“อินเด็กซ์ฯ” ฮึดสู้พายุไวรัสปี’65 วางเป้าฟื้น 60% ใช้กลยุทธ์ปั้น “อีเวนต์” เอง ลดพึ่งพิงงานลูกค้า

  • อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ สรุปผล ปี 2564 ทำรายได้ 580 ล้านบาท เติบโต 33% แม้ภาพรวมธุรกิจ “อีเวนต์” จะดิ่งลงต่อเนื่องจากปี 2563
  • เชื่อปี 2565 ตลาดอีเวนต์ฟื้นตัว วางเป้าหมายปีนี้รายได้เติบโต 60% กลับมายืนที่กว่า 900 ล้านบาท โดยจะเป็นปีเก็บเกี่ยวจากการลงทุนงานแบบ ‘Own Project’ หลังพัฒนาโครงการซิกเนเจอร์ของตนเองตั้งแต่ปีก่อน พร้อมเพิ่มงานใหม่ๆ ร่วมกับพาร์ตเนอร์
  • “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” มองการจัดการรัฐบาลและ ศบค. ควรผ่อนคลายมาตรการมากกว่านี้เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ และสื่อสารให้ประชาชนไม่ตื่นกลัวจนเกินไป

“เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทด้านครีเอทีฟ อีเวนต์รายใหญ่ของไทย เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดของบริษัทและธุรกิจ “อีเวนต์” ไทย

โดยปี 2564 ที่ผ่านมามองว่าเป็นปีที่ “หนักที่สุด” ตั้งแต่เกิดโรคระบาด เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ยาวนานในช่วงการระบาดรอบที่ 3 ทำให้มูลค่าตลาดอีเวนต์ไทยลดลงไปเหลือประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับช่วงก่อนการระบาดที่เคยมีมูลค่าสูงถึงปีละ 14,000-15,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อินเด็กซ์ฯ มีการปรับตัวตามกลยุทธ์ใหม่ ทำให้สามารถฟื้นตัวได้ โดยปิดรายได้ไปที่ 580 ล้านบาท เติบโต 33% เทียบกับปี 2563 ซึ่งดีกว่าสถานการณ์ตลาด

อีเวนต์ของ House of illumination เซ็นทรัลเวิลด์ จัดร่วมกับวง POLYCAT ช่วยดึงดูดคนเข้าชม

กลยุทธ์การเติบโตมาจากการปรับตัวไปจัดอีเวนต์ที่เป็น ‘Own Project’ มากขึ้น โดยเป็นโครงการที่สร้างสรรค์และลงทุนเองทั้งหมด และเก็บรายได้จากการเข้าชม ทำให้พอร์ตสมดุลและมั่นคงมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพิงงานจ้างจากลูกค้าเป็นหลัก สามารถตัดสินใจการเดินหน้าจัดต่อ เลื่อนการจัดงาน หรือยกเลิกงานเองได้ตามที่เห็นเหมาะสม

โครงการที่อินเด็กซ์ฯ จัดเองจนเป็น ‘ซิกเนเจอร์’ กลายเป็นแบรนด์งานที่จะไปต่อได้ทุกปี เมื่อปีก่อนมีการจัดทั้งหมด 6 งาน ขณะนี้มีผู้เข้าชมสะสมรวมทุกงานมากกว่า 100,000 คน ได้แก่

  • Village of illumination @Singha Park Chiang Rai เทศกาลประดับไฟฤดูหนาว
  • House of illumination งานศิลปะดิจิทัล จัดที่เซ็นทรัลแกลลอรี เซ็นทรัลเวิลด์
  • เมืองโบราณไลท์เฟส เทศกาลประดับไฟฤดูร้อนยามค่ำคืน
  • Forest of illumination at Kirimaya เขาใหญ่ เทศกาลประดับไฟและการแสดงแสง สี เสียง
  • เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ
  • Tha Maharaj illumination เทศกาลประดับไฟที่ท่ามหาราช
เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ (Photo: FB@เมืองโบราณ สมุทรปราการ)

เห็นได้ว่าซิกเนเจอร์ของอินเด็กซ์ฯ คือการจัดงานประดับไฟและศิลปะดิจิทัลจนติดตลาด โดยเล็งเห็นว่าผู้มาร่วมงานเกิดเทรนด์ FOMO-FOTO: Fear of Missing Out และต้องการถ่ายรูป ทำคอนเทนต์ตลอดเวลา ทำให้ประสบการณ์ในงานจะต้องได้รูปถ่ายสวยงาม มีคอนเทนต์สวยๆ ให้เล่า และเทรนด์เหล่านี้จะมีการขยายต่อในปีนี้

 

ปี 2565 บุกด้วย Own Project ต่อเนื่อง

เกรียงไกรกล่าวต่อถึงแผนปีนี้ว่า จะยังคงใช้กลยุทธ์ปั้น Own Project ต่อเนื่อง โดยมองว่า ปีที่แล้วเป็นการลงทุนและสร้างฐานแฟนคลับ ส่วนปีนี้จะได้เก็บเกี่ยวเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ทำให้วางแผนงานไว้แล้ว 20 โครงการตลอดปี ทั้งงานที่จัดอีกครั้งต่อเนื่องจากปีก่อน เช่น Kingdom of Lights งานแสงสีเสียงที่เมืองโบราณในค่ำคืนฤดูร้อน, งานเทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติเมืองโบราณ ซึ่งจะจัดในช่วงฤดูหนาว

งานวิ่ง Sub 1 กำลังจะเริ่มครั้งแรกเดือนมีนาคมนี้

และจะมีงานที่จัดขึ้นใหม่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ เช่น งานประกาศรางวัล Young Self-made Millionaire Awards จัดร่วมกับรายการอายุน้อยร้อยล้าน, งานแข่งขันวิ่ง V RUNNER แข่งวิ่ง 10 กม. ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งจะมี 3 ครั้ง ที่เมืองโบราณ และอีก 2 ครั้งอยู่ในภาคเหนือและภาคกลาง, งาน Wind Toy Fest อีเวนต์กับสนูปปี้และผองเพื่อน ที่จะจัดแบบในร่มกับศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลพัฒนา 6 แห่ง เป็นต้น

งานใหม่ Wind Toy Fest จัดร่วมกับ CPN

นอกจากนี้ อินเด็กซ์ฯ จะกลับมาจัดงานเทรดแฟร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น Bangkok Beauty Show 2022 ที่ไบเทค, Cambodia Architect & Décor, Cambodia Health and Beauty Expo, Cambodia Food Plus Expo ประเทศกัมพูชา

ทั้งหมดนี้คาดหวังว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมไม่ต่ำกว่า 200,000 คน และทำให้รายได้ส่วน Own Project ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้รวมบริษัท เทียบกับเมื่อปี 2562 (ก่อนโรคระบาด) มีสัดส่วนเพียง 6.2% และคาดว่า ปี 2565 นี้ บริษัทจะมีรายได้เติบโต 60% อยู่ที่ประมาณ 925 ล้านบาท

เทียบรายได้ อินเด็กซ์ฯ ปี 2562-2564 และคาดการณ์ผลประกอบการปี 2565

เกรียงไกรมองว่า การพัฒนา Own Project เองทำให้พอร์ตของบริษัทมั่นคงขึ้น เพราะท่ามกลางความไม่แน่นอนของโรค ทำให้งานกลุ่ม Marketing Service รับจัดอีเวนต์ให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นอีเวนต์การตลาด มักจะมีการยกเลิกหรือเลื่อนไปทันทีที่เกิดกระแสการระบาดใหม่ แต่งานที่บริษัทพัฒนาเอง สามารถตัดสินใจเองได้ว่ามีความคุ้มค่าและความปลอดภัยพอที่จะลงทุนและเดินหน้าต่อหรือไม่

 

วอนรัฐบาลหยุดสร้างความกังวล

สำหรับสถานการณ์โดยรวมปี 2565 เชื่อว่าธุรกิจอีเวนต์น่าจะกลับมามีมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท หากไวรัสโอมิครอนไม่สร้างผลร้ายแรงมากนัก โดยถือเป็นการกลับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังไม่กลับมาแบบเต็มที่

อย่างไรก็ตาม เกรียงไกรมองด้วยว่าการรับมือกับไวรัสโอมิครอนนั้นรัฐบาลและ ศบค. ควรจะปรับมาตรการและสื่อสารให้เป็นปัจจุบันมากกว่านี้ เนื่องจากประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วเกิน 70% ของประชากร และเริ่มทยอยเข้ารับบูสเตอร์โดสกันแล้ว ทำให้ความเสี่ยงลดลงมากจากก่อนหน้าที่จะมีวัคซีน เห็นได้จากยอดผู้เสียชีวิตที่ยังต่ำแม้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น

“เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)

“ศบค.ควรจะผ่อนคลายกฎระเบียบ เพราะกฎเดิมตั้งมาตั้งแต่ก่อนมีวัคซีนแล้ว เช่น การจัดอีเวนต์ให้มีผู้ร่วมงานไม่เกิน 500 คน โดยไม่ได้พิจารณาถึงขนาดสถานที่และลักษณะว่าเป็นแบบกลางแจ้งหรือในร่ม หรือระเบียบการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควรจะผ่อนผันให้ไม่ต้องมีการกักตัวทั้งหมด เพียงแค่นักท่องเที่ยวมีหลักฐานฉีดวัคซีนครบโดสและมีผล RT-PCR มาจากประเทศต้นทางแล้ว” เกรียงไกรกล่าว

“อีกเรื่องหนึ่งคือ ศบค. รวมถึงสื่อควรจะเลือกสื่อสารให้ประชาชนไม่หวาดกลัวไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมากเกินไป เพราะมีผู้เสียชีวิตต่ำ และประเทศไทยฉีดวัคซีนได้อัตราสูงแล้ว มีวัคซีนบูสเตอร์เพียงพอกับประชาชน อยากให้ ศบค. เน้นย้ำส่วนนี้มากกว่าย้ำเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันซึ่งทำให้ประชาชนตื่นกลัว”