ถอดกลยุทธ์ LINE Sticker คาแรคเตอร์อย่างเดียวไม่พอ ยุคนี้ต้องมีคอนเทนต์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไลน์สติกเกอร์เป็นฟีเจอร์สำคัญที่ทำให้ไลน์กลายเป็นแชตแอปพลิเคชั่นอันดับหนึ่งในไทยภายในระยะเวลาไม่นาน เพราะด้วยการใช้งานที่ง่าย และพฤติกรรมคนไทยชอบใช้อีโมจิ หรือสติกเกอร์เพื่อสื่ออารมณ์แทนการพูดคุยอยู่แล้ว

โดยทั่วไปแล้วไลน์สติกเกอร์มี 2 รูปแบบใหญ่ๆ ก็คือ 1.สปอนเซอร์ สติกเกอร์ สติกเกอร์ที่แบรนด์นำคาแรคเตอร์ของแบรนด์มาทำเป็นสติกเกอร์ จนทำให้สติกเกอร์กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่แบรนด์นำมาใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่าน Official Account ให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดฟรี แต่ต้องแลกกับการรับข้อมูลข่าวสารที่แบรนด์ส่งผ่าน Official Account

2. สติกเกอร์เพื่อจำหน่าย มีทั้งหมด 40,000 ชุด สติกเกอร์ที่ขายในช้อปราคาตั้งแต่ 30-150 บาท แบ่งเป็น Official Stickers สติกเกอร์ที่ทำร่วมกับศิลปิน เซเลบริตี้ มีทั้งหมด 2,000 ชุด และ Creator Stickers สติกเกอร์ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปได้วาดสติกเกอร์เพื่อขายผ่านไลน์ มีทั้งหมด 38,000 ชุด

ความสำคัญของสติกเกอร์นั้น เป็น 1 ใน 3 ธุรกิจสร้างรายได้หลักให้กับไลน์ ประเทศไทย ได้แก่ เกม สติกเกอร์ และโฆษณา และธุรกิจสติกเกอร์ในประเทศไทยถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไลน์ทั่วโลกรองจากญี่ปุ่น และไต้หวัน

โจทย์ของไลน์ที่ให้กับธุรกิจสติกเกอร์ในปีนี้ก็คือทำให้คนใช้มากขึ้น รวมถึงซื้อมากขึ้น เพราะปัจจุบันบางคนยังไม่เข้าใจในช่องทางการซื้อสติกเกอร์ของไลน์

ทำให้ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ไลน์ได้ทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ได้มีการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นการพัฒนาของไลน์สติกเกอร์ตลอดเช่นกัน มีการใส่ลูกเล่นและมีรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 รูปแบบ ได้แก่ สติกเกอร์ภาพนิ่ง, สติกเกอร์ดุ๊กดิ๊ก, สติกเกอร์เคลื่อนไหวแบบมีเสียง, สติกเกอร์แบบป็อปอัพ และล่าสุดกับมิวสิกสติกเกอร์ สามารถใส่เพลงลงในสติกเกอร์ได้ยาว 8 วินาที

กณพ ศุภมานพ หัวหน้าธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่าสติกเกอร์ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คนไทยยังชื่นชอบการใช้สติกเกอร์ ทำให้ต้องมีการพัฒนาหาสติกเกอร์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะยุคนี้คนมองหาคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น

มิวสิกสติกเกอร์ช่วยขยายฐานผู้ใช้

การออกมิวสิกสติกเกอร์จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไลน์ต้องการนำมาเสริมให้มีกลุ่มผู้ใช้หลากหลายมากขึ้น เป็นการต่อยอดคอนเทนต์ในการนำเพลงมาใส่ในสติกเกอร์เพื่อสร้างความแปลกใหม่ เพราะผู้บริโภคยุคนี้ชอบหาคอนเทนต์ใหม่ๆ มากขึ้น

ในประเทศไทยไลน์ได้ออกมิวสิกสติกเกอร์เป็นประเทศที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่น และออกสติกเกอร์ชุดแรก GMM hit songs for daily life (GMM ท่อนฮุกเพลงฮิต) จากนั้นได้ผลตอบรับดีจึงออกมิวสิกสติเกอร์อีกชุดทำร่วมกับค่ายเพลง What the Duck และสิงโต นำโชค เป็นสติกเกอร์ที่มีนักร้องเดี่ยว เพราะมองว่าสิงโตมีเพลงที่ฮิตติดหูหลายเพลง และมีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่น

การออกมิวสิกสติกเกอร์ครั้งนี้เป็นการตอบโจทย์ของไลต์ที่ต้องการให้มีสติกเกอร์สำหรับคนทุกเพศทุกวัย การทำมิวสิกสติกเกอร์สามารถเลือกนักร้อง หรือเพลงที่เหมาะกับคนแต่ละยุคได้ เพื่อเป็นการขยายฐานผู้ใช้ด้วย และให้คนที่ไม่เคยซื้อสติกเกอร์หันมาลองซื้อสติกเกอร์ได้

ไลน์เองก็เพิ่มโอกาสในการหารายได้มากขึ้นจากการจับมือกับพาร์ตเนอร์กลุ่มค่ายเพลงในการออกมิวสิกสติกเกอร์ ทางค่ายเพลงก็เพิ่มโอกาสในการขยายคอนเทนต์ตัวเองไปหลายๆ แพลตฟอร์มมากขึ้น

เปิดพฤติกรรมคนซื้อไลน์สติกเกอร์

คนไทยยังมีการใช้สติกเกอร์เป็นตัวแทนคำพูดในการสื่อสารอยู่ ไลน์ได้เปิดเผยเทรนด์ผู้บริโภคกับการใช้สติกเกอร์ว่าจะมีการมองหาคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้นจากเดิมที่สนใจสติกเกอร์แนวน่ารัก ปัจจุบันจะสนใจสติเกอร์แปลกๆ แนวสนุกสนานตลกขบขัน หรือสติกเกอร์ที่มีคำพูดฮิตๆ เป็นกระแส

พบว่าผู้ชายมีการซื้อสติกเกอร์เพิ่มขึ้น จากเดิมที่สัดส่วนของผู้หญิงซื้อสติกเกอร์ 70% ปัจจุบันมีสัดส่วน 60% และผู้ชาย 40% กลุ่มผู้หญิงเลือกซื้อจากความน่ารักของคาแรคเตอร์การ์ตูน ส่วนผู้ชายชอบสติกเกอร์ที่มีความตลก ช่วงอายุที่มีการซื้อมากที่สุดคืออายุ 25-35 ปี

ในปี 2559 ที่ผ่านมามีการดาวน์โหลดสติกเกอร์รวมทั้งหมด 500 ล้านครั้ง ผู้ใช้งาน 1 คนจะมีสติกเกอร์เฉลี่ย 15 ชุด และมีการซื้อเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง

ในช่วงปีที่ผ่านมายังพบเทรนด์ของกลุ่มผู้ซื้อสติกเกอร์กลุ่มใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละแสนราย แผนของไลน์ในปีนี้จึงเน้นในเรื่องของการโปรโมตเรื่องช่องทางการขาย พัฒนาช่องการชำระเงินใหม่ๆ เพราะบางคนมองว่าต้องมีบัตรเครดิตถึงซื้อได้ จะมีการพัฒนาช่องทางการซื้อผ่านเงินสดและโปรโมตมากขึ้นเพราะเมื่อมีการซื้อครั้งแรกแล้วจะมีความถี่ซื้อเรื่อยๆ จะเพิ่มโอกาสการขายมากขึ้น

ในปีนี้ไลน์ได้ตั้งเป้าการเติบโตของสติกเกอร์ที่ 35% มองว่ามีโอกาสเติบโตอีกมาก