กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบริการ Over-the-Top (OTT) โดยเฉพาะในฟากของบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเรียกว่า บริการ “วิดีโอ สตรีมมิ่ง” หรือแอปดูหนัง ซึ่งมีทั้งผู้เล่นจากต่างประเทศ และไทย ทั้งหน้าเก่าและรายใหม่เข้ามาในตลาด จนถูกคาดหมายว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีในอีกไม่ช้า ทำให้ กสทช. ต้องลุกขึ้นมากำหนดกติกาให้กับ OTT
ด้วยจุดเด่นในเรื่องความสะดวกในการรับชมจากอุปกรณ์ต่างๆ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องพีซี เกมคอนโซล เรียกว่าอยู่ที่ไหนก็รับชมได้ทุกที่ทุกเวลา และตามต้องการ (on demand) ขอให้เชื่อมอินเทอร์เน็ตได้เป็นพอ
แม้ว่าการให้บริการ OTT จะยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ง่ายขึ้น จากทั้งผู้ให้บริการมือถือและบรอดแบนด์ รวมทั้งยอดการใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี แถมอัตราค่าสมาชิกซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บในอัตรา 99 -119 บาทต่อเดือน และมีแนวโน้มที่ราคาค่าบริการจะลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้บริการนี้ได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
จากการวิเคราะห์ตลาด OTT ของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานอนุกรรมการ กำหนดกรอบการทำงานเกี่ยวกับ OTT ได้แบ่งกลุ่มผู้ให้บริการ OTT ในไทย มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ (ดูกราฟิก ผู้ให้บริการ OTT ในไทย)
มีทั้งผู้ให้บริการเพย์ทีวีเดิม เช่น พีเอสไอ และค่ายทรู ที่เพิ่มเติมบริการ OTT เพื่อไม่ตกเทรนด์ และผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่หันมาให้บริการ OTT เช่น เอไอเอส Play และสถานีทีวี ที่เพิ่มช่องทาง OTT เพื่อรองรับพฤติกรรมคนดูมัลติสกรีน
อีกกลุ่มที่ต้องจับตาคือ ผู้ให้บริการ OTT อิสระ มีทั้งค่ายของไทย คือ Hollywood TV, DOONEE, Primetime ส่วนต่างประเทศ คือ ยูทิวบ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ทีวี และ Netflix, iFlix
ในกลุ่มที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ คือ Facebook, YouToube, Line TV ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (DAAT) พบว่าผู้ให้บริการกลุ่มนี้ทำรายได้จากโฆษณา มูลค่าตลาดรวม 5,007 ล้านบาท โดยผู้ให้บริการทำรายได้สูงสุดในเวลานี้ คือ Facebook 2,842 ล้านบาท ตามมาด้วย YouTube 663 ล้านบาท) และ Line TV และผู้ประกอบการช่องโทรทัศน์ 502 ล้านบาท
จากการที่ Facebook ได้ประกาศแนวทางในการทำธุรกิจในรูปแบบเดียวกับ YouTube จะยิ่งทำให้การแข่งขันของผู้ให้บริการเหล่านี้เพิ่มดีกรีความคึกคักยิ่งขึ้น และส่งผลให้มูลค่าตลาดโฆษณาดิจิทัล วิดีโอ ในปี 2558-2559 เพิ่มสูงขึ้น 23% และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 4,502 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมรายได้ของ Facebook
ได้เวลากำกับดูแล
เมื่อตลาด OTT มีแนวโน้มเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ ด้วยหลายปัจจัย ทั้งพฤติกรรมคนดูมัลติสกรีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ การเติบโตสมาร์ทโฟน ความพร้อมของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งคอนเทนต์ใหม่ๆ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ที่ดาหน้าเข้าสู่ตลาด ทั้งช่องทีวี โทรคมนาคม รวมทั้งผู้ประกอบการอิสระที่มีบทบาทสูงมาก
ทำให้ กสทช. จึงต้องวางแนวทางในการกำกับดูแลกิจการ OTT ด้วยการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อร่วมกันพิจารณารายละอียดต่างๆ โดยมี พ.อ.นที เป็นประธานคณะอนุกรรมการ บอกถึงว่า เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันในทุกแพลตฟอร์ม และเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงต้องมีการพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลกิจการ OTT ส่วนรายละเอียดต่างๆ เช่น จะต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช.หรือไม่ จะต้องกำกับคอนเทนต์ด้วยหรือไม่นั้น จะต้องรอผลสรุปจากอนุกรรมการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน
เพราะประเด็นของ OTT ที่คนในวงการมองเห็นตรงกัน ทุกวันนี้ OTT มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการกำกับ ทั้งเรื่องของการเก็บภาษี การออกใบอนุญาต รวมถึงเนื้อหา ที่ต้องให้เกิดเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นการแพร่ภาพออกอากาศให้คนจำนวนมากได้รับชม
มาดูในฟากของผู้ประกอบการ OTT อิสระ หรือผู้ให้บริการดูหนังออนไลน์ ก็ออกมาเคลื่อนไหวทำตลาดกันอย่างคึกคัก
ฮอลลีวูด ทีวี เลี่ยงคอนเทนต์ชนผี เน้นการ์ตูน-ฮอลลีวูด
ฮอลลีวูด ทีวี ถือเป็นผู้บุกเบิกให้บริการดูหนังออนไลน์ หรือวิดีโอออนดีมานด์รายแรกๆ ในตลาดไทยมาได้ 3 ปีในไทย เพราะมองเห็นเทรนด์การเติบโตของธุรกิจนี้ โดยปัจจุบันมีสมาชิกแบบรายเดือน 150,000 ราย และรับชมหนังไปแล้วกว่า 20 ล้านครั้ง ในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกเป็น 3 แสนราย
โดยมีอยู่ในมือคิดเป็นจำนวนภาพยนตร์กว่า 4,000 เรื่อง จำนวนซีรีส์กว่า 438 ซีซัน (12,136 เอพิโสด) หรือรวมๆ แล้วกว่า 10,000 ชั่วโมง ครอบคลุมภาพยนตร์ฮอลลีวูด จีน เกาหลี อินเดีย ซีรีส์ต่างๆ
เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง คอนเทนต์ที่เป็นไฮไลต์ของฮอลลีวูด ทีวี คือ การ์ตูน หรือคอนเทนต์สำหรับเด็ก คิดเป็นสัดส่วน 40% ของคอนเทนต์ทั้งหมด ที่เหลือ 60% เป็นคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ ก็คือภาพยนตร์ และซีรีส์ต่างๆ กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นคนดูของฮอลลีวูด ทีวีจึงเป็นกลุ่มเด็ก และคอดูหนัง แต่กลุ่มคนที่เป็นสมาชิกที่จ่ายเงินจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป ที่ซื้อให้ตนเอง และลูกดู
พิรุฬห์ พิหเคนทร์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอลลีวูด มูฟวีส์ เอจี จำกัด เล่าถึงสาเหตุที่เน้นคอนเทนต์เด็กเพราะมองว่าเด็กมีเวลาดูคอนเทนต์ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ทำการบ้านเสร็จ หรือกลับจากโรงเรียนก็มีเวลาดู ยุคนี้เวลาออกไปทานข้าวนอกบ้านก็เห็นพ่อแม่ให้ลูกๆ ดูการ์ตูนกัน และอีกอย่างก็คือกลุ่มคนที่ซื้อเป็นพ่อแม่เด็ก ซื้อครั้งเดียวสามารถดูได้ทั้งบ้าน จะมีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ทั้ง 2 กลุ่มอยู่
ตลาดวิดีโอออนดีมานด์ในไทยเวลานี้ เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสนใจขึ้น แต่ผู้เล่นบางคนก็อยู่ยาว บางคนก็อยู่สั้น ต้องมีสายป่านยาวจริงๆ ต้องหาจุดยืนของตัวเองให้เจอ บางรายเน้นคอนเทนต์ด้านซีรีส์ บางรายเน้นด้านภาพยนตร์ แต่ละคนจะมีแต่ละมุมต่างไป ฮอลลีวูด ทีวีจึงต้องสรรหาคอนเทนต์แปลกๆ เพิ่มความน่าสนใจในตลาด
ส่วนคู่แข่ง นอกจากผู้ให้บริการเดียวกันแล้ว เว็บเถื่อนก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเพราะไม่มีต้นทุนอะไรเลย วิธีการของฮอลลีวูด ทีวีก็คือพยามหลีกเลี่ยงคอนเทนต์ที่เหมือนกับเว็บเถื่อน เพราะสู้เรื่องความเร็วไม่ได้ แต่บางคอนเทนต์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มีชนกันบ้าง
สำหรับค่าบริการของฮอลลีวูด ทีวีอยู่ที่เดือนละ 199 บาท ถือเป็นราคาในระดับกลาง เพราะผู้เล่นรายอื่นมีตั้งแต่ 100 บาท ไปจนถึง 420 บาท หลักการตั้งราคาเพราะมองว่าอยู่ในระดับ 200 บาท เป็นราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ถ้าตั้งถูกเกินไปก็มองว่าสินค้าไม่ดี แต่ถ้าแพงเกินไปก็ไม่สนใจ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ฮอลลีวูดได้ใช้งบลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท ในแต่ละปีจะใช้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ และเทคโนโลยีในปีนั้น และในปีนี้วางเงินลงทุนอีก 400 – 500 ล้านบาท เป็นการใช้งบลงทุนมากที่สุดเท่าที่ผ่านมา ลงทุนทั้งคอนเทนต์ และการผลิตอุปกรณ์ Hardware ภายใต้ชื่อ DOT ที่จะมาช่วยตอบโจทย์เรื่องการดูหนังบนจอทีวี เพราะมองเห็นเทรนด์การดูคอนเทนต์ผ่านหลายหน้าจอ บางคนชอบดูหน้าจอใหญ่ๆ และเป็นการขยายฐานผู้ชมด้วย
โดยการจับมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีจาก Silicon Valley สหรัฐอเมริกา ชื่อ eyeIO ซึ่งเป็นบริษัทด้านระบบ Streaming จะเข้ามาช่วยในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบีบอัดข้อมูล และอุปกรณ์สำหรับดูหนังบนจอทีวี โดยคาดว่าจะวางจำหน่าย DOT ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยราคาขาย ตั้งเป้ายอดขาย 1 แสนตัว
ในปี 2559 ที่ผ่านมา ฮอลลีวูด ทีวีมีรายได้ 500 ล้านบาท เติบโตกว่า 20% ปัจจุบันฮอลลีวูด ทีวีอยู่ในจุดคุ้มทุนแล้ว แต่มีการลงทุนต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้จะมีกำไร โดยยอดรายได้ส่วนใหญ่มาจากลูกค้าแบบสมาชิกรายเดือน และลูกค้าที่ซื้อหนังใน Store ในปีนี้หลังจากที่มีอุปกรณ์ DOT เข้ามา ตั้งเป้าการเติบโตอีกเท่าตัวหนึ่งเป็น 1,000 ล้านบาท
ส่วนกระแสข่าวที่ว่า กสทช.เตรียมควบคุมบริการ OTT ให้มีการขอใบอนุญาต พิรุฬห์ บอกว่า ผู้ประกอบการมีการพูดคุยกับทาง กสทช.อยู่ตลอด แต่ละเดือนจะมีการเรียกคุยแต่ละรายอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนตัวยินดีปฏิบัติตามกฎอยู่แล้ว ตอนนี้ยังเป็นการพูดคุยอย่างมีเหตุผลอยู่ ยังไม่มีการออกมาตรการโดยตรง ซึ่งอาจจะต้องรอดูคำสั่งจากทาง กสทช.อีกที
iflix สู้ดูหนังเถื่อนด้วยราคา 100 บาท
ส่วนค่าย iflix (ไอฟลิกซ์) เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 มา 2 ปีแล้ว ต่อจากมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ปัจจุบันขยายตลาดไป 10 ประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บรูไน มัลดีฟส์ ปากีสถาน เวียดนาม และเมียนมา เวลานี้ไทยได้กลายเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไอฟลิกซ์ทั่วโลก มีสมาชิก 1 ล้านราย จากสมาชิกรวม 5 ล้านราย ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่อินโดนีเซีย รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์
ถึงแม้ว่าในไทยจะมีสมาชิก 1 ล้านแล้ว แต่จำนวนแอ็กทีฟยังอยู่หลักแสน เพราะยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่นิยมดูหนังผ่านช่องทางผิดลิขสิทธิ์ทั้งทางเว็บไซต์และแผ่นผี กลายเป็นความท้าทายอย่างหนักของไอฟลิกซ์ กลยุทธ์หลักนอกจากเรื่องคอนเทนต์ที่มีภาพยนตร์ ซีรีส์แล้ว ไอฟลิกซ์จึงต้องลดค่าบริการลงมา 100 บาท เพื่อจูงใจ
อาทิมา สุรพงษ์ชัย หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในตลาดวิดีโอออนดีมานด์ตอนนี้ไม่ได้แข่งกับผู้ให้บริการด้วยกัน แต่ต้องแข่งกับเว็บเถื่อนละเมิดลิขสิทธิ์ ตลาดตรงนี้ใหญ่กว่าผู้เล่นที่ถูกลิขสิทธิ์รวมกันทั้งหมดอีก การที่จะต้องต่อสู้ต้องมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย และราคาคุ้มค่า ต้องทำให้ชนะเว็บเถื่อนให้ได้ ทำให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าจ่ายในราคาเท่านี้ก็ได้ดูหนังถูกลิขสิทธิ์แล้ว”
หลักการตั้งราคาค่าบริการเดือนละ 100 บาทของไอฟลิกซ์ จะอิงจากราคาแผ่นซีดีเถื่อน 1 แผ่น เลือกที่จะตั้งราคาให้ผู้บริโภคตัดสินใจง่าย แล้วสื่อสารง่ายๆ 100 บาทดูได้ทุกอย่างไม่อั้น ไม่มีจ่ายเพิ่ม ไม่มีโฆษณา โดยต้องทำทุกอย่างให้ง่ายที่สุด ให้เขาทดลองใช้ เพราะถ้าซับซ้อนผู้บริโภคจะไม่สนใจ ซึ่งราคา 100 บาท ถือว่าถูกที่สุดในตลาด รายอื่นๆ ราคาค่าบริการเฉลี่ย 199-450 บาท
เมื่อประเมินเรื่องการแข่งขันในตลาดของแอปดูหนังแล้ว อาทิมา บอกว่า การแข่งขันทุกรูปแบบทั้งคอนเทนต์ ราคา และประสบการณ์ของผู้ใช้ บางรายจะเน้นคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ บางรายเน้นคอนเทนต์เกาหลี จะขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าต้องการคอนเทนต์แบบไหน
คอนเทนต์ของไอฟลิกซ์จะเน้นกลุ่มแมส กลุ่มที่ยอดนิยมจะเป็นซีรีส์ฝรั่ง ซีรีส์เกาหลี หนังฝรั่ง และหนังไทย ตอนนี้มีปริมาณคอนเทนต์รวม 30,000 ชั่วโมง มีคอนเทนต์ พาร์ตเนอร์รวม 170 ราย ทั้งฮอลลีวูด และพาร์ตเนอร์ในไทย
กลยุทธ์ต่อไปในประเทศไทย จะพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้า พาร์ตเนอร์เป็นแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่นำไอฟลิกซ์เป็นสิทธิพิเศษให้ลูกค้าของแต่ละแบรนด์ ปัจจุบันได้ทำกับ ซัมซุง, ดีแทค, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์แล้ว กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จในหลายๆ ประเทศ อย่างอินโดนีเซียที่โอเปอเรเตอร์รายใหญ่อย่าง Indosat ได้ซื้อบริการไอฟลิกซ์ไปแจกลูกค้า ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น เมื่อลูกค้าได้ทดลองใช้ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้บริการต่อ
Original Content ยังไม่ใช่แนว
ส่วนการผลิตคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ เหมือนอย่างที่ไลน์ทีวีทำเพื่อเรียกฐานผู้ชม ของไอฟลิกซ์ก็มี Original Content ของตนเองอยู่เช่นกัน แต่กำลังเพิ่งเปิดกล้องและฉายที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีแผนลงทุนทำ แม้จะมีผู้ผลิตเข้ามาเสนออยู่เรื่อยๆ แต่ยังไม่มีรายถูกใจ ยังเชื่อมั่นว่าคอนเทนต์ที่มีอยู่โดนใจผู้บริโภคมากพอแล้ว
ถึงอย่างไรก็ตาม ไอฟลิกซ์ก็ยังมีข้อจำกัดหนึ่งที่ยังไม่สามารถสู้กับเว็บเถื่อนได้ก็คือ “ความเร็ว” หนังแต่ละเรื่องที่จะเข้ามาในระบบต้องใช้เวลาเฉลี่ย 12 เดือน ไม่ใช่หนังใหม่ที่เพิ่งออกโรง เพราะลิขสิทธิ์ที่ไอฟลิกซ์ได้เทียบเท่ากับลิขสิทธิ์แผ่นซีดีแบบมาสเตอร์ เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์อันดับสุดท้ายรองจากทีวีเคเบิล และโทรทัศน์ นอกจากคอนเทนต์ประเภทซีรีส์จะเข้าระบบเร็วแบบวันรุ่งขึ้นก็สามารถดูได้แล้ว
Netflix บุกตลาดด้วยซับไตเติล-พากย์ไทย
ที่ต้องจับตาคือ ค่ายยักษ์ใหญ่ ผู้ให้บริการวิดีโอ สตรีมมิ่ง อันดับ 1 อย่าง Netflix ที่มียอดสมาชิกทั่วโลก 100 ล้านคนใน 190 ประเทศ หลังจากให้บริการอย่างไม่เป็นทางการมาปีกว่า ก็ได้เปิดตัวเป็นทางการ ด้วยภาษาไทยทั้งซับไตเติล และพากย์ไทย เสร็จสรรพ เพื่อขยายฐานสมาชิกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
Netflix สร้างความแตกต่างด้วยเนื้อหาผลิตขึ้นเองทั้งหนังและซีรีส์ ทำให้มีเนื้อหาที่สร้างเองมากกว่า 400 เรื่อง ยาวรวมกันมากกว่า 1,000 ชั่วโมง โดยใช้งบลงทุนเนื้อหาไปแล้ว 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มารอบนี้ นอกจากเรื่องของภาษาไทยแล้ว คนไทยจะได้ดูซีรีส์ที่มีซับไทยพร้อมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยังเน้นเรื่องของความง่ายในการใช้งานจากการที่เป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตทีวี ทำให้สามารถใช้งานผ่านสมาร์ททีวีได้ทันที หรือจะเลือกใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ก็จะมีการเชื่อมต่อข้อมูลกันตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน ยังใช้ Machine Learning นำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการรับชมเพื่อนำเสนอภาพยนตร์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ใช้รายบุคคลมากขึ้น
รายได้หลักของ Netflix จะมาจากสมาชิกเพียงอย่างเดียว ไม่มีโฆษณามาคั่น โดยอัตราค่าบริการจะมี 3 แพ็กเกจ แพ็กเกจ 280 บาท/เดือน ดูได้ 1 เครื่อง แพ็กเกจ 350 บาท ดูได้พร้อมกัน 2 เครื่อง รองรับความคมชัดสูง Ultra HD 4K และ HDR และสูงสุดคือ 420 บาทต่อเดือน ดูได้พร้อมกัน 4 เครื่อง และรองรับ Ultra HD 4K และ HDR ซึ่งขณะนี้จะให้รับชมฟรี 1 เดือน
ผู้บริหารของ Netflix มองว่าตลาดเมืองไทยน่าสนใจ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังดูผ่านทีวีเป็นหลักถึง 40% และรับชมผ่านสมาร์ทโฟน 15% สอดคล้องกับผู้ใช้ทั่วโลกที่ดูผ่านทีวีเป็นหลัก ประมาณ 65% และที่เหลืออจะดูผ่านอุปกรณ์อื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยจะดูผ่านอุปกรณ์ 3-5 ชนิด ขึ้นอยู่กับว่ารับชมช่วงเวลาใด
การทำตลาดเวลานี้ ยังไม่เน้นเรื่องของผลกำไร แต่จะมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์ในการับชมให้ผู้บริโภคชาวไทย ด้วยความหลากหลายของภาพยนตร์และซีรีส์ ที่ทั้งผลิตเอง และซื้อลิขสิทธิ์มาจากผู้ผลิตหนังค่ายต่างๆ โดยจะเน้นตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล
เรียกว่าเวลานี้ บริการ OTT หรือ วิดีโอ สตรีมมิ่ง กำลังร้อนแรงไปทั้งตลาด ทั้งฟากของผู้ให้บริการ และหน่วยงานรัฐ ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่นานเกินรอ ได้รู้กัน