ตามที่บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 ได้ประกาศแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง นำทีมโดย สมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการบริหาร (ได้รับแต่งตั้งจากกรรมการเป็นกรรมการบริหารเมื่อ 18 มกราคม 2560) ให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการบริหาร” มีผลตั้งแต่ 27 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ยังได้แต่งตั้งผู้บริหารอีก 3 คน คือ นางอาภัทรา ศฤงคารินกุล ให้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี และสื่อใหม่ หรือ Chief Technology and New Media Officer (CTNO) แต่งตั้งนายนพดล เขมะโยธิน ให้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการลงทุน” หรือ Chief Investment Officer (CIO) และนายภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล หรือ Chief Human Resources Officer (CHRO)
ผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งในครั้งนี้ส่วนใหญ่เคยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส โดย สมประสงค์ บุญยะชัย เป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งปัจจุบันเกษียณการทำงานในกลุ่มชินคอร์ป เป็นกรรมการในองค์กรธุรกิจหลายแห่งเช่นโอสถสภาและบีอีซี
อาภัทรา ศฤงคารินกุล มีประสบการณ์เป็นแม่ทัพที่ดูแลทางด้านไอทีให้กับเอไอเอส ส่วน ภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูง ที่ดูแลงานด้านทรัพยากรบุคคล ของเอไอเอส และกลุ่มอินทัช ยกเว้น นพดล เขมะโยธิน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการลงทุน บริษัทบีอีซีเวิลด์อยู่แล้ว
การแต่งตั้งผู้บริหารของบีอีซี หรือช่อง 3 ในครั้งนี้ นับเป็นการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อให้รองรับกับการมาของสื่อดิจิทัลที่กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันมาเสพเนื้อหาผ่าน “มัลติสกรีน” มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ช่อง 3 จึงต้องหันมาเอาจริงเอาจังกับการทรานฟอร์มองค์กร เพื่อสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการนำทีมผู้บริหารจากภายนอกที่มีประสบการณ์ทางด้านโทรคมนาคม และไอที รวมทั้งบุคลากร เคยบริหารจัดการเครือข่ายและองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อมา “ทรานฟอร์ม” องค์กรของช่อง 3 ให้ขยับไปสู่โลกดิจิทัลออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม
ก่อนหน้านี้ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการและผู้ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 เคยให้สัมภาษณ์ว่า ภาวะตลาดของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันไม่เพียงแต่มีคู่แข่งขันหลายรายที่ต่างมีความแข็งแกร่งในแต่ละด้านเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไปรับสื่อผ่านช่องทางมัลติสกรีนมากขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้ชมสื่อโทรทัศน์ลดน้อยลง จนส่งผลให้สถานีโทรทัศน์บางช่องมีเรตติ้งและรายได้โฆษณาลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงคาดว่าการทำตลาดสื่อโทรทัศน์จะมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
ที่ผ่านมา ในส่วนของช่อง 3 มีแผนปรับตัวรับภาวะการแข่งขันด้วยการนำคอนเทนต์ที่มีอยู่มาก่อให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดผ่านช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ โดยเตรียมเปิดตัวธุรกิจนิวมีเดียและคอนเทนต์ใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและสื่อสารโดยตรงกับผู้ชมสื่อมัลติสกรีนให้กลับมาชมโทรทัศน์เพิ่มขึ้น
รายได้–กำไรลด
นอกจากนี้ ช่อง 3 เองอยู่ในภาวะที่ยากลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผลการดำเนินงานของช่อง 3 ที่ผลกำไรลดลงทุกปี อย่างปี 2559 กำไรสุทธิ ลดลงไปถึง 59% เหลือ 1,218.29 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 2,982.71 ล้านบาท
นอกจากนี้ รายได้โฆษณาของช่อง 3 ในปี 2559 ทำไปได้เพียง 11,151 ล้านบาท น้อยกว่าที่เคยทำได้ในปีก่อนหน้า (2558) 3,045.5 ล้านบาท ลดลง 21.5% แม้จะมีผู้โฆษณารายใหม่มากขึ้นกว่า 100 ราย แต่จากการที่ผู้โฆษณาเดิมหยุดใช้เงินมีจำนวนมากกว่าผู้ที่เข้ามาใหม่จึงส่งผลกระทบต่อรายได้