ช้าแต่ขอชัวร์! เอสซีจีตั้งกองทุน ลงทุนสตาร์ทอัพ

ธุรกิจสื่อสาร ก็มี “เทคสตาร์ทอัพ” แล้ว อสังหาริมทรัพย์ ก็ลงมาที่ “พร็อพเทค” คราวนี้เป็นคิวของ “เอสซีจี” ออกโรงตั้งเวนเจอร์เป็นของตัวเองกับเขาบ้างในชื่อ AddVentures เป็นรูปแบบ Corporate Venture Capital เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ และจุดประสงค์หลักก็เพื่อนำนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพมาต่อยอดธุรกิจ เพื่อเพิ่มสปีดในการเติบโตให้มากขึ้น

เป้าหมายของ AddVentures สนใจลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.Industrial หรือทุกๆ อย่างเกี่ยวของกับโรงงาน หุ่นยนต์ หรือการทำงานแบบประหยัดพลังงาน 2. Enterprise ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เรื่องอีคอมเมิร์ซ การวิเคราะห์ Omni channel ซอฟต์แวร์ AI AR/VR และ Blockchain และ 3. B2B เป็นสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น สินค้าก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง โลจิสติกส์ โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้สามารถนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมให้เอสซีจีต่อไป

รูปแบบการลงทุนจะเป็นทั้งการร่วมมือเชิงพาณิชย์ (Commercial Deal) ทั่วไป การอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การร่วมทุนไปจนถึงการเข้าซื้อกิจการในสตาร์ทอัพ ทางเอสซีจีมองว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว ไม่ได้มองถึงการคืนทุนภายในกี่ปี แต่มองว่านำมาต่อยอดธุรกิจมากกว่า

ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี เล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้โลกก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation แล้ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เป็นความท้าทายให้ทุกธุรกิจปรับตัว การที่เอสซีจีตั้ง AddVentures ก็เพื่อเสริมนวัตกรรมมาต่อยอดสินค้าและบริการให้ผู้บริโภค ซึ่งสตาร์ทอัพยุคนี้มีไอเดียใหม่ๆ ทำให้เติบโตไปด้วยกันได้

ถ้าถามว่าเอสซีจีมาลงตลาดนี้ช้าไปหรือไม่ เพราะมีแบรนด์อื่นลงมาสนับสนุนสตาร์ทอัพกันสักพักใหญ่แล้ว ยุทธนาบอกว่า เวนเจอร์ที่เห็นก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทเลคอม ฟินเทค หรืออสังหาริมทรัพย์ พวกนั้นเขาต้องรีบทำเพราะเทคโนโลยีเข้าไป Disrupt มีผลกระทบโดยตรง แต่ธุรกิจ Industrial ถือว่ายังไม่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เอสซีจีต้องรีบตื่นตัว จึงต้องทำเวนเจอร์เป็นของตัวเอง การที่ได้นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเข้ามาทำให้เพิ่มสปีดในการเติบโตได้ จากเดิมที่เอสซีจีมีพนักงาน 50,000 คน มีแค่ 50,000 ความคิด แต่ตอนนี้เปิดกว้างรับอีกหลายพันล้านความคิดจากคนทั่วโลก เป็น Outside-in innovation

ในการลงทุนของ AddVentures ได้เตรียมงบลงทุนไว้ 300-500 ล้านบาทต่อปี หรือ 2,000-3,000 ล้านบาท ใน 5 ปี วางแผนลงทุนเฉลี่ยครั้งละ 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งการลงทุนเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ลงทุนใน Digital Technology ในกลุ่ม Global Technology Hub เช่น Silicon Valley ในสหรัฐอเมริกา, Tel Aviv ในอิสราเอล และ Shenzhen ในประเทศจีน 2. ลงทุนใน Digital Business Model ในไทยและอาเซียนเป็นประเทศที่เอสซีจีทำตลาดอยู่ มีการลงทุนทั้งแบบผ่านกองทุน Venture Capital ต่างๆ และลงทุนกับสตาร์ทอัพโดยตรง

เป้าหมายของ AddVentures มีการลงทุนในสตาร์ทอัพ 2-3 รายในปีนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยว่าลงทุนในบริษัทประเภทไหน แต่มองว่าศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยเก่งขึ้นเรื่อยๆ และอีโคซิสเท็มของสตาร์ทอัพก็แข็งแกร่งขึ้น

ถือว่าการตั้งเวนเจอร์ของแบรนด์ใหญ่เข้ามาตอบโจทย์ทำให้วิน-วินทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวแบรนด์เองก็ได้นวัตกรรม ได้ไอเดียเข้าไปต่อยอดให้ธุรกิจไปเติบโต ตอบโจทย์ลูกค้า ทางด้านของสตาร์ทอัพเองก็ได้เวนเจอร์เข้ามาอุดข้อจำกัดในเรื่องเงินทุน และการทำตลาด ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จเข้าไปอีก