เมื่อสื่อใหญ่โบกมือลา Facebook “Instant Articles”

หากย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2015 ซึ่งเป็นวันที่มีการเปิดตัว Instant Articles ของเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่างเป็นทางการได้สร้างสีสันครั้งใหญ่ให้กับวงการสื่อ โดยในช่วงนั้นได้มีการเปิดตัวพันธมิตรสื่อยักษ์ใหญ่ที่จะนำคอนเทนต์มาร่วมเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์กไทม์, National Geographic, BuzzFeed, NBC News, The Atlantic, The Guardian, BBC News, The Huffington Post ฯลฯ

การเกิดขึ้นของบริการ Instant Articles นั้น เฟซบุ๊กได้นำเสนอในเชิงที่ว่าจะทำให้ประสบการณ์ในการอ่านข่าวของผู้บริโภคดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งโหลดได้อย่างรวดเร็วเพราะอยู่บนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แผนที่สามมิติ ภาพประกอบข่าวพร้อมคำบรรยายเสียง ตลอดจนภาพประกอบข่าวที่เป็นคลิปวิดีโอ ที่เฟซบุ๊กมองว่าจะเป็นเครื่องมือชั้นดีสำหรับดึงดูดให้ผู้ใช้งานเข้ามาอ่านข่าวกันมากขึ้น รวมถึงใช้ดึงดูดสำนักข่าวให้ยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเฟซบุ๊กในการเปิดตัวเพื่อสร้างเครดิตให้กับบริการครั้งนี้

สำหรับสำนักข่าว เดิมพันครั้งนี้สูงมากเพราะมันหมายถึงอำนาจในการควบคุมคอนเทนต์ที่ลดลง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สื่อหลายสำนักตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเฟซบุ๊กนั้น อาจเป็นเพราะว่า วงการสื่อก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการอ่านข่าวผ่านทางเว็บไซต์ (ซึ่งเข้าผ่านคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป) ไปสู่การรับข่าวสารผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ (Twitter), สแนปแชท (Snapchat) และอีกหลาย ๆ แอปพลิเคชัน ทำให้สื่อเองก็มองว่าอาจเป็นการดีกว่าที่จะเข้าสู่แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กเนื่องจากมีฐานผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลรองรับ

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มีเสียงจากบรรดาสำนักข่าวต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับบริการ Instant Articles ออกมาเช่นกัน โดยมองว่า เฟซบุ๊กกำลังเข้ามามีอิทธิพลเหนือวงการสื่อ และกลายเป็นสื่อเองที่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น โดยบางส่วนกังวลว่า หากมีข่าวที่ไม่เป็นผลดีต่อเฟซบุ๊กเกิดขึ้นในอนาคต เฟซบุ๊กจะนำเสนอหรือไม่? เพราะอำนาจในการตัดสินใจนั้นเป็นของแพลตฟอร์ม Instant Articles โดยตรง หลายคนกังวลมากไปกว่านั้นว่าการที่ต้องไปอาศัยแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กจะทำให้สำนักข่าวไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะเหมือนการยืมจมูกคนอื่นหายใจนั่นเอง ฯลฯ

แต่เมื่อถูกหักล้างด้วยข้อดีที่ว่า เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่สามารถดึงคนเข้าไปอยู่รวมกัน (และจนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น) ก็ทำให้หลาย ๆ สำนักข่าวมองว่า นี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างฐานผู้อ่านได้มากขึ้น โดย Will Oremus ผู้บริหารจาก Slate ถึงกับเคยให้ความเห็นว่า จริง ๆ แล้วมันอาจมีประโยชน์ก็ได้ที่สำนักพิมพ์จะเอาต์ซอร์สงานด้านการเผยแพร่ข่าว และการขายโฆษณาไปให้บริษัทเทคโนโลยีทำแทน ส่วนสำนักข่าวก็หันมาทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด นั่นคือการ “รายงานข่าว”

แต่สองปีหลังจากเปิดบริการ Instant Articles ความหวังที่จะใช้ Instant Articles สร้างรายได้ และฐานผู้อ่านของสำนักข่าวบนแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเกือบสองพันล้านคนก็ดูจะพังทลายไปแล้วเรียบร้อย

โดยสาเหตุที่ทำให้บริการตัวนี้พลาดเป้านั้น ทางฝั่งสำนักข่าวมองว่า เป็นเพราะเฟซบุ๊กที่ให้ความสนใจกับคอนเทนต์วิดีโออย่างมากจนละเลยคอนเทนต์ในลักษณะอื่น ๆ ไปหมด โดยการให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ประเภทวิดีโอเกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัว Instant Articles เพียง 4 เดือนเท่านั้น

ล่าสุดมีผู้ผลิตคอนเทนต์ยักษ์ใหญ่จำนวนหนึ่งตัดสินใจโบกมือลา Instant Articles แล้วเรียบร้อย ได้แก่ นิวยอร์กไทม์, Vice, ฟอร์บส์, แอลเอไทม์, ชิคาโกทรีบูน ฯลฯ ขณะที่ซีเอ็นเอ็น, วอลล์สตรีทเจอร์นัล นั้นลดการใช้งานลงเหลือเพียงบางบทความเพราะผิดหวังในด้านยอดผู้อ่านและรายได้

“เราทำเงินบน Instant Articles ได้น้อยกว่าที่เราทำเงินได้บนแพลตฟอร์มของเราเองซึ่งก็เชื่อว่าค่ายอื่น ๆ ก็คงเจอเช่นเดียวกัน” Bill Carey ผู้อำนวยการฝ่าย audience Development ของ Slate กล่าว

ขณะที่ Adweek ได้มีการรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วยว่า เฟซบุ๊กมีการปรับเปลี่ยนอัลกอริธึมของฟีดข่าวใหม่ โดยจัดอันดับให้โพสต์จากเพื่อนและครอบครัวมีความสำคัญเหนือกว่าลิงค์ที่ถูกแชร์จากสำนักข่าวด้วย

ยิ่งในเดือนนี้ที่มีการเปิดตัว Facebook Stories บริการที่ภาพและวิดีโอที่โพสต์จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากโพสต์ก็ยิ่งทำให้ Instant Articles ยิ่งถูกลดความสำคัญลงไปอีกในฟีดข่าว ผลก็คือ สำนักข่าวส่วนหนึ่งได้หันมาให้ความสนใจกับโปรเจกต์ Accelerated Mobile Pages (AMP Project) ของกูเกิล (Google) กันมากขึ้น รวมถึงแอปเปิลนิวส์ (Apple News) ด้วย ซึ่งข้อดีของ AMP Project นั้นสำนักข่าวสามารถควบคุมคอนเทนต์ได้มากกว่า และมีบริการเสิร์ชจากกูเกิลช่วยสร้างทราฟฟิกให้กับคอนเทนต์ด้วย

ส่วนทีมงานที่เคยสร้าง Instant Articles ในครั้งแรกเริ่มนั้นก็ลาออกกันไปแล้วหลายคน เช่น Michael Reckhow ผู้พัฒนาตั้งแต่เวอร์ชันแรกก็ได้ลาออกไปอยู่กับอูเบอร์ (Uber) ฯลฯ

ทั้งนี้ความกังวลของผู้ผลิตคอนเทนต์ก็คือนโยบายของเฟซบุ๊กต่ออัลกอริธึมที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา และเท่าที่เคยเปลี่ยนมา ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่ยกอันดับการแสดงผลคอนเทนต์จากสำนักข่าวให้ขึ้นมาสูงกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่นเลย ส่วนมากกลับกลายเป็นว่า เมื่อเฟซบุ๊กเปิดตัวบริการใหม่ ๆ ทีไร ก็จะนำบริการใหม่ของตนเองนั้นมาไว้ในอันดับบน ๆ ของอัลกอริธึมเสียเป็นส่วนใหญ่

ในสถานการณ์เช่นนี้ บางทีการเลือกเดินออกจากแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะเมื่อวิเคราะห์กันตามเนื้อผ้าแล้ว คอนเทนต์จากสำนักข่าวก็ไม่ต่างจากสินค้าฝากขาย ซึ่งเฟซบุ๊กอาจได้ส่วนแบ่งบ้างตามธรรมเนียม ดังนั้นจะไม่ดีกว่าหรือหากเน้นขายสินค้าของตนเองก่อน เพราะรายได้ที่ไหลเข้ามาก็ตรงเข้าสู่เฟซบุ๊กก่อนใครนั่นเอง

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000038856