ยอดจับจ่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคยังไม่กระเตื้อง แถมยังตกต่ำอย่างหนัก จากการเปิดเผย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ในงานสัมมนา “Digital Content Rating and Innovations Roadmap” ได้ระบุถึงยอดการจับจ่ายสินค้า FMCG ที่ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญอย่างหนึ่งที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ และแนวโน้มของใช้งบโฆษณา ที่ดูแล้วน่าหวั่นใจไม่น้อยสำหรับคนทำธุรกิจ
สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า แต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่ปี 2010 สินค้า FMCG จะมียอดใช้จ่าย (Volume) เติบโตเฉลี่ย 6-8% ทุกปี แต่มาในปี 2015 ยอดเติบโตลดลง คือ โตแค่ 3.5% พอปี 2016 ติดลบ 0.4% ตัวเลขล่าสุดช่วงต้นปี 2017 (มกราคม – เมษายน 2017) ยอดติดลบถึง -6%
เมื่อรายละเอียดพบว่า สาเหตุที่ภาพรวม FMCG กระทบหนัก เพราะอุตสาหกรรมต่างติดลบกันถ้วนหน้า เครื่องดื่ม เช่น ชาเขียว น้ำดื่ม ติดลบ -4.2%, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ติดลบ -8.2% เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน -1.3% อาหาร ข้าวสาร น้ำปลา –2.2% เพอร์ซัลแนล แคร์ -0.5% ยกเว้นสินค้า impulse สินค้าขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง เติบโตขึ้น + 2.7% เนื่องจากผู้ผลิตสินค้ามีการออกสินค้าใหม่ๆ มาในตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย
นีลเส็น ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า เมื่อผู้ประกอบการต้องเจอกับภาวะยอดขายไม่ดี เศรษฐกิจซบเซา จะเลือกใช้จ่ายงบเพื่อกระตุ้นยอดขาย 2 วิธี คือ 1) เทรดโปรโมขั่น เช่น การร่วมกับห้างสรรพสินค้า ทำโปรโมชั่น ลดราคา และถ้าเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้ส่วนลดแก่ดีลเลอร์ ซึ่งการใช้งบในส่วนนี้เยอะมาก เพราะเห็นผลในเรื่องยอดขายชัดเจน 2) การใช้งบซื้อสื่อโฆษณาเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่การใช้งบในส่วนนี้ลดลง เพราะยังขาดความมั่นใจในเรื่องการวัดผล โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลที่ยังขาดการวัดผลที่ชัดเจนไม่เหมือนกับทีวี แม้ว่าเจ้าของสินค้าอยากจะลงทุนใช้จ่ายเพื่อซื้อสื่อก็ตาม แต่เมื่อไม่มีตัวชี้วัด จึงเกิดความไม่แน่ใจในการซื้อสื่อ ทำให้ยอดใช้จ่ายลดลงต่อเนื่อง
เมื่อดูภาพรวมการใช้งบโฆษณาภายใต้ธุรกิจ FMCG มีการใช้จ่ายลดลงต่อเนื่อง เช่น Food & Beverage ปี 2015 ยอดใช้จ่าย 8,700 ล้านบาท ปี 2016 ยอดใช้จ่าย 8,500 ปี 2017 ยอดใช้จ่ายเหลือ 7,700 ล้านบาท
ส่วนรถยนต์ ปี 2015 ใช้ 3,600 ล้านบาท ปี 2016 ใช้ 3,800 ล้านบาท ปี 2017 ใช้ 3,500
แม้แต่งบซื่้อสื่อของรัฐบาลลดลงต่อเนื่อง ปี 2015 ใช้ 1,900 ล้านบาท ปี 2016 ใช้ 1,899 ล้านบาท ปี 2017 ใช้ 1,500 ล้านบาท รวมทั้งงบโฆษณาของสินค้าภายในบ้านลดลงด้วยเช่นกัน ปี 2015 ใช้จ่ายอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท ปี 2016 ใช้ 1,899 ล้านบาท ปี 2017 ใช้ 1,700 ล้านบาท
นีลเส็น เชื่อว่า การนำเครื่องมือวัดผล เรตติ้งสื่อดิจิทัล หรือ Digital Content Ratings มาใช้ในไทย ซึ่งเริ่มใช้ใน 3 ช่องทีวี คือ ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ และไทยรัฐทีวี และผลจะออกมาเร็วๆ นี้ จะช่วยให้ผู้ซื้อสื่อโฆษณา (Advertisers) มีความมั่นใจในการใช้จ่ายงบโฆษณามากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สื่อดิจิทัล ซึ่งทุกอุตสาหกรรมให้ความสนใจ จะทำให้ภาพรวมดีขึ้นได้