บทบาทที่ไม่เคยมีใครปฏิเสธ “สาระ ล่ำซำ” เอ็มดี หนุ่มหน้าใส ค่ายเมืองไทยประกันชีวิต สัญลักษณ์โลโก้สีบานเย็น นำความสุขมาให้กับผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิต ก็คือ “แบรนด์ แอมบาสเดอร์” ค่ายเมืองไทย กรุ๊ป…
ไม่ใช่แค่เมืองไทยประกันชีวิต แต่ยังเหมารวมถึงหน้าตาเมืองไทยประกันภัย และเครือกสิกรไทย ที่มีธนาคารกสิกรไทย พี่ใหญ่ “ล่ำซำ” เป็นแกนหลักด้วย
และชั่วโมงนี้ หลายคนโดยเฉพาะคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งไทยและเทศให้การยอมรับอีกด้านหนึ่ง คงจะเป็นบทบาท “คอนฟิเดนท์ แอมบาสเดอร์” ตำแหน่งที่ไม่ได้แต่งตั้งเป็นทางการ…
“ทูต ความเชื่อมั่น” ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย จึงทำหน้าที่ประคับประคองความเชื่อมั่นให้เกิดกับอุตสาหกรรมประกันชีวิต พร้อมๆ กับสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า “เมืองไทยประกันชีวิต”ไปด้วยในตัว…
หลังจาก ธนาคารแม่ ฟอร์ติส กลุ่มเบเนลักซ์ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 25% ในเมืองไทยประกันชีวิต เพิ่งถูกรัฐบาลยึดกิจการ เพราะโดนหางเลข “ซับไพรม์” ไปกับเขาด้วย
วิกฤตความเชื่อมั่นต่อ เอไอเอ สาขาประเทศไทย และเมืองไทยประกันชีวิต จึงได้กลายมาเป็นภารกิจเร่งด่วนของ “สาระ” เอ็มดีหนุ่มไฟแรงสูงเรียบร้อยแล้ว…
สาระต้องทุ่มเทเวลาที่มีอยู่ เดินสายร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย จนเวลาหมดไปกับงานนี้ตลอดช่วงเวลา “แพนิค” คนแห่ไปถอนกรมธรรม์
ตามประสาคนอารมณ์ดี “สาระ” มักจะมีประโยคสนุกๆ มาล้อเลียนตัวองอยู่เสมอ…“วันๆ ผมก็เหมือนกับพนักงาน เอไอจี เข้าทุกวัน”…
…แต่นั่นเป็นช่วงที่ฟอร์ติส แบงก์ ยังไม่โดนหางเลข…
สาระ ต้องทุ่มทั้งตัวขนาดที่ว่า ต้องเข้าไปชี้แจงคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการเงิน สภาผู้แทนราษฎรพร้อมกับ คปภ. ในนามสมาคมประกันชีวิตไทย ราวกับเป็นโฆษกประจำ เอไอจี ประเทศไทย มากกว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยด้วยซ้ำ
เรื่องราวที่ชี้แจงอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวเลข รายละเอียดของเงินกองทุน เงินสำรองประกันภัย ผลประกอบการแต่ละปี กำไรสะสม และพอร์ตการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมและของ เอไอเอ สาขาประเทศไทย
คราวนี้ก็เหมือนกัน สาระต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะโฆษกของกลุ่มธุรกิจประกันชีวิต จนบางเสี้ยวของชีวิตต้องหมดไปกับการพยายามลดอาการตื่นตระหนก เพื่อดึงความเชื่อมั่นที่หล่นวูบไปแบบชั่วข้ามคืนกลับคืนมาให้เร็วที่สุด
“เขาเรียกผมกับสมาคมฯไปชี้แจงร่วมกับ คปภ. ในช่วงกลางวัน จนไม่ได้กินข้าว ตอนนี้น้ำหนักหายไปกิโลนึงแล้ว”
เจ้าของเสียง ยังคงตอบคำถามด้วยอารมณ์สนุกสนาน ถึงแม้จะไม่ล่วงรู้ได้เลยว่าวิกฤตความเชื่อมั่นต่อ เอไอเอ และธุรกิจประกันชีวิตจะไปจบลงเมื่อไร
เพราะเมฆหมอกที่ปกคลุม เอไอเอ ก็ไม่ต่างจากท้องฟ้าที่มืดมิดในฤดูมรสุม ถ้าความเชื่อมั่นต่อเอไอเอไม่หวนกลับมา ธุรกิจประกันชีวิตที่ภาพลักษณ์กำลังสดใส ดีวันดีคืน ก็จะหวนกลับไปสู่วันคืนในอดีต กว่าจะสร้างความเชื่อมั่นและลบภาพลักษณ์ด้านลบต้องใช้เวลายาวนานเป็นทศวรรษ…
รูปแบบหนึ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนก็คือ มอบหมายให้สมาคมประกันชีวิตไทยจัดทำคู่มือทำความเข้าใจธุรกิจประกันชีวิต ให้กับประชาชนและตัวแทน
โดยเฉพาะการให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขในทุกด้าน ตั้งแต่ เงินกองทุน เงินสำรองประกันภัย พอร์ตลงทุน ผลประกอบการของทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิต รวมถึงให้ตัวแทนอธิบายถึงสิทธิ์ของลูกค้าก่อนซื้อ และหลังจากที่ซื้อไปแล้ว
สาระบอกว่า จากสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำงานร่วมกับสมาคมฯ พบว่า ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาดีขึ้น
“คุยกับเอไอเอแล้ว พบว่า ระยะหลังๆ ลูกค้าเวนคืนไม่มาก เพราะเอไอเอ มีระบบรองรับหลายทาง ทั้งศูนย์ฮอตไลน์ สี่สาย มีเจ้าหน้าที่ส่งจดหมายให้ลูกค้าถึงบ้าน และยังมีตัวเลขของ คปภ. และสมาคมฯ ยืนยันความแข็งแกร่งของเอไอเอ อย่างถูกต้องครบถ้วน”
ประเด็นการยกเลิกกรมธรรม์จึงถูกตัดทิ้งไป แต่ที่ยังคาใจใครหลายๆ คนอยู่ก็คือ เม็ดเงินที่ลูกค้าจะได้รับในอนาคตจะอยู่ครบถ้วนหรือเปล่า
สาระอธิบายว่า การนำเงินออกจากประเทศคงทำได้ไม่ง่าย ถึงแม้หลายคนจะตั้งคำถามว่า การมีสถานภาพเป็นสาขา เอไอเอ ของบริษัทแม่ เอไอจี ก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การม้วนเสื่อกลับบ้านของเจ้าของทุนจากต่างประเทศ ทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปการจดทะเบียนบริษัท เสมือนนิติบุคคลในประเทศหรือแม้แต่สถานภาพสาขาบริษัทแม่ในประเทศอื่นๆ ก็ตาม
ทูตความเชื่อมั่น จำเป็น ถึงกับอธิบายปนขำๆ ว่า “การจะม้วนเสื่อกลับบ้านเกิดในต่างประเทศ ใครก็ทำได้ ไม่ว่าอยู่ในสถานภาพใด แต่เมืองไทยประกันชีวิต ที่มีบรรพบุรุษมาจากแผ่นดินจีนมาจนถึงคนรุ่นที่ ห้า คงไม่ม้วนเสื่อกลับเมืองจีนแน่นอน”
เหตุผลสนับสนุนนั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อม นั่นก็คือ กฎหมายใหม่ของธุรกิจประกันชีวิต ที่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนครอบคุลมในส่วนของการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ค่อนข้างเข้มงวดมากขึ้น จากในอดีต
มีกำหนดตัวเลขทรัพย์สินหนุนหลังสำหรับจ่ายคืนผู้เอาประกันภัยอย่างชัดเจน รองรับการจ่ายสินไหม เพื่อให้เจ้าของกรมธรรม์ไม่กลับบ้านมือเปล่าหรือเสียความรู้สึก
กฎหมายใหม่เอี่ยมอ่องยังมีระบบเตือนภัยเป็นขั้นตอน เพื่อเปิดโอกาสให้ทางการ หรือ คปภ. ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย เข้าแทรกแซงได้ หลังจากพบสัญญาณเงินกองทุนติดลบ เพื่อกดดันให้ธุรกิจนั้นแก้ไข และปรับปรุงให้เสร็จภายในกำหนด จนกว่าธุรกิจจะแก้ไขให้ตัวเองหลุดพ้นจากช่วงเวลาอันตราย หรือ เสาะแสวงหาพันธมิตรหรือนายทุนรายใหม่เข้ามากอบกู้ภัยได้สำเร็จ จนกระทั่งหมดทางเยียวยานั่นแหละ ถึงที่สุดจึงจะยอมรับสภาพล้มละลาย
สาระบอกว่ากฎหมายใหม่ทำให้ธุรกิจล้มละลายยาก เพราะกฎหมายเน้นเรื่องกระบวนการแทรกแซงตั้งแต่แรก จนถึงกรณีเลวร้ายจริงๆ จึงจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ แต่ก็ไม่อยากให้ถึงจุดนั้น
เพราะนั่นก็เท่ากับว่า ความเชื่อมั่นจะไม่มีเหลือสำหรับประชาชนกลุ่มผู้มุ่งหวังอีกต่อไปแล้ว…