน่นไปถนัดใจ
โทมัส บอกในการแถลงข่าวว่า AIG จะอยู่ระหว่างสรรหานักลงทุนมีชื่อเสียง ฐานะการเงินแข็งแกร่งมาร่วมกิจการ แต่เอไอเอก็จะยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ
เป็นการสร้างความเชื่อมั่น และพยายามยุติการยกเลิกกรมธรรม์ของลูกค้าไปด้วยในตัว…
“ทรัพย์สินส่วนใหญ่ทั้งหมด จะยังอยู่ในรูปการลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าพอร์ตลงทุน รวมถึงในอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นการปรับกลยุทธ์จะไม่กระทบต่อธุรกิจประกันชีวิต”
โทมัส ย้ำอยู่เสมอว่า AIA ได้รับโทรศัพท์จากนักลงทุนหลายราย แต่จำเป็นต้องคัดสรรกลุ่มที่มีกลยุทธ์ และแผนงานเอื้อบริษัทแม่ได้ แล้วค่อยมากำหนดอัตราส่วนการถือครองหุ้นว่าจะถือครองมากน้อยแค่ไหน…
เป็นอันสรุปว่า การปรับโครงสร้างองค์กรของ AIG ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์รอบ 100 ปี จะต้องขายหุ้นที่ถืออยู่ในสาขาเอไอเอย่านเอเชียบางส่วนออกไป โดยนักวิเคราะห์คาดกันว่าจะทำรายได้สูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
ตรงกันข้าม ธุรกิจหลักอย่างประกันวินาศภัย ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำในแต่ละปีร่วม 40,000 ล้านดอลลาร์ AIG จะเก็บไว้เชยชม โดยไม่ยอมตัดขายหุ้น หรือขายกิจการแม้แต่ส่วนเสี้ยวเดียว…
ความเชี่ยวชาญในธุรกิจประกันวินาศภัยมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ทำให้ AIG รู้ดีว่าธุรกิจนี้ทำกำไรให้งดงามแค่ไหนในแต่ละปี ยิ่งถ้าไม่มีภัยใหญ่ๆ เกิดขึ้นเลย AIG ก็จะเก็บกินผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยกเว้นว่าจะเจอภัยก่อการร้าย และภัยธรรมชาติเสียหายหนักๆ เท่านั้น ที่อาจจะทำให้กระเป๋าฉีกไปบ้าง
สำหรับ AIG เข้ามาบุกเบิกตลาดประกันชีวิตและประกันวินาศภัยในประเทศไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน หลักๆ ยังคงสถานภาพเป็นสาขาของ AIG ฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ AIG Holding เพราะได้เปรียบในแง่เครดิตจากบริษัทแม่ จึงไม่ต้องวางวงเงินกองทุนในประเทศไทยเหมือนกับบริษัทจดทะเบียน เป็นนิติบุคคลในประเทศ
ความได้เปรียบของสถานภาพสาขามีผลมาตั้งแต่กฎหมายประกันภัยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2535 แต่เอไอเอเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับการยกเว้น และมีอภิสิทธิ์อยู่เหนือบริษัทอื่นๆ เพราะเข้ามาก่อนที่จะมีกฎหมายประกันภัยเสียอีก
ถึงแม้ภาคเอกชนและทางการจะพยายามทุกวิถีทางให้ AIG เปลี่ยนมาจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศ แต่ก็ไม่สำเร็จ
ดังนั้น ทุกวันนี้ เอไอเอ จึงต้องอาศัยชื่อ “สำนักงานตัวแทน” ขึ้นป้ายแทนสาขา โดยเลือกจะมีสถานภาพสาขาหนึ่งเดียว เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกด้าน
แต่แล้ว พ.ร.บ.ประกันภัยและประกันชีวิต ฉบับใหม่ ปี 2551 ก็มัดเอไอเอ ให้ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายรัฐบาลไทยโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินมาวางเป็นประกัน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการจ่ายผู้เอาประกัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ การเจรจาบนเวทีโลกทุกครั้ง เอไอเอ ก็มักจะเป็นผู้กำชัยชนะ ไม่ต้องเปลี่ยนมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศ โดยสามารถใช้เครดิตบริษัทแม่ AIG ค้ำยันฐานะที่มั่นคงเอาไว้ได้ทุกครั้ง ไม่ว่าเงินกองทุนที่กฎหมายกำหนด หรือแม้แต่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
กฎหมายใหม่ นอกจากจะทำให้เอไอเอต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน ความเป็นสาขาก็ไม่ทำให้ขนเงินออกไปได้โดยง่าย เพราะทรัพย์สินต่างๆ จะอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ดังนั้นรูปแบบสาขาภายใต้กฎหมายใหม่จึงไม่ได้ทำให้เอไอเอได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นเหมือนในอดีต…
อย่างไรก็ตาม เอไอเอ ประกันชีวิต ประเทศไทย ก็ยังคงยึดสถานภาพสาขาอย่างเหนียวแน่น…
ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยภายใต้ร่ม AIG อย่าง นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ ที่เคยยึดรูปแบบสาขามาตลอด ก็กำลังจะเตรียมควบรวมกับ AIG ประกันวินาศภัย (ประเทศไทย) ในปี 2552 เพื่อแปลงร่างมาเป็นบริษัทจดทะเบียนในไทยอย่างสมบรูณ์
โดยเฉพาะฝ่ายหลัง AIG ได้เข้ามาซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ “ไพศาลประกันภัย” เมื่อหลาย 10 ปี ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ AIG ในภายหลัง
ทั้งสองบริษัทประกันวินาศภัย มีกำไรสะสม 1,700 ล้านบาท มีเบี้ยรับรวม 7 เดือนแรกปีนี้ 2,800 ล้านบาท ขยายตัว 25% ในปี 2550 ส่งเงินกลับบริษัทแม่ 200 ล้านบาท หรือประมาณ 40-50% ของผลกำไร มีเงินลงทุนมากกว่า 3,000 ล้านบาท
โดย AIG ประกันวินาศภัย มีเงินกองทุน 300 ล้านบาท มีสภาพคล่องการเงิน 70% ในปี 2550 มีกำไร 21 ล้านดอลลาร์ มีตลาดอยู่ในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย
ส่วนนิวแฮมพ์เชอร์มีเงินกองทุน 1,400 ล้านบาท มีสภาพคล่องการเงิน 117% ปี 2550 มีกำไรเพียง 6.6 ล้านดอลลาร์ ลดลง เพราะมีเคลมใหญ่จากโรงกลั่นน้ำมัน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าสถาบันในเขตใจกลางเมืองหลวง
สตีเวน บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการและประธานคณะบริหาร กลุ่มธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย อธิบายว่า ธุรกิจประกันของ AIG นอกอเมริกามีทรัพย์สินรวมกันถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจนี้จะเป็น “Core Business” หนึ่งเดียวที่ AIG ค่อนข้างหวงแหนนักหนา…
แต่ถึงอย่างนั้น วิกฤตความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ AIG ก็ทำให้มีผู้ถือกรมธรรม์ส่วนหนึ่งขอยกเลิกกรมธรรม์ เหมือนที่เกิดขึ้นกับ AIA ประกันชีวิตทั่วโลก
ในอีกด้านหนึ่งการขยายตลาดของ AIG ในส่วนคอนซูเมอร์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ CFG ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นได้เพียงปีเดียวในตลาดเมืองไทย ในร่างของ “ธนาคารเอไอจีเพื่อรายย่อย” รวมถึงเอไอจี การ์ด ประเทศไทย ก็จะต้องถึงกาลอวสาน…
ส่วนสำคัญคือ เพราะไม่ใช่กลุ่มธุรกิจหลักที่จะเก็บเอาไว้ ทั้งที่สถานะทางการเงินค่อนข้างเข้มแข็ง เพียงแต่เป็นธุรกิจส่วนเสริมเชื่อมธุรกิจในเครือ AIG ให้เกาะเกี่ยวกันมากขึ้นเท่านั้น
ฉากแรกของ “ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย” เริ่มต้นขึ้นหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดย AIG เข้าซื้อกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) บางกอกอินเวสต์เมนต์ ในปี 2541 ในราคาถูกแสนถูก
ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัทเงินทุน เอไอจี ไฟแนนซ์ ประเทศไทย ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ และบริการเงินฝากในรูปตั๋วแลกเงิน
จนกระทั่งยกระดับขึ้นเป็นธนาคารเพื่อรายย่อย ตามแผนแม่บททางการเงิน ที่กำหนดให้ ไฟแนนซ์ต้องยกฐานะเป็นแบงก์
ชาลี มาดาน กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย ลูกหม้อเก่า ซิตี้แบงก์ และเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนี้ได้เพียง 90 วัน อธิบายว่า ธนาคารจะยังคงดำเนินการไปตามแผนเดิม ถึงแม้ AIG จะประกาศขายกิจการออกไป ใน 11 แห่งทั่วโลก
“พันธมิตรอยากได้ในเรื่อง อินฟาสตรัคเจอร์ สาขา ฐานลูกค้า เขาก็อยากจะกระโดดเข้ามา เพื่อสามารถต่อยอดได้เลย เพราะเรามีครบทั้งลูกค้า สินค้า สภาพคล่อง แบรนด์ที่ดี เงินกองทุนแข็งแกร่ง และมีระบบไอทีที่ดี”
ชาลี แจกแจงความแข็งแกร่งของธนาคารแห่งนี้ ก่อนจะถูกขายกิจการให้กับพันธมิตรหน้าใหม่เข้ามาดูแลแทน และดำเนินการต่อไป
ปัจจุบัน ธนาคารน้องใหม่แห่งนี้มีฐานเงินฝาก 1.75 หมื่นล้าน มียอดสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านบาท มีฐานลูกค้า 3.5 แสนราย มีวงเงินสำรองที่ AIG เติมเข้ามา 1.4 หมื่นล้านบาท มีฐานเงินทุน 3,400 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้เพิ่งเพิ่มทุน 1,600 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมา
วิกฤตการณ์ AIG ก่อนหน้านั้น มีผลต่อความเชื่อมั่นลูกค้าธนาคารพอสมควร ธนาคารแห่งนี้จึงต้องเผชิญหน้ากับการที่ลูกค้าขอถอนเงินฝากร่วม 10% ของยอดเงินฝากที่ 1.9 หมื่นล้านบาท พร้อมกับข่าวคราวว่าจะยุติการทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อ
แต่ชาลีก็ออกมากลบข่าวนี้ด้วยการยืนยันว่า ยังดำเนินการต่อไปจนกว่าผู้เข้ามาใหม่จะมาสวมแทน และดำเนินการต่อ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น…
ดังนั้นลูกค้าหรือแม้แต่ลูกหนี้ธนาคารแห่งนี้ จึงไม่ต้องกังวล เพราะเงินสำรองทั้งในรูปเงินฝากที่หลั่งไหลเข้ามาในระยะหลัง จากลูกค้าองค์กรและกองทุนต่างๆ สามารถทดแทนเงินฝากส่วนที่ถูกถอนออกไปได้ โดยเม็ดเงินยังคงเก็บไว้กับแบงก์ชาติ และสามารถจ่ายเป็นภาระผูกพันให้กับลูกค้าได้ทุกราย
“เราก็เหมือนสาวสวย ใครๆ ก็อยากรุมตอม เหมือนดอกกุหลาบไม่เคยสิ้นกลิ่นหอม หรือแม้แต่เหมือนเพชรเม็ดงามที่รอให้เจียระไนเป็นเม็ดเล็กที่อาจงดงามกว่า”
ชาลีให้คำจำกัดความ ธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย ก่อนจะถูกส่งเปลี่ยนมือไปให้กับ ใครก็ตามที่ “ใจถึงและเงินถึง” พร้อมจะเข้ามาประมูลสินทรัพย์ AIG แบบยกล็อต…
กระบวนการประมูล “สินทรัพย์น้ำงาม” ของ AIG ทั้งหมดกำลังจะเกิดขึ้นในเสี้ยวนาทีช็อกโลก และช็อกความรู้สึกของลูกค้า AIG และ AIA ในช่วงเวลาที่ AIG ถูกหมัดน็อกเอาต์ แทบล้มทั้งยืน จวนเจียนจะล้มละลาย
สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ไม่ว่า AIG จะประกาศขายกิจการไปกี่ชิ้นหรือยกล็อตหลายรอบ เพื่อให้ได้เงินมาล้างหนี้ และต่อลมหายใจ ยักษ์ใหญ่ที่เคยยืนอยู่อันดับต้นๆ ของทำเนียบธุรกิจขนาดใหญ่ยักษ์ก็ตาม
แต่ก็ยังไม่มีใครเลยจะล่วงรู้ และทำนายได้ว่า ความเชื่อมั่นที่สูญหายไปจะกลับคืนมาเมื่อไร …หรือว่า…อาจจะไม่มีวันหวนกลับมาเลย ตลอดเวลาที่ AIG กำลังดิ้นรนสารพัดวิธี ให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม ของ “วิกฤตซัพไพรม์”…