หลังจากที่มีมหากาพย์ดราม่าเรื่องการซื้อหุ้น “อะเดย์” หรือ เดย์ โพเอ็ท ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนได้มีการสืบสาวราวเรื่องกันไปต่างๆ นานา ทำให้มีกระแสด้านลบเกี่ยวกับ “วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” จนถึงขั้นตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่ตนเองปั้นขึ้นมากว่า 17 ปี ปิดฉากโหน่งอะเดย์เป็นที่เรียบร้อย
ไม่นานนักวงศ์ทนงได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ บริษัท เดอะ แสตนดาร์ด จำกัด ปั้นสำนักข่าวออนไลน์ขึ้นมาใหม่หลังจากที่ออกจากอะเดย์ ได้ฟอร์มทีมจากลูกหม้ออะเดย์เก่าที่ร่วมงานกันมา มีคณะบรรณาธิการทั้งหมด 7 คน ได้แก่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (โหน่ง), นิติพัฒน์ สุขสวย (ปิงปอง), นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (เคน), เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ (จิมมี่), ภูมิชาย บุญสินสุข (บิ๊กบุญ), วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม (ตุ๊ก) และ ยศยอด คลังสมบัติ (โจ)
โปรเจกต์นี้ถือว่าสร้างขึ้นมาชนกับบริษัทเดิมเลยก็ว่าได้ เพราะครอบคลุมทั้งสื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ ในอนาคตอาจจะมีอีเวนต์เพิ่มเติม
มาทำความรู้จักเดอะ แสตนดาร์ดให้มากขึ้น
1. บริษัท เดอะ แสตนดาร์ด จำกัด ใช้ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้นเป็น วินิจ เลิศรัตนชัย 45% วงศ์ทนง (โหน่ง) 25% นิติพัฒน์ สุขสวย (ปิงปอง) 20% และกลุ่มบริษัท เดย์อาฟเตอร์เดย์ (ผู้ร่วมลงขันอะเดย์เดิม 80% ที่มีราว 300 คน ขอขายหุ้นคืน 10%) 10% ปัจจุบันได้ลงทุนสร้างออฟฟิศย่านซอยศูนย์วิจัย ถนนพระรามเก้าไปแล้ว 10 ล้านบาท
2. วงศ์ทนงได้หานายทุนมาร่วมลงขันในโปรเจกต์นี้ ได้พูดคุยกับบริษัทใหญ่ 2-3 แห่ง และ “วินิจ เลิศรัตนชัย” อดีตนักจัดรายการวิทยุ ทางวงศ์ทนงได้รู้จักมา 10 ปี ได้ใช้เวลาคุยราว 15 นาที วินิจก็ร่วมโปรเจกต์ด้วย โดยที่มีเงื่อนไขว่า ต้องวงศ์ทนง และนิติพัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย แต่ทางวินิจเป็นผู้ออกเงินส่วนใหญ่
3. วางจุดยืนเป็นสำนักข่าวออนไลน์เปิดตัวในวันนี้ 5 มิถุนายน 2560 จากนั้นในเดือนกรกฎาคมจะมีนิตยสารเดอะแสตนดาร์ด เป็นนิตยสารแจกฟรี เน้นตามรถไฟฟ้าบีทีเอส และจะมี Podcast สื่อรายการวิทยุออนไลน์เพิ่มเติมในเดือนสิงหาคมและพ็อกเก็ตบุ๊กตามออกมา
4. สาเหตุที่ใช้ชื่อว่าเดอะแสตนดาร์ด เพราะต้องการตั้งมาตรฐานให้กับตัวเองในการทำสื่อ
5. มีทีมงานรวม 80 คน เป็นพนักงานประจำทั้งหมด มีทีมงานที่ย้ายมาจากอะเดย์ 40-50 คน และหาใหม่เพิ่ม 30 คน วงศ์ทนงบอกว่าเป็นขนาดที่พอเหมาะแล้ว ไม่อยากให้ใหญ่ไปเท่ากับอะเดย์ที่มี 160 คน แต่จำชื่อกันได้ไม่หมด
6. ตอนนี้มีคอลัมนิสต์เขียนคอนเทนต์ให้ 40 คน แต่ได้เกิดดราม่าเพราะมี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นคอลัมนิสต์ในส่วนของไลฟ์สไตล์ กีฬา ทำให้หลายคนไม่พอใจ เพราะรู้สึกไม่เป็นกลาง ซึ่งทางวงศ์ทนงบอกว่าได้ระงับคอลัมน์นี้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีการรับน้องเกิดขึ้นในเฟซบุ๊ก มีการเข้าไปรีวิวเพจ พร้อมให้ 1 ดาวกันกระหน่ำ
7. หลักการเลือกคอลัมนิสต์ในการเขียนคอนเทนต์ เริ่มจากมีคอนเน็กชั่นส่วนตัว และมองที่ทัศนคติของแต่ละคน ต้องการให้มีความหลากหลายมากที่สุด
8. สัดส่วนคอนเทนต์ แบ่งเป็น ข่าว 50% เป็นทั้งข่าวในประเทศ ต่างประเทศ การเมือง อาชญากรรม เศรษฐกิจ เป็นต้น และ ไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม 50%
9. ความแตกต่างของเดอะแสตนดาร์ด เมื่อเทียบกับเดอะโมเมนตั้ม เว็บเดิมที่เคยปั้นขึ้นมา มีคอนเทนต์ข่าวมากขึ้น จากเดิมเน้นเรื่องไลฟ์สไตล์
10. วงศ์ทนงบอกว่าในอนาคตไม่มีการขายให้นายทุนใหญ่อีกแล้ว เพราะเข็ดจากเรื่องที่ผ่านมา บอกว่า “เป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตว่าอย่าปล่อยปะในการทำธุรกิจที่ให้ฝ่ายอื่นดูแลมากไป พอมาทำเดอะแสตนดาร์ดจึงทำให้ซับซ้อนน้อยที่สุด
11. รูปแบบการหารายได้ตอนนี้ยังมาจากโฆษณา 100% ในอนาคตอาจจะมีการทำอีเวนต์เพิ่ม
12. เป้าหมายของเดอะ แสตนดาร์ด วงศ์ทนงบอกว่าต้องการเป็น 1 ใน 3 ของสำนักข่าวที่คนเข้าไปอ่านทุกเช้า ต้องการเป็น News Agency ขายข่าวให้กับต่างประเทศด้วย