คุยกับ “นายต้นไม้” กับอาชีพ “นักออกแบบสติกเกอร์ไลน์” หาเลี้ยงชีพด้วยรายได้หลักแสน!

เชื่อหรือไม่ว่า การออกแบบสติกเกอร์ไลน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตอนนี้ ไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่สามารถเป็นอาชีพหลักได้ด้วยรายได้หลักแสนต่อเดือน ทาง Positioning พาไปพูดคุยกับ “ต้นไม้-มนันห์ตชัย ไพรสินธ์” เจ้าของคาแร็กเตอร์ “นายต้นไม้” ออกแบบสติกเกอร์ไลน์มาแล้วกว่า 30 ชุด

ยุคบุกเบิก Sticker Creator

ถ้าพูดถึงแอปพลิเคชัน “LINE (ไลน์)” ได้กลายเป็นแอปฯ แชทที่มีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างยาวนาน กลายเป็น Generic Name ในการส่งข้อความต่างๆ หนึ่งในฟีเจอร์ที่ถูกจริตคนไทยอย่างแรงกล้าก็คือ “สติกเกอร์ไลน์” นั่นเอง เรียกว่าถูกใจตั้งแต่กลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ

ในช่วงแรกทางไลน์ได้มีสติกเกอร์เซตทั้งแบบฟรี หรือเรียกว่า Official Account ทางสปอนเซอร์ผลิตสติกเกอร์ไลน์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค และเซตสติกเกอร์การ์ตูนทั่วไป มีทั้งคาแร็กเตอร์ไลน์ และคาแร็กเตอร์ลิขสิทธิ์ต่างๆ

ความนิยมของสติกเกอร์ไลน์สูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2557 ทางไลน์ได้เปิดตัวโครงการ Sticker Creator เปิดโอกาสให้ “คนทั่วไป” ส่งสติกเกอร์เข้าไปขายในแพลตฟอร์มไลน์ได้ เรียกว่าเป็นการบุกเบิกอาชีพ “นักออกแบบสติกเกอร์ไลน์” ในทันที บางคนส่งสติกเกอร์ไปเพื่อหวังรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ บางคนส่งสติกเกอร์ไปเพื่ออยากใช้สติกเกอร์ที่ออกแบบเอง หรือบางคนรับจ้างออกแบบสติกเกอร์ไลน์เลยก็ยังมี

“ต้นไม้-มนันห์ตชัย ไพรสินธ์” เจ้าของคาแร็กเตอร์ “นายต้นไม้” เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบสติกเกอร์ หรือครีเอเตอร์ในยุคบุกเบิกเลยก็ว่าได้ ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดโครงการ ปัจจุบันได้ออกแบบสติกเกอร์ออกมาให้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 30 ชุด สร้างรายได้รวมถึงหลักล้านบาท สติกเกอร์ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้เขาอย่างมาก คือ สติกเกอร์ “นายต้นไม้ ver.2”

ต้นไม้ ครีเอเตอร์หนุ่มวัย 30 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก รักการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนแรกต้นไม้อยากเรียนสายนิเทศศิลป์ แต่ด้วยทุนทรัพย์ที่ไม่พร้อมเท่าไหร่นัก จึงต้องเบนเข็มมาเรียนคณะ “จิตรกรรม” ม.ขอนแก่น

จุดเริ่มต้นของการวาดคาแร็กเตอร์นายต้นไม้นั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงตอนเรียนปี 3 ได้เริ่มทำเพจ นายต้นไม้ ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านยูสเซอร์ ภายในเพจส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพวาดการ์ตูน พร้อมกับคอนเทนต์แนวคู่รัก รวมถึงคอนเทนต์ที่อิงกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย ทำให้มีคนชื่นชอบ และแชร์กันเยอะ

จากนั้นก็เริ่มมีแฟนเพจเสนอความคิดเห็นว่าให้ทำสติกเกอร์ไลน์ได้ ประกอบกับเจอพี่ที่รู้จักคนหนึ่งก็ให้คำแนะนำเรื่องการทำสติกเกอร์ไลน์ จึงได้เริ่มทำอย่างจริงจัง ในตอนแรกนั้นยังไม่มีทีมงานในประเทศไทยในการอนุมัติสติกเกอร์ของคนไทยด้วยซ้ำ แต่ก็เริ่มมีกลุ่มไลน์ครีเอเตอร์ที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน

“นายต้นไม้” คาแร็กเตอร์ผู้ชายธรรมดา

ต้นไม้ได้วาดคาแร็กเตอร์นายต้นไม้ที่สะท้อนตัวตนของตัวเอง เป็นเด็กผู้ชายผมตั้ง มีเครา ซึ่งตรงกับคาแร็กเตอร์ของตัวเขาเอง ต้นไม้บอกว่าตอนนั้นตั้งใจวาดการ์ตูนไปจีบสาว เลยทำเป็นคาแร็กเตอร์ตัวเอง

ถ้าถามว่าความนิยม หรือความสำเร็จอของคาแร็กเตอร์นี้เกิดจากอะไร ต้นไม้ตอบอย่างซื่อๆ ว่า “ความเป็นผู้ชายธรรมดา” นั่นเอง

ต้นไม้เริ่มเล่าถึงกระบวนการในการวาดสติกเกอร์ไลน์ในช่วงแรกว่า “หลังจากที่สมัครโครงการ ก็เริ่มวาดวันนั้นเลย ใช้เวลาวาด 2-3 สัปดาห์ ได้การ์ตูน 40 ตัว ชุดแรกชื่อว่านายต้นไม้กับนายโดโด้ คำว่าครีเอเตอร์จะต่างจากนักวาดรูป นักวาดรูปจะวาดอะไรก็ได้ แต่สติกเกอร์ต้องสื่อสาร มีความหมาย จะใช้คำไหนอะไรยังไง ตอนนั้นยังไม่มีอินไซต์อะไรด้วย ส่งไปตรวจครั้งแรกเกือบ10 เดือน แล้วโดนตีกลับมา พอแก้แล้วส่งไปใหม่ก็รออีก 5-6 เดือน จนได้วางขาย”

หลังจากที่วางขายเดือนแรกมียอดขาย 14,000 บาท จากนั้นเลยทำชุดที่ 2 คาแร็กเตอร์โดโด้ เดือนแรกมียอดขายแค่ 3,000 บาท จึงเกิดอาการท้อ ไม่อยากทำแล้ว จากนั้นก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ว่าสติกเกอร์ต้องมีอะไรบางอย่างที่แตกต่าง และเป็นตัวเอง

จากนั้นจึงได้ทำสติกเกอร์นายต้นไม้กับแฟน ซึ่งต้นไม้บอกว่าตอนนั้นถือเป็นคนแรกที่ทำสติกเกอร์คู่รัก พร้อมกับใส่ข้อความสำหรับคู่รัก เช่น “ยอมแล้วค้าบ” หรือง้อ งอน เป็นต้น ทำให้สติกเกอร์เป็นไวรัล มีดารานำมาใช้ คนแชร์ 60,000-70,000 ครั้ง

ส่วนชุดที่สร้างชื่อ และดังเปรี้ยงที่สุดก็คือ นายต้นไม้ Ver.2 มียอดขายขึ้นอันดับ 1 อยู่ 2 เดือน มีข้อความ คาแร็กเตอร์ที่ถูกจริตคนไทยมากขึ้น กล้าใส่แอคชั่นต่างๆ เช่น หอมแก้ม บีบแก้ม เขย่าตัว ทำให้คนใช้งานได้ในหลายโอกาส

“การวาดสติกเกอร์ไลน์มีความยากตรงที่ จะสร้างคาแร็กเตอร์ยังไงให้เป็นตัวเรามากที่สุด หลายคนเปลี่ยนแนวไปเรื่อย ต้องเกาะตามกระแส พอขายไม่ได้จะไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ บางคนก๊อบปี้เลย ทำให้คาแร็กเตอร์ไม่ชัด มันก็ขายยาก ถ้าเรามีคาแร็กเตอร์ชัดเจน แข็งแรง ยังไงคนก็จำได้ ขายได้”

ลงทุนหลักพัน รายได้หลักแสน!

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การที่จะออกแบบสติกเกอร์ไลน์ต้องลงทุนอะไรบ้าง แล้วต้องมีอุปกรณ์เยอะหรือไม่ ลงทุนแล้วคุ้มค่ามั้ย ต้นไม้บอกว่าแรกเริ่มเขาลงทุนซื้อแค่ “เมาส์ปากกา” ในงบ 2,000-3,000 บาท เท่านั้น แต่ถ้าใครมีงบขึ้นมาหน่อยก็ถอย iPad สักเครื่องก็ยังได้ แต่สำหรับต้นไม้นั้น การลงทุนหลักพัน แต่ได้ผลตอบแทนหลักแสนต่อเดือนทีเดียวเชียว!

ปัจจุบันต้นไม้มีสติกเกอร์วางขายทั้งหมด 30-40 ชุด รายได้เฉลี่ย 100,000-200,000/เดือน เซตนายต้นไม้ Ver.2 ยังคงติดท็อปอยู่ ต่อไปตั้งเป้าว่าจะออกสติกเกอร์นายต้นไม้ปีละ 1 เซต

“แต่การวาดสติกเกอร์ก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกัน บางชุดบทจะมาก็มา บทจะไม่มาก็ไม่มา ต้องรู้คำในกระแส บางทีนึกคำอะไรได้จะพิมใส่โน้ตไว้ก่อน หรือจะใช้วิธีตั้งโพสต์ถามแฟนเพจ”

ไม่ใช่งานอดิเรก แต่คืออาชีพหลัก

ในตอนนี้ต้นไม้พูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า การเป็นนักออกแบบสติกเกอร์ไลน์ เป็นอาชีพหลักที่ใช้เลี้ยงชีพ และเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้เป็นแค่งานอดิเรก หรืองานเสริมอีกต่อไป

แต่เดิมต้นไม้ค่อนข้างมีฐานะยากจน สมัยเรียนมหาวิทยาลัยมีไปนั่งสเก็ตช์รูปตามถนนคนเดินเพื่อหารายได้เสริม และเป็นนักดนตรีกลางคืนได้รายได้ชั่วโมงละ 300 บาท พอเล่นดนตรีเสร็จก็กลับมาวาดสติกเกอร์ต่อ จนถึงตอนนี้ได้เลิกเล่นดนตรีมา 4 ปีแล้ว

“แต่ก่อนผมเล่นดนตรีกลางคืนได้ชั่วโมงละ 300 บาท เล่นเสร็จตี 2 กลับมาวาดสติกเกอร์ต่อถึง 6 โมงเช้า ถ้าคนอื่นเดิน ผมจะวิ่ง ไม่เคยทิ้งอะไรเลย ดนตรีก็ไม่ทิ้ง วาดสติกเกอร์ก็ไม่ทิ้ง จนตอนนี้เลิกเล่นดนตรีได้ 4 ปี เพราะมีครอบครัว”

แต่ช่วงของวิกฤต COVID-19 ที่กระทบไปทุกอาชีพ ทุกสายงาน ต้นไม้ที่ทำอาชีพหลักคือนักออกแบบสติกเกอร์ไลน์ ก็ทำอาชีพเสริมด้วยการขายอาหาร ต้นไม้บอกว่า ถ้าไม่ได้วาดสติกเกอร์ ตอนนี้คงเป็น “พ่อครัว” อยู่

“ครีเอเตอร์เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ขอแค่ทำให้สำเร็จ ต้องสม่ำเสมอ อาจจะยากในช่วงชุดแรก เราทุกคนหวังที่จะดังในชุดแรกเสมอ แต่ถ้าเริ่มทำแล้วอย่าท้อ จริงๆ อาชีพนักวาดในเมืองไทยมันไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่ด้วยซ้ำ เพราะคนไทยไม่ค่อยเสพงานศิลปะ มันไม่เห็นทาง แต่ครีเอเตอร์เป็นช่องทางสำคัญสร้างรายได้ให้คนออกแบบ คงไม่รวยใน 1-2 ชุด แต่เป็นค่าขนมได้”

สุดท้ายต้นไม้ได้ฝากถึงคนที่อยากเป็นครีเอเตอร์ อยากให้ลงมือทำเลย อย่ากลัว ไม่มีอะไรน่ากลัว ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ กับตัวเอง ทำมันถึงที่สุด วันนึงผลผลิตดอกไม้จะเบ่งบาน ทำจนกว่างานจะไม่ต้องการเราแล้ว วาดจนกว่าร่างกายจะบอกว่าไม่ไหว เกาะกระแสในบางคำ ตามคีย์เวิร์ดให้ทัน ใช้คำที่ใช้ได้ ต้องวางแผนให้ดีด้วย รวมถึงคำนึงเรื่องวัฒนธรรมแต่ละประเทศ อย่างคำว่าอ้วน คนไทยจะชอบ ดูน่ารัก แต่ในต่างประเทศจะไม่ค่อยชอบกัน