ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต สติกเกอร์ไลน์…ใครๆ ก็ทำได้

ใครๆ ก็ทำสติกเกอร์ขายในไลน์ได้ คือ คอนเซ็ปต์ที่ทำให้โครงการ “Creators Market” ของไลน์ได้รับความสนใจจากนักปั้นการ์ตูนทั่วโลก ที่สำคัญ ในจำนวนสติกเกอร์ยอดฮิตที่ขึ้นชาร์ตติดอันดับขายดี มาจากฝีมือของคนไทย 

โครงการ “Creators Market” เป็นตลาดสติกเกอร์แห่งใหม่ที่ไลน์เปิดขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถส่งสติกเกอร์ขายในไลน์ ได้จุดประกายความหวัง และความใฝ่ฝันให้กับนักวาดคาแร็กเตอร์การ์ตูนของไทยจะมีโอกาสทำรายได้ และสร้างชื่อจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กำลังมาแรงเวลานี้

ในขณะที่ไลน์จะมี ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต เป็นแหล่งในการผลิต “สติกเกอร์” ที่มาจากผู้ผลิตหน้าใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อสร้างความหลากหลาย และทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้ที่ชื่นชอบสติกเกอร์ไลน์ได้มาหาซื้อโหลดกัน นอกเหนือจากการมี “สติกเกอร์ช็อป” ซึ่งเป็นช่องทางปกติที่ส่วนใหญ่จะเป็นคาแร็กเตอร์การ์ตูน ที่มาจากผู้ผลิตการ์ตูนดังของญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว

ไลน์เองได้ออกมาเปิดเผยว่า เพียงเวลาแค่ 8 วัน สามารถทำรายได้จาก Creators Market ได้แล้ว 1.5 ล้านเยน จากสติกเกอร์ทั้งหมดกว่า 3,161 ชุดที่วางขาย

โดย 5 อันดับแรกยอดนิยม (ดูจากช่วงวันที่ 23 มิถุนายน 2557) ของ ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต เป็นผลงานของคนไทย ที่สามารถเบียดแซงประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตนักวาดการ์ตูนมาได้แบบขาดลอย แม้ว่าอันดับใน ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต จะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็วก็ตาม

POSITIONING จะพาไปรู้จักกับเส้นทางรายได้จากการขายสติกเกอร์บน “Creators Market” ของไลน์ได้อย่างไร

“ติดลม” ขายคาแร็กเตอร์ควายติดลมบนอันดับหนึ่ง

ผู้ผลิตสติกเกอร์ Tidlom หรืออ่านว่า “ติดลม” เคยติดชาร์ตอันดับหนึ่งยาวนานตั้งแต่เริ่มขายเป็นวันแรก โดยเป็นผลงานจาก โอ-สัญญา เลิศประเสริฐภากร Creative Design ในนามปากกา Zylostudio สติกเกอร์ติดลมตัวนี้เป็นคาแร็กเตอร์ของ “ควาย” ที่แสดงความเป็นไทยได้ชัดเจน ผสมกับข้อความผสมคำแสลงยอดนิยมในปัจจุบัน ทำให้สติกเกอร์ติดลมสามารถติดลมบนได้ยาวนาว

สัญญา อยู่ในวงการคาแร็กเตอร์ดีไซน์มากว่า 7 ปี มีคาแร็กเตอร์อยู่ในพอร์ตโฟลิโอมากมาย ติดลมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สัญญาเคยวาดเอาไว้ แล้วนำมาพัฒนาคาแร็กเตอร์เป็นสติกเกอร์เสนอขายใน Creators’ Stickers เพราะมองเห็นว่ายังไม่มีคาแร็กเตอร์สัตว์ที่เป็น “ควาย” เลย ส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นหมา แมว แมวน้ำ ก็หมีแพนด้า นอกจากนี้ควายยังสื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งตลาดเป้าหมายของเขาคือ ตลาดในไทย

“ตอนแรกมีคาแร็กเตอร์เยอะมาก เพราะสร้างขึ้นมาเพื่อขายลิขสิทธิ์โดยเฉพาะ แต่สำหรับตัว Tidlom เป็นกรณีพิเศษ เป็นการวาดส่งประกวดงาน Thailand Animation and Multimedia 2006 ตอนแรกที่รู้ข่าวว่าไลน์เปิด Creators Market ก็สนใจมาก พอดีได้พาร์ตเนอร์คือ idigi เป็นบริษัทดิจิตอลคอนเทนต์ที่เขามาช่วยดูแลด้านการตลาด การ์ตูนควายจึงเป็นความเห็นชอบร่วมกันในการเลือกคาแร็กเตอร์ที่ “แตกต่าง” และมีความเป็นไทยสูง เพราะต้องการเจาะตลาดไทยเป็นหลัก

จากนั้น มาถึงการใส่ “ข้อความ” เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่คนไทยโปรดปรานเป็นพิเศษ ยิ่งใส่ศัพท์แสลงเท่าไหร่คนไทยก็ยิ่งชอบ

“คนที่ใช้สติกเกอร์มีอยู่ 2 อย่างคือ แทนคำพูดของคนที่ใช้ และแทนกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ แต่บอกเลยว่าในมุมมอง ซึ่งเราก็ทดลองตลาดอยู่ด้วยว่าอันไหนจะดีกว่ากัน ติดลมชุดนี้จึงมีคำพูดประมาณ 80% ก็ได้ฟีดแบ็กที่ดีมาก คนชื่นชอบกัน ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นแอคชั่นเปล่าๆ อย่างเช่นติดลมเล่นว่าว และมีสิ่งที่เสริมเข้ามาคือความเป็นคนเมือง ก็จะมีภาพติดลมบนรถไฟฟ้า เพราะส่วนใหญ่คนที่เล่นไลน์ในเมืองไทยจะเป็นคนในเมืองมากกว่า”

ในมุมมองของสัญญา การโปรโมตสติกเกอร์นั้นให้เข้าถึงคนทั่วไป เป็นอีกโจทย์สำคัญ ยิ่งช่วงแรกที่ขายเฉพาะแค่ใน LINE Store เท่านั้น ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก

“ตอนแรกใช้การโปรโมตด้วยซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊กก่อนที่สติกเกอร์จะออก เพื่อรวบรวมแฟนๆ เอาไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วสติกเกอร์ก็ขายได้ด้วยตัวมันเอง แต่ในอนาคต โปรโมทตามศูนย์โอเปอเรตอร์ และร้านมือถือทั่วไป และร้านรับโหลดสติกเกอร์ ส่วนหนึ่งที่เราได้ขึ้นป็อปปูลาร์ก็มาจากร้านสติกเกอร์นี่แหละ ตั้งแต่วันแรกเลยเขาก็ขึ้นในเว็บว่าสติกเกอร์คนไทยมาแล้ว เป็นคนที่ช่วยโปรโมตทั้งๆ ที่เราไม่ได้นึกถึงมาก่อน”

ส่วนรายได้นั้น ไลน์แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับผู้ผลิตสติกเกอร์ในอัตราสูงสุด 50% ของยอดขาย โดยยอดขายที่เขาได้รับในช่วง 20 วันที่เปิดตัวสติกเกอร์ติดลมมาเป็นตัวเลข “หลายแสนเยน” โดยพีคสุดคือช่วง 3 วันแรก ทำรายได้ไปถึงแสนเยน แต่ถ้าวันธรรมดาเฉลี่ยอยู่ที่หลักหมื่นเยนเท่านั้น 

โดยในแต่ละวัน ไลน์จะส่งรายงานยอด “รายได้” ให้กับผู้ผลิตสติกเกอร์ ว่าวันนี้ขายได้เท่าไหร่ ซึ่งเป็นรายได้ที่หักเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่จะไม่ได้บอกจำนวนดาวน์โหลด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตสติกเกอร์ก็อยากรู้ 

สัญญามีความหวังว่า หลังจากที่สติกเกอร์ “ติดลม” ของเขาได้เข้าไปวางขาย Creators Market จะมีโอกาสต่อยอดไปสู่การขายลิขสิทธิ์นำไปผลิตสินค้าต่างๆ หรือธุรกิจ  Merchandise ไปจนถึงการขายโปรเจกต์คาแร็กเตอร์กับแบรนด์สินค้าต่างๆ

Eat All Day แกะตะกละ จากแฟนเพจหลักแสน

ถ้าใครที่ไม่ได้เป็นแฟนเพจของ Eat All Day อาจจะคิดว่าสติกเกอร์ชุดนี้ไม่ใช่ของคนไทยแน่นอน เพราะไม่มีข้อความ หรือศัพท์แสลงใดๆ ที่คนไทยชื่นชอบอยู่เลยแม้แต่น้อย ทั้งที่จริงแล้วสติกเกอร์ชุดนี้เป็นของ ป๊อป – สุมิตร สีมากุล Character Design และ Creative Design ในนาม บริษัท ลิฟโฟ่แล็บ จำกัด ที่คลุกคลีอยู่ในวงการดิจิตอลคอนเทนต์ เกม และกราฟิกดีไซน์

ด้วยความที่สนใจทำสติกเกอร์ขายใน Sticker Shop ไลน์อยู่แล้ว แต่ยังหาโอกาสไมได้ จนเมื่อไลน์เปิด “Creators Market” เขาจึงนำคาแร็กเตอร์ Eat All Day จากเฟซบุ๊กที่เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2012 ซึ่งมีฐานแฟนเพจติดตามหลักแสน มาต่อยอดทำเป็นสติกเกอร์ขาย

“แฟนเพจที่ Eat All Day ก็ถามมาตลอดว่าเมื่อไหร่จะมีสติกเกอร์ไลน์ ก็เลยติดต่อไปที่ไลน์ว่าสนใจทำสติกเกอร์เข้าไปขาย ซึ่งไลน์เขาจะมองตลาดในญี่ปุ่นก่อน และจะต้องมีชื่อเสียง แต่ต่อมาเมื่อไลน์เปิดครีเอเตอร์ มาร์เก็ต ทำให้เราได้โอกาสได้พัฒนาสติกเกอร์ออกขาย

สำหรับการออกแบบคาแร็กเตอร์ตัวแกะ เขาทำตามคอนเซ็ปต์ของเพจ Eat All Day ที่สร้างให้เป็นแกะกินทั้งวัน เชื่อมโยงจากแกะที่เลี้ยงในเมืองไทยเพื่อให้คนไปถ่ายรูป เอาอาหารให้กิน เวลานึกถึงแกะ จะนึกถึงหน้าตาเวลามันเคี้ยวๆ ตลอดเวลา พอเขียนเนื้อหาออกมาเรื่อยๆ ก็เข้ากันดีกับไลฟ์สไตล์มนุษย์เงินเดือนที่ชอบกิน ว่างก็หาร้านเก๋ๆ เวลาทำงานก็กินขนม  

ส่วนการที่สุมิตรเลือกไม่ใส่ข้อความใดๆ เพื่อคงคาแร็กเตอร์ของแกะ และให้สติกเกอร์มีความเป็นสากลมากขึ้น

“ตอนแรกก็กลัวอยู่เหมือนกันว่าคนจะรู้มั้ยว่าเป็นสติกเกอร์คนไทย เพราะไม่ได้ใส่ข้อความอะไรเลย เป็นแค่แอคชั่นอย่างเดียว เพราะอยากให้คนประเทศอื่นได้ใช้ด้วย และอีกอย่างเวลานี้มีสติกเกอร์ที่เขาใช้ศัพท์แสลงกันเยอะแล้ว ประโยคเดิมๆ จึงต้องการคงคาแร็กเตอร์ความเป็นแกะกวนๆ เอาไว้ด้วย จะมีคาแร็กเตอร์เรื่องการกินนิดนึง แต่ในอนาคตอาจจะมีชุดใหม่ที่มีข้อความก็ได้ แต่คงยังไม่ใช่ตอนนี้”

เจ้าแกะ Eat All Day ใช้เวลาวันแรกก็สามารถขึ้นมาถึงอันดับที่ 3 โดยที่รายได้เฉลี่ยอยู่ที่หลักหมื่นเยนต่อวัน หรือประมาณ 3,000-4,000 บาท

“เป้าหมายในตอนนี้อาจจะทำสติกเกอร์เพิ่ม แต่ตอนนี้มองที่คาแร็กเตอร์ตัวนี้มากกว่าว่าจะขยายมันไปได้มากแค่ไหน อย่างเช่นออกมาเป็น Product Merchandise หรือให้มันไปไกลกว่าในประเทศไทย มองว่ามันน่าจะมีโอกาสที่ไปได้ เป็นการต่อยอดกับธุรกิจหลักที่ทำอยู่” สุมิตรพูดปิดท้าย

จูจู้ แพนด้าเซ็กซี่

JuJuu เป็นอีกหนึ่งคาแร็กเตอร์ที่ติดท็อป 10 ผลงานโดย วิค-วันชนะ อินทรสมบัติ Concept Artist มีบริษัทส่วนตัวชื่อ Studio Kun จะออกแบบ Character Design ทำฉาก ทำโฆษณา ทำแอนิเมชั่น และเกม ซึ่งวันชนะก็เหมือนกับอีกหลายคนที่มองหาโอกาสทำสติกเกอร์ขายในไลน์

“คาแร็กเตอร์หมีแพนด้าจูจู้เกิดขึ้นจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้ไปออกงาน Comic Con เป็นงานขายภาพวาด นอกจากจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดของผมแล้ว ยังมองว่า ‘หมีแพนด้า’ ก็เข้าถึงคนง่าย ทุกเพศทุกวัย คนจีน คนไทย คนฝรั่งก็ชอบ จึงนำมาใส่คาแร็กเตอร์ให้แตกต่างเป็นแพนด้าที่เซ็กซี่ และตลก”

วันชนะกำหนดทิศทางของสติกเกอร์ชุดนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าจะไม่เจาะตลาดแค่ในเมืองไทยเท่านั้น ดังนั้นข้อความในสติกเกอร์จึงเป็นข้อความภาษาอังกฤษ ต้องการให้คนต่างประเทศได้ใช้ด้วย บวกกับผลงานส่วนใหญ่ของวันชนะจะอยู่ในต่างประเทศ จึงผลักดันให้สติกเกอร์สากลมากที่สุด

“การโปรโมตสติกเกอร์จูจู้จะมีอยู่สองแบบ คือการโปรโมตในเพจ และกิจกรรมแจกสติกเกอร์ การโปรโมตในเพจ ทำให้แฟนคลับที่อยู่ทั่วโลกได้เห็นผลงาน แต่บางประเทศที่ตอนแรกยังไม่เปิด LINE Store ก็จะเข้ามาขอให้ส่งเป็นของขวัญในไลน์ให้แทน ซึ่งกลายเป็นว่าพอคนหนึ่งใช้ก็มีตามเข้ามาโหลดกัน เลยกลายเป็นลูกโซ่ต่อๆ ไป จึงพยายามหากิจกรรมแจกสติกเกอร์ เพื่อขยายฐานผู้ใช้ให้กว้างขึ้น”

ล่าสุดจูจู้ติดในอันดับที่ 10 วันชนะเปิดเผยว่าในการวางขายได้ 2 วันจูจู้ได้ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 จากนั้นก็ค่อยๆ ตกลงไปเรื่อยๆ ซึ่งรายได้เฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 บาท

“จริงๆ ไม่ได้ตั้งความหวังว่าคนจะโหลดเยอะมากแค่ไหน แค่เห็นโอกาสก็เลยลองทำดู และคิดว่าจะปั้นคาแร็กเตอร์ตัวนี้อย่างจริงจัง ด้วยเปิดเพจในเฟซบุ๊กให้คนติดตาม อีกหน่อยก็จะมีตัวอื่นเพิ่มๆ ขึ้นมา คิดว่าคงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทจะเข้ามาเล่นตรงนี้ เพราะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนไทย นักวาดในเมืองไทยก็มีเยอะมากด้วย แล้วไลน์ก็เหมือนร้านสะดวกซื้อคือมีอยู่ทั่วไปสามารถเข้าไปซื้อได้ คนเข้าไปซื้อได้ง่าย

การมี ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต จึงทำให้เส้นทางของการเข้าสู่ตลาด “สติกเกอร์ไลน์” จึงไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ผลิตการ์ตูนแบรนด์ใหญ่ เก่าแก่ อย่างขายหัวเราะ ที่ได้เข้าสู่โลก “สติกเกอร์ช็อป” แข่งขันการ์ตูนรายใหญ่ของโลกได้อย่างเต็มตัวแล้วเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้กับนักวาดการ์ตูนใหม่ๆ ที่มีฐานแฟนเฉพาะกลุ่ม จะได้ใช้ “ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต” เป็นช่องทางในการทำรายได้ และแจ้งเกิดบนเวทีโลก

ช่วงแรก ไลน์จะเริ่มเปิดขายใน 4 ประเทศแรก โดยช่วงแรกวางขายเฉพาะใน LINE Store บนเว็บไซต์เท่านั้น ต่อมาได้เปิดขายบน Web Store ในอีก 9 ประเทศ และเพิ่มภาษาท้องถิ่นอีก 5 ภาษา ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส และสเปน และเตรียมขยายไปทั่วประเทศในเฟสต่อไป

ขณะเดียวกัน ไลน์ได้เพิ่มช่องทางขายบนแอปพลิเคชั่น เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ 470 ล้านยูสเซอร์ทั่วโลกของไลน์ สามารถซื้อได้เหมือนสติกเกอร์ทั่วไป

ส่วนในไทย ไลน์ ประเทศไทย วางแผน Creators Market อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 โดยจะมีการแชร์ประสบการณ์ของดีไซเนอร์ที่ได้วาดลวดลายสติกเกอร์บน Sticker Shop และ Creators Market