ดูประเทศเกาหลีส่งออกสินค้าวัฒนธรรม “ละครและภาพยนตร์” เป็นล่ำเป็นสัน กลายเป็น “โมเดลแห่งความสำเร็จ” มาแล้ว ถึงคราวเมืองไทยต้องรวมพลังธุรกิจบันเทิง จัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย 2551 หรือ Thailand Entertainment Expo 2008 จัดที่สยามพารากอน ช่วง 24 – 28 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์เป็นแม่งาน
นับเป็นเวทีของธุรกิจบันเทิงอย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทย พุ่งเป้าไปที่นักธุรกิจ ผู้ซื้อ ผู้ลงทุน องค์กรในแวดวงบันเทิงและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่าหมื่นราย เรียกได้ว่าจับมือคู่ค้าโดยตรง จัดให้มีวันเจรจาธุรกิจโดยเฉพาะ 2 วัน
ผสมผสานไปด้วยสีสันการแสดงบนเวทีและการสัมมนาร่วมกับพันธมิตรต่างชาติแสดงถึงความ “อินเตอร์” โดยรวบรวมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นวงการภาพยนตร์ ดนตรี ทั้งภาคการผลิตและบริการ เช่น บริษัทในเครือสหมงคลฟิล์ม, แกรมมี่ฯ, กันตนา หรือแม้แต่เคเบิลทีวีไทยก็มา ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ รวมทั้งสิ้นเกือบ 100 แห่ง
แสดงให้เห็นถึงความพยายาม “ส่งออกวัฒนธรรม บันเทิงและท่องเที่ยว” ของไทย ซึ่งมี “ภาพยนตร์” เป็นธงนำ เพราะหนังไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก และมูลค่าตลาดสูงกว่าภาคบันเทิงอื่นๆ และที่ผ่านมาไทยก็มีเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ (Bangkok International Film Festival 08) ที่สร้างชื่อมาแล้ว
นอกเหนือจากภาพยนตร์ไทยแล้ว โลเกชั่นของเมืองไทยยังถูกใช้เป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดผู้สร้างจากต่างประเทศ ให้กันมาใช้บริการจากเมืองไทย ซึ่งมีข้อได้เปรียบของไทยด้านสถานที่ (Location) และวิถีชีวิต (Lifestyle) หลากหลายรูปแบบ มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Culture) ด้านค่าบริการและแรงงานถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ ทำให้ปัจจุบันฮอลลีวู้ดหรือแม้แต่ประเทศคู่แข่งเองนิยมมาถ่ายทำและใช้บริการหลังผลิต (Post Production) ในเมืองไทย
ราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก จึงเชื่อมั่นว่างานนี้จะช่วยขับเคลื่อน “การส่งออก” และ “การลงทุน” ต่อยอดให้ธุรกิจบันเทิงไทยสดใสและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง “เพราะฝีมือคนไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาพยนตร์ ไม่ว่าจะก่อนผลิตและผลิต เช่น การใช้สถานที่ถ่ายทำ หรือจะหลังผลิต เช่นตัดต่อ คอมพิวเตอร์กราฟิก แอนิเมชั่น ขาดก็แต่การโปรโมตเท่านั้น”
ทั้งนี้ ธุรกิจบันเทิงไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 140,000 ล้านบาท ในปี 2550 โดยเชื่อว่างานนี้จะช่วยหนุนให้เติบโตได้อีก 20% ในปีนี้ หรือ 160,000 ล้านบาท
รายได้ธุรกิจภาพยนตร์ไทย (รวมในประเทศและส่งออก) หน่วย : ล้านบาท
ประเภทธุรกิจ 2550 2549 2548 2547
ก่อนถ่ายทำ 2,116.2 1,923.8 1,212 1,216
ถ่ายทำ 3,388 3,080 1,940 1,182
หลังถ่ายทำ 6,195 5,632 3,611 4,609
การตลาด 5,038 4,508 4,980 3,780
การฉายในโรงภาพยนตร์ 4,972 4,520 4,643.7 4,500
วิดีโอ, วีซีดี, ดีวีดี 8,690 7,900 11,840 15,100
หนังต่างชาติมาถ่ายทำในไทย 10,589.5 9,626.8 5,838 5,907
รวม 40,988.7 37,262.6 34,064.7 36,294
Did you know?
ประเทศไทยมีการงดเก็บภาษี หรือ Tax Refund สำหรับกองถ่ายต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้ต่างชาติใช้บริการในไทยมากขึ้น