เพียง 2 วัน หลัง “ธนาคาร ฟอร์ติส” แบงก์รายใหญ่แถบ “ยูโรโซน” ล้มคว่ำหัวคะมำ “กลุ่มเมืองไทย” อันประกอบด้วย เมืองไทยประกันชีวิต และ บมจ.เมืองไทยประกันภัย ก็เจอกับบททดสอบ น่าท้าทายของ “ซับไพรม์” ที่กำลังคุกคามไปทั่ว “ยุโรป”
กลุ่มเมืองไทย จึงเป็นธุรกิจประกันชีวิตรายที่สองที่ “โดนลูกหลง” ไปกับงานนี้แบบช็อกความรู้สึกไม่น้อย หลังจากพี่เบิ้ม เอไอเอ เจอเข้าไปเสียน่วม เพราะผู้ถือกรมธรรม์เกิดขวัญหนีดีฝ่อ…
หากเทียบกันธนาคารฟอร์ติส สัญชาติเนเธอร์แลนด์ และเบลเยียมอาจจะมีชื่อเสียงโด่งดังไม่ติดปากเหมือนกับ AIG
แต่ในโซนยุโรป ฟอร์ติสก็ไม่น้อยหน้าใคร เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน แบงก์แห่งนี้ก็ได้เสนอตัวเข้าซื้อกิจการของ ธนาคาร เอบีเอ็น แอมโร โฮลดิ้ง เอ็นวี คู่แข่งสัญชาติเดียวกันมาแล้ว
ดังนั้นฟอร์ติสจึงไม่ใช่ “ธนาคาร โน บอดี้” ที่ไม่มีใครรู้จัก…
แต่แล้ว ฟอร์ติสก็โด่งดังขึ้นมาชั่วข้ามคืน เพียงแต่เป็นข่าวด้านลบ เพราะปัญหาสภาพคล่องขาดแคลน
หุ้นในตลาดหุ้นเบลเยียมโซซัดโซเซ ร่วงรูดถึง 35% จากนักลงทุนวิตกว่า การระดมทุน 2.42 หมื่นล้านยูโร เพื่อซื้อเอบีเอ็นแอมโรจะไม่สำเร็จ และมูลค่าสินเชื่อก็กำลังปักหัวดิ่งนรก
เท่านั้นเอง ธนาคารฟอร์ติสก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ เพื่อให้รัฐบาล 3 ประเทศกลุ่มเบเนลักซ์ เข้ากอบกู้กิจการ
การล้มหน้าคว่ำของแบงก์ฟอร์ติสในเช้าวันอาทิตย์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งแรงกระเพื่อมข้ามเขต “ยูโรโซน” มายัง “ไทยแลนด์โซน”
แทบทุกฝ่าย มุ่งความสนใจมาที่กลุ่ม เมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น เมืองไทยประกันชีวิต และบมจ.เมืองไทยประกันภัย เพราะเป็นพันธมิตรธุรกิจที่ถือหุ้นกว่า 25% และ 10 กว่า% ตามลำดับ
สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต ต้องเปิดห้องแถลงข่าวร้อนในช่วงเช้าในอีกวัน เพราะสังคมเริ่มตั้งโจทย์กับเพลิงไหม้จากอีกฝั่งของโลก ที่กำลังแผดเผาธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งความเชื่อมั่นกำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ
แม้หลังเกิดเหตุผ่านมาได้ 2 สัปดาห์ เอไอเอ ที่ถูกถล่มก่อนหน้านี้ ก็ยังดับไฟแห่งความเชื่อมั่นลงไม่ได้ ยังมีเปลวควันไฟคุกรุ่นอยู่ เอไอเอต้องทำทุกวิถีทางให้ลูกค้าลดอาการแตกตื่น และถือกรมธรรม์ไว้เช่นเดิม
ขณะที่เมืองไทยประกันชีวิต และบมจ.เมืองไทยประกัน อาจจะต่างออกไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะสถานภาพของบริษัท เอไอเอ เป็นสาขาบริษัทแม่ฮ่องกง ส่วนเมืองไทย กรุ๊ป เป็นธุรกิจคนไทย ที่มีกลุ่มฟอร์ติสเข้ามาร่วมถือหุ้น สมัยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งกำลังทุเลาลง
สิ่งที่หลายคนยังสงสัยคือ กรณีของ เอไอจี และฟอร์ติสจะลดทอนความเชื่อมั่นต่อภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตหรือไม่…
“ปัญหาที่เกิดกับฟอร์ติส ในต่างประเทศ ไม่ส่งผลกระทบกับเมืองไทยประกันชีวิตและเมืองไทยประกันภัย เพราะเราไม่ได้เป็นบริษัทลูกใคร เราบริหารงานเป็นอิสระและยืนได้ด้วยตนเอง”
…สาระย้ำความแตกต่างใน 2 กรณี ถึงแม้จะประสบชะตากรรมจาก “ซับไพรม์นรก” ในคราวเดียวกัน
สาระยืนยันว่า ทำหน้าที่ถ่ายเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเมืองไทย และการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะสินค้าใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในตลาดปลายปีนี้หรืออาจจะต้นปีหน้าอย่าง “ยูนิต ลิงค์”
ดังนั้น บทบาทของฟอร์ติสก็คงไม่ต่างจากคู่สมรส ที่สามารถเลิกรากันได้ ถ้าทั้งสองรายตกลงกันได้…
สำคัญกว่านั้น คือ ถ้าฟอร์ติสต้องการขายหุ้นเพื่อนำเงินสดไปอัดฉีดสภาพคล่องให้กับธนาคารแม่ในเบลเยียม ก็จะต้องสอบถามกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมในกลุ่มล่ำซำและแบงก์กสิกรไทยก่อนเป็นอันดับแรก”
“เราพร้อมซื้อคืนอยู่แล้ว”…สาระบอกแบบไม่ต้องฉุกคิดแม้แต่น้อย
ในวัย 58 ปี เมืองไทยประกันชีวิตมีทรัพย์สินรวม สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 52,639 ล้านบาท มีสินทรัพย์ลงทุน 48,890 ล้านบาท มีเงินสำรอง 44,330 ล้านบาท มีเงินกองทุน 5,487 ล้านบาท
ผลประกอบการ 8 เดือน มีเบี้ยรับรวม 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นเบี้ยรับปีแรก 4,408 ล้านบาท และเบี้ยปีต่ออายุ 6,787 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 795 ล้านบาท
สาระย้ำอยู่เสมอว่า ธุรกิจประกันชีวิต มีการกำกับดูแลที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม และมีกรอบ กฎ กติกา ที่รัดกุม จึงไม่ง่ายที่จะอุตสาหกรรมประกันชีวิตจะล้มเหมือนกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ
นอกจากนั้น ก็ยังไม่มีบทบันทึกในประวัติศาสตร์ด้วยว่า มีธุรกิจประกันชีวิตเคยบาดเจ็บ ล้มตายในเมืองไทยมาก่อน…
เหมือนกับที่เคยบอกกับใครต่อใครว่า การล้มนั้นไม่ง่าย แต่การจะม้วนเสื่อกลับบ้าน อาจทำได้ ไม่ว่าบริษัทนั้นจะอยู่ในฐานะพันธมิตรถือหุ้น หรือ สาขาบริษัทแม่ในต่างประเทศ
เพราะในที่สุดธุรกิจเดิมก็จะดำเนินต่อไป เพียงแต่มีการเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหม่ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน …
กรณีของฟอร์ติส จึงทำให้หลายคนได้แต่ตกตะลึง และกำลังเฝ้าดูว่า ต่อจากฟอร์ติสแล้ว ใครจะเป็นรายต่อไป…