ปั้นโปรเจกต์อีเวนต์! กลยุทธ์สร้างบลูโอเชี่ยน “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ” เจาะตลาดกระเป๋าหนักตะวันออกกลาง

สถานการณ์ธุรกิจอีเวนต์ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าไม่มีปัจจัยหนุนการเติบโต หลังจากก่อนหน้านั้นตลาดได้รับผลกระทบจากปัญหาชุมนุมทางการเมือง มาถึงวันนี้ภาพรวมตลาดก็ยังนิ่งอยู่ที่ 13,000-14,000 ล้านบาท ไม่ต่างจาก 5 ปีก่อน หากต้องการจุดพลุในธุรกิจนี้ คงต้องพึ่งพาเวิลด์ อีเวนต์เป็นแรงขับเคลื่อน

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ไทยช่วง 5 ปีนี้ แทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงและเติบโต มีบางปี “ติดลบ” ด้วยซ้ำ ปัจจัยที่ส่งผลและถือเป็นจุดเปลี่ยน คือสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้ ทำให้การจัดงานระดับบิ๊ก อีเวนต์ มีความกังวลและลดจำนวนลงมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตไม่มาก การทำอีเวนต์ มาร์เก็ตติ้งจึงลดลง

“ตลาดอีเวนต์ไทยยุคเฟื่องฟู มีบริษัทแห่เปิดจำนวนมาก และก็ปิดตัวในช่วงถดถอย ตลาดอยู่ในภาวะเรดโอเชี่ยนมาตลอด”

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน

ปั้น Own Project สร้างรายได้ประจำ

กลยุทธ์การเติบโตของอินเด็กซ์ฯ คือ การสร้าง “บลูโอเชี่ยน” ในตลาดใหม่ๆ ปัจจุบันจัดโครงสร้างเป็น 3 ธุรกิจ คือ 1.ครีเอทีฟ บิสสิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ สัดส่วน 15.7% 2.มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส สัดส่วน 79.4% และ 3.กลุ่ม Own Project สัดส่วน 4.9%

กลุ่มที่มองว่าเป็นตลาดบลูโอเชี่ยน คือ Own Project ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยสร้างโปรเจกต์จัดงานประจำปีทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันมี 4 งานประเภท “เทรดแฟร์” แบบ B2B ประจำปี ที่กัมพูชาและเมียนมา คืองาน Build & Decor และงาน FoodBev ที่เมียนมา จัดเป็นปีที่ 6 งาน Retail Sourcing ที่เมียนมา จัดเป็นปีที่ 4 และงาน Architech & Decor ที่กัมพูชา จัดเป็นปีที่ 4  แต่ละปีมียอดผู้เข้าชมงานและออกบูทเพิ่มขึ้น

งาน กิโลรัน (KILORUN) เริ่มจัดปี 2018 งานวิ่งรูปแบบใหม่ “วิ่ง กิน เที่ยว” เส้นทางเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (The Iconic City) อีกด้วย โดยจัดเป็นรูปแบบ Asian Lifestyle Journey ปีละ 4 เมือง ปีนี้ที่ ฮานอย กรุงเทพฯ (เยาวราช) และเหลืออีก 2 เมือง ในวันที่ 22 ต.ค. ที่เชียงราย และวันที่ 15 ธ.ค. ที่ โอซาก้า ญี่ปุ่น ปี 2020 ยังเป็น 3 ประเทศเหมือนเดิม ในไทย คาดว่าจะเป็น ภูเก็ต

ภาพจากเฟซบุ๊ก index creative village

ในประเทศไทยยังมีงานเทรดแฟร์ด้านความงาม Bangkok Beauty Show ปีนี้จัดเป็นที่ 2 ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ค. 2562 ที่ประชุมไบเทค บางนา ปีหน้าจะนำงานเทรดแฟร์ Beauty Show ไปจัดที่กัมพูชาและเมียนมาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการ “ครีเอต ดีมานด์” ในตลาดที่มีโอกาส ปัจจุบันกลุ่มสินค้าความงามทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศต่างมองโอกาสเข้าไปทำตลาดในประเภทเพื่อนบ้านที่กำลังซื้อมีแนวโน้มขยายตัวสูง

อีก Own Project รูปแบบไลฟ์สไตล์ คือ วัดร่องขุ่นไลท์เฟส (Wat Rong Khun Light Fest) จังหวัดเชียงราย วันที่ 22 พ.ย. – 22 ธ.ค. 2562 การแสดงโชว์มัลติ-มีเดีย

ลุยอีเวนต์ต่างประเทศเจาะตะวันออกกลาง

ในกลุ่มธุรกิจอีเวนต์ที่ถือเป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่สุดของอินเด็กซ์ฯ สัดส่วน 79% งานบิ๊กอีเวนต์กลุ่มภาครัฐ ที่ได้มาแล้วคือ การสร้างไทย พาวิลเลียน ในงาน “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020” ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 20 ต.ค. 2563 – 10 เม.ย. 2564

นอกจากนี้ยังคว้างานใหญ่ จัดอีเวนต์งานวันกองทัพกาตาร์ ประเทศกาตาร์ เป็นการจัดงานวันเดียวมูลค่างานกว่า 120 ล้านบาท โดยจะจัดในเดือนพ.ย.นี้ โดยแข่งขันชนะบริษัทระดับโลกกว่า 10 ประเทศ จากยุโรป ปัจจุบันมีแบ็กล็อกราว 400 ล้านบาท

หลังจากนี้จะเข้าไปแข่งขันชิงงานอีเวนต์อื่นๆ ในกลุ่มตะวันออกกลางอีก เพราะเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายสูง และไอเดียสร้างสรรค์จากไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ปีนี้ อินเด็กซ์ฯ วางเป้าหมายรายได้รวม 1,800 ล้านบาท

จุดพลุจัด “เวิลด์ อีเวนต์”

เกรียงไกร มองว่าแนวทางผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโต ภาครัฐควรมองโอกาสจากการเป็นเจ้าภาพจัด “เวิลด์ อีเวนต์” ระดับโลก โดยเฉพาะงาน “เวิลด์ เอ็กซ์โป”  ซึ่งมีระยะเวลาจัดงาน 6 เดือน สามารถดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก หลังจากจบงานสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ยังใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีก ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ หอไอเฟล ที่สร้างขึ้นในปี 1889 จากการเป็นเจ้าภาพจัดงานของ ฝรั่งเศส

หลังจากนี้จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอภาครัฐเพื่อเข้าร่วมแข่งขันจัดงานเวิลด์อีเวนต์ โดยจังหวัดภูเก็ต สนใจที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน เวิลด์ เอ็กซ์โป ปี 2027 หรือ 2028 นอกจากนี้ยังมีงานที่น่าสนใจ เช่น พืชสวนโลก ปัจจุบันกำลังเตรียมงานแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน ฟีฟ่า ยู-20 เวิลด์คัพ 2021 (FIFA U-20 World Cup).