ผู้เขียน : ธาม เชื้อสถาปนศิริ
กรณีที่ “ควร” ศึกษา Club Friday
Transmedia Storrytelling – เล่าเรื่องข้ามสื่อแบบ “คลับฟรายเดย์ เดอะซีรี่ย์”
มาดูคลับฟรายเดย์ให้เป็นมุมมองแบบนักเรียนนิเทศศาสตร์กับ นับว่าเป็นตัวอย่างที่คนทำสื่อควรศึกษาอย่างมาก
เชื่อว่าคอแฟนละครสาวๆ ส่วนมากคงอินจัดกับละครคลับฟรายเดย์เดอะซีรี่ย์ ที่ออกมาสู่สายตาคอละครไปหลายตอนแล้ว แต่เรามองเห็นการพัฒนาการเรื่องเล่าของคลับฟรายเดย์กันไหม ว่ามีจุดเริ่มและแตกกอต่อยอดเรื่องราวไปอย่างไร
“จากประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้คน
สู่เรื่องเล่าแบ่งปันกับผู้ฟังในรายการวิทยุ
กระจายตัวไปยังบทสนทนาแลกเปลี่ยนในเว็บบอร์ด
นำมาผลิตเป็นละครโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงให้แง่คิด
สื่อสารผ่านคำพูดกินใจในเฟซบุ๊กให้คนได้แชร์
และจบท้ายที่คอนเสิร์ตเพลงประกอบละครให้แฟนได้ฟิน”
ถือเป็นกรณีที่ชัดเจน เรื่องการเล่าเรื่องข้ามสื่อ – แบบ เรื่องเดียวกันแต่คนละเวอร์ชั่น คนละแพลทฟอร์ม
ละครซีรีย์ คลับฟรายเดย์นั้นความน่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นตัวอย่างหนึ่งของ การเล่าเรื่องข้ามสื่อ (transmedia storytelling) นั่นคือ การเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตของผู้คนจริงๆ แต่ผ่านตัวแสดงผ่านละครสั้น
จากจุดเริ่มต้น สถานีวิทยุ Green Channel ของค่ายแกรมมี่ เติบโตมาจากการเป็นรายการวิทยุ กรีนเอฟเอ็ม และมีรายการสนทนายอดฮิต อย่าง “คลับฟรายเดย์” อันโด่งดัง และนำเรื่องเล่าทางบ้าน มาสร้างเป็นหนังสั้น
โดยสร้างมาจากเรื่องเล่าชีวิตจริงของผู้คนในรายการวิทยุ “Club Friday The Series” ที่สามารถเอาบทสนทนาเรื่องจริงของความรักจากผู้ฟังวิทยุมาผลิตเป็นละครหนังซีรี่ย์และ ข้อความความรู้สึกประทับใจที่กระจายสื่อสารไปในโลกสังคมออนไลน์
รายการคลับฟรายเดย์นี้ ยังเป็นที่มาของคอนเสิร์ตคลับฟรายเดย์ (และรวมเพลงประกอบละครซีรี่ย์คลับฟรายเดย์) ที่สามารถแตกกอต่อยอดสร้างประสบการณ์กับผู้ชื่นชมและเป็นแฟนรายการได้ต่อเนื่อง และสามารถสร้างมูลค่าให้แก่รายการวิทยุได้ต่อยอดทำกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ ได้มากมาย
“คลับฟรายเดย์” นั้นถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของรายการแบบ “ผู้ฟังเป็นผู้ผลิตเนื้อหา” หรือ ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาด้วยตัวเองนั่นแหละครับ (user generated content) ได้ดีที่สุด, นอกจากนี้ มันยังกลายมาเป็น “ชุมชนเสมือนจริง” (virtual community) ที่ผู้คนเข้ามาแชร์ แบ่งปันประสบการณ์ความรักจากชีวิตจริง
เนื้อหาแต่ละบท แต่ละตอน คัดเลือกเฟ้นจากตอนที่ “ดราม่าสุดๆ” ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักที่ แอบรัก/แอบหลง สุดที่จะเชื่อ/ธรรมดาอย่างไม่น่าเชื่อ อบอุ่น/เย็นชา และรักแท้/หลอกลวง
ประสบการณ์ความรักข้างต้น ได้กลายมาเป็นเชื่อไฟอย่างดีในการขับเคลื่อนเรื่องราว นั่นเป็นเพราะว่า ประสบการณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งพื้นฐานที่ชีวิตผู้คนผ่านพบกันทั้งนั้น
เรื่องราวของคลับฟรายเดย์ จึง “แท้ๆ มีพลัง และ เข้าถึง” มันมีคุณสมบัติของเรื่องที่ดีในยุคการตลาดของสื่อที่เรียกว่า “Content is the King” นั่นคือ เนื้อหาที่โดนใจผู้ชม มีพลังเรื่องเล่า มีคุณสมบัติที่ดีในการแชร์ได้ง่าย และจับจิตใจด้านมิติอารมณ์มาก
กรณีที่ “จะได้” ศึกษา LOVE SICK
หากไม่มีอะไรผิดพลาด ปลายปีนี้เราจะได้รับชมละครไทยซีรี่ย์เรื่อง “LOVE SICK” ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการถ่ายทำ และใกล้เสร็จสมบูรณ์, ละครเรื่องเลิฟซิคส์นี้ บอกเล่าเรื่องราวความรักสุดวุ่นชุลมุนของนักเรียนชายมัธยมปลายในกรุงเทพมหานคร จะออกแนวรักในชาย-ชาย และชาย-หญิง คล้ายๆ กับละครเรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” แต่จะแตกต่างตรงที่ว่า มันโด่งดังมาจากนวนิยายออนไลน์ในเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม
ความเด่นของการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (แบบไม่ได้ตั้งใจ) ของ นวนิยายเลิฟซิคส์ คือ มันได้ถูกนำเอาไปพัฒนาต่อยอดเป็นรูปแบบต่างๆ ในชาวเน็ต (แฟนคลับ) ที่ชื่อชอบนิยายเรื่องนี้ ทั้งในเชิงการ์ตูน ภาพโปสเตอร์ มิวสิควิดีโอ และกระทั่งการตั้งกระทู้สนทนาแยกยอดออกไปถึงการทำหน้าเพจของละครเรื่องนี้ก่อนที่มันจะถ่ายทำเสร็จสมบูรณ์เสียอีก
ยังมินับว่าบรรดาแฟนคลับที่คลั่งไคล้นิยายเรื่องนี้ได้มีส่วนในการแลกเปลี่ยนกับเจ้าของบทประพันธ์ และ มีส่วนในการกดดัน หรือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อผู้สร้างละคร ต่อการคัดเลือกตัวนักแสดง โดยที่บริษัทผู้ผลติต้องคอยให้ข่าวคราวภาพ เนื้อหาเบื้องหลังการถ่ายทำอยู่เนืองๆ เพื่อให้บรรดาแฟนคลับไปนั่งจินตนาการเอาเองว่าเรื่องจะออกมาในแนวทางไหน ซึ่งคาดเดาได้ยาก
เพจกลุ่ม, แฟนคลับ, การ์ตูนโพสต์ กระทู้สนทนา เหล่านี้ได้กลายมาเป็น “บทสนทนา” เป็นเรื่องราวย่อยที่หล่อเลี้ยง, โอบอุ้มเรื่องราวหลักที่กำลังถูกสร้างและพัฒนาโดยผู้สร้าง และแน่นอนว่า มันกลายมาเป็นเรื่องที่ช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เรื่องนี้ได้สร้างกระแสการรอเฝ้าคอยติดตามชมอย่างที่คาดหวังสูงสุดว่าจะเป็นที่นิยม
เรียกได้ว่า “เรื่องเดิมจากนวนิยาย ถูกเก็บเอามาสร้างละคร แต่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่กระแสแฟนๆ ก็มารอรับรอคอยเอาไว้แล้ว”
และพนันได้เลยว่า กิจกรรมคอนเสิร์ต งานโชว์ตัว หรือ ภาคต่อของละครซีรี่ย์นี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้แน่ว่าจะมีขึ้น
ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี ที่น่าจะได้ออกมาชนกับซีรี่ย์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ปี 2
ในหนังสือชื่อ “Transmedia Television: Audiences, New Media, and Daily Life (Comedia) โดย Elizabeth Evans เปิดประโยคแรกของหนังสือด้วยข้อค้นพบจากการศึกษาหนึ่ง ที่มาจากวัยรุ่นอเมริกันชายคนหนึ่งที่พูดถึงรายการโทรทัศน์ว่า
“ในอนาคต, โทรทัศน์จะไม่ใช่รายการที่มีคนมาแสดงให้กล้องบันทึกภาพให้เราดู แต่รายการโทรทัศน์จะกลายมาเป็นสิ่งที่สร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชม” ซึ่งประโยคนี้ได้เป็นข้อความสรุปสำคัญที่คนทำสื่อวันนี้ต้องเข้าใจ ว่าประสบการณ์ในระหว่างการรับชม ก่อนรับชม และหลังรับชมจะเป็นสิ่งที่คนทำโทรทัศน์/ทำสื่อนึกถึงมากกว่าเดิม, เราไม่สามารถผลิตรายการโทรทัศน์ในรูปแบบไวยากรณ์เดิมๆ ได้แล้ว หากแต่ต้องออกแบบประสบการณ์ระหว่ารับชมด้วย
คนแต่ละรุ่นคิดเปลี่ยนไปแล้ว
คนรุ่นก่อนยุคสมัยโมเดิร์น เชื่อว่า “I think, therefore i am”, เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็นฉัน
คนรุ่นโมเดิร์น เชื่อว่า “I think and reason, therefore i am”, เพราะฉันคิดและมีเหตุผล ฉันจึงเป็นฉัน
คนรุ่นโพสต์โมเดิร์น เชื่อว่า “I experience, therefore i am”, เพราะมีประสบการณ์ ฉันจึงเป็นฉัน
ฉะนั้นคนทำสื่อ จึงมีใช่แต่ผลิตเนื้อหา แต่ต้องออกแบบและเล่าเรื่องข้ามสื่อเพื่อให้ผู้ชมผู้รับสารได้มีชุดประสบการณ์กับเนื้อหานั้นๆ ด้วย
ในทางการตลาด เรื่องเรียกชุดประสบการณ์ว่า “บทสนทนา” (conversation) และจงจำไว้ว่า เราได้เข้าสู่ยุค “3U-CEM” แล้ว
คือ (1) “user generated content” ยุคที่ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเนื้อหา
(2) “user generated media” ยุคที่ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตสื่อ
(3) “user generated experience” ยุคที่ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตประสบการณ์
อ่านต่อ TRANSMEDIA STORYTELLING” เล่าเรื่องข้ามสื่อในยุคดิจิทัล (ตอน 3)
กฎ 7 ข้อ ในการเล่าเรื่องข้ามสื่อ
=================================================
ผู้เขียน : ธาม เชื้อสถาปนศิริ., นักวิชาการสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) , [email protected]
หมายเหตุ : ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องการเล่าเรื่องข้ามสื่อ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/BBybkS