แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน โชว์ 2 เส้นทางผ่าทางตันจากปัญหาที่โลกอาจได้รับในยุค “ออโตเมชัน” เส้นทางแรกคือระบบการศึกษาที่ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนให้ลูกหลานในอนาคตสามารถอยู่รอดมีงานทำในยุคอัตโนมัติ อีกเส้นทางคือการวางนโยบายให้เครื่องจักร ควรทำงานที่มนุษย์ทำไม่ได้เท่านั้น
2 ทางออกที่แจ็ค หม่าเสนอมานี้เกิดขึ้นเพราะความกังวลว่าชาวโลกบางส่วนจะต้อง “อยู่อย่างเจ็บปวด” ไปอีกหลายสิบปีเพราะถูกระบบอัตโนมัติแย่งงานทำ ภาวะยากลำบากของคนตกงานและอีกหลายธุรกิจที่จะล้มหายตายไปเพราะความนิยมใช้อินเทอร์เน็ต คือสิ่งที่บอกว่าทุกคนในสังคมควรเตรียมพร้อมเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง
เจ็บปวดอย่างน้อย 30 ปี?
แจ็ค หม่า ระบุในงานสัมมนาผู้ประกอบการจีน ที่เมืองเจิ้งโจว ว่าใน 30 ปีข้างหน้า ชาวโลกจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดมากกว่าความสุข เนื่องจากความขัดแย้งในสังคมช่วงเวลานั้น จะส่งผลกับทุกอุตสาหกรรม และการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน
คำว่า “ชาวโลกจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดมากกว่าความสุข” สะท้อนความคิดของแจ็ค หม่าที่เชื่อว่าธุรกิจส่วนใหญ่บนโลกดั้งเดิมจะล้มหายไป และมีธุรกิจบางส่วนเท่านั้นที่เติบโตได้บนการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นสิ่งที่โลกต้องเปลี่ยนคือระบบการศึกษา ที่จะต้องสอนให้ลูกหลานในอนาคตมีความสามารถในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนยุคอนาล็อก
นอกจากการศึกษา แจ็ค หม่ายังมองว่าหนทางเดียวที่จะทำให้ระบบอัตโนมัติทำงานไปคู่กับมนุษย์ได้ คือ แนวคิดว่าเครื่องจักร “ควร” ทำเฉพาะงานที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ จุดนี้แจ็ค หม่า ไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าควรมีการกำหนดกรอบหรือควบคุมอย่างไร โดยระบุเพียงว่านี่คือทางออกที่จะทำให้เครื่องจักรไม่เข้ามาแทนที่มนุษย์
นอกจากการศึกษา และแนวคิดในการพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ต้องเปลี่ยนแปลง แจ็ค หม่ายังมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมธนาคารคืออีกกลุ่มที่ต้องปรับตัว โดยควรเปิดโอกาสให้คนทุกระดับชั้นในสังคมสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ขณะที่ธุรกิจดั้งเดิมที่ได้รับผลกระทบ จะต้องเลิกมองอินเทอร์เน็ตในแง่ร้าย แล้วหาทางปรับธุรกิจของตัวเองให้ได้ เหมือนที่เถาเป่า (Taobao) ธุรกิจอินเทอร์เน็ตของอาลีบาบาประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างงานใหม่หลายล้านอัตรา
ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000041539