เป็นระยะเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ “LINE” แชตแอปพลิเคชันจากญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทย นอกเหนือจากเป็นช่องทางใหม่ในการติดต่อสื่อสารแล้ว ยังนำพา “สติกเกอร์ไลน์” วิธีการพูดคุยที่สื่ออารมณ์และความหมายแทนการพูดคุยมาให้กับคนไทยได้ใช้งาน
ชอบมากหรือน้อยสะท้อนมายังตัวเลขที่ “LINE ประเทศไทย” เพิ่งเปิดเผยออกมาว่า คนไทย 1 คน มีสติกเกอร์ไลน์สะสมเฉลี่ยสูงถึงคนละ 65 ชุด เป็นสติกเกอร์ที่ซื้อถึง 20 ชุด ซึ่งมีจำนวนสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีสติกเกอร์จำหน่ายทั้งสิ้น 2.2 ล้านชุด คิดเป็นสัดส่วน 35% ของจำนวนสติกเกอร์ทั้งโลก 6 ล้านชุด โดยเป็นตลาดหลักร่วมกับ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย
โดยทั่วไปสติกเกอร์ไลน์มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ สปอนเซอร์สติกเกอร์ที่แจกฟรีและสติกเกอร์จัดจำหน่ายที่มี 2 รูปแบบ ได้แก่ ออฟฟิเชียลสติกเกอร์ที่เป็นสติกเกอร์คาแร็กเตอร์ชั้นนำ สติกเกอร์ศิลปิน และสุดท้ายคือ LINE CREATORS MARKET ที่เป็นพื้นที่จำหน่ายสติกเกอร์ที่เปิดกว้างให้กับครีเอเตอร์ทั่วไป ราคามีตั้งแต่ 35 – 150 บาท
ขณะเดียวกันจำนวนของครีเอเตอร์สติกเกอร์ได้เติบโต 34% เป็น 4.8 แสนคน ซึ่ง LINE ภูมิใจกับตัวเลขนี้เป็นอย่างมาก และตัวเลขเดียวกันนี้ยังส่งผลให้ครึ่งปีแรก 2019 เมืองไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนสติกเกอร์ที่จำหน่าย และจำนวนครีเอเตอร์ผู้สร้างสติกเกอร์สูงที่สุดในโลก โดยเป็นรองญี่ปุ่นและไต้หวันเนื่องจากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน
และจากการผลักดันในช่วงที่ผ่านมาที่กระตุ้นให้ทำสสิกเกอร์ออกมาพร้อมกับธีมทำให้สัดส่วนรายได้ระหว่างธีมได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 45% จากเดิม 30% ซึ่งหลักๆ กลุ่มที่ใช้งานจะเป็นแฟนคลับของศิลปิน ดารา โดยกลุ่มที่ได้รับความนิยมเช่น BNK48, The Toys และ คริส–สิงโต เป็นต้น
กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า
เมื่อเทียบกับผู้ใช้งาน 44 ล้าน User แม้จะเปิดเผยไม่ได้ว่าจำนวนคนที่ซื้อสติกเกอร์มีจำนวนเท่าไหร่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่นและไต้หวันยังถือว่าห่างอยู่มาก ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าเมืองไทยยังไม่อิ่มตัว แต่ทั้งนี้เราก็ต้องกระตุ้นอยู่สม่ำเสมอทั้งการมีฟีเจอร์ใหม่ๆ และขยายช่องทางจำหน่าย ซึ่งเป็นโจทย์หลัก 2 เรื่องสำหรับ LINE
ดังนั้นทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังจึงจะทำ 2 เรื่องนี้เป็นหลัก เรื่องแรกในส่วนของการมีฟีเจอร์ใหม่ มีไฮไลต์ 2 ตัวได้แก่ บิ๊กสติกเกอร์ เป็นภาพนิ่งแบบเต็มจอซึ่งช่วยดึงดูดผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี อีกตัวเป็น Custom Sticker ที่มาพร้อมลูกเล่นใหม่ๆ ที่ให้ผู้ใช้งานได้เติมคำได้เอง อีกทั้งยังเตรียมเปิดตัวระบบ CRM ในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งไลน์เชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการซื้อมาขึ้น
นอกเหนือจากนั้น LINE ยังต้องการผลักดันธีมจึงได้จับมือกับ “พิชัย แก้ววิชิต” เจ้าของฉายา “ช่างภาพ วินมอเตอร์ไซค์” เตรียมเปิดตัวผลงานธีมที่เกิดจากผลงานภาพถ่ายของเขา
ซึ่งนอกจากจะเปิด Category ใหม่ของธีมแล้ว ยังมีเป้าหมายขยายฐานไปยังกลุ่มผู้ชายมากขึ้น ด้วยปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 20% ที่เหลือ 80% เป็นผู้หญิง ต่างจากสติกเกอร์ที่เป็นฐานผู้ใช้เป็นผู้หญิงราว 60% และ ผู้ชาย 70%
อีกเรื่องคือ “ช่องทางการชำระเงิน” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ LINE ขยับตัวกับเรื่องนี้บ่อยมาก ในครึ่งปีหลังนอกจากการจับมือกับ AIS ที่เปิดให้ลูกค้านำพอยท์แลกรับไลน์สติกเกอร์ได้เลยจากแอป my AIS ยังวางแผนเพิ่มตัวแทนขายที่เปิดขายสติกเกอร์บนเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจากปัจจุบันมี 80 ราย เป็น 500 รายภายในสิ้นปีนี้
โดยหนึ่งในพฤติกรรมของคนไทยที่ไม่เหมือนที่อื่นคือยังไม่คุ้นชินกับการจ่ายเงินผ่านแอปด้วยส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรเครดิตกันแม้ว่าปัจจุบันยอดขายกว่า 70% จะมาจากช่องทางนี้
ที่เหลือมาจากอื่นๆ เช่น ตู้เติมเงิน ซึ่งปรกติแล้วการมีช่องทางใหม่ๆ จะทำให้สติกเกอร์ไลน์มีลูกค้าใหม่ 40% นอกจากช่องทางที่กล่าวไปข้างต้น ในปีนี้ยังจะเพิ่มอีก 2 ช่องทาง แต่ยังไม่เปิดเผยตอนนี้
ส่วนที่ก่อนหน้านี้ในงาน LINE CONFERENCE 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปิดตัวบริการใหม่คือ “การเพิ่มบริการสมัครใช้สติกเกอร์รายเดือนแบบไม่จำกัด” (LINE Premium Sticker) ซึ่งจากข้อมูลของ LINE ระบุว่าถ้าต้องการดาวน์โหลดสติกเกอร์ทั้งหมดที่มีในเวลานี้ต้องใช้เงินราว 300 ล้านเยน แต่การเปิดให้บริการแบบรายเดือนผู้ใช้จะใช้เงิน 240 เยน หรือราว 70 บาทต่อเดือนเท่านั้น
โดยรูปแบบการให้บริการของ Sticker Premium เมื่อสมัครใช้งานแล้ว จะสามารถดาวน์โหลดสติกเกอร์มาใช้งานได้ทุกชิ้น และสามารถใช้งานไปได้ต่อเนื่องจนกว่าจะหยุดใช้งานแบบรายเดือน ที่จะมีการทำราคาพิเศษให้แก่นักเรียนให้ใช้งานได้ด้วย
สำหรับเรื่องนี้นั้น “กณพ” ระบุว่า ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดฟีเจอร์นี้ให้ใช้งาน ด้วยลักษณะของเมืองไทยไม่เหมือนญี่ปุ่น กล่าวคือ ที่ญี่ปุ่นมีสติกเกอร์ให้เลือกเยอะมาก และแต่ละคนมีเยอะอยู่แล้ว ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อยู่ ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุได้ว่าบริการนี้จะเข้าหรือไม่
ทั้งนี้การที่ LINE หันมาใช้โมเดลแบบบอกรับสมาชิกในการใช้งานสติกเกอร์ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดมาใช้แนวทางเดียวกับแพลตฟอร์ม OTT รายอื่นเพราะมองว่าเมื่อผู้ใช้สมัครใช้งานแล้วจะมีการใช้งานต่อเนื่องในระยะยาวมากกว่า